ต้องควักเงินร่วมแสนในสงครามโคลน หลังน้ำท่วมเชียงราย

ชุมชนธนารักษ์ ต.ริมกก จ.เชียงราย โอด สิ้นเนื้อประดาตัว! แถมยังต้องรับภาระจ้างรถเครื่องจักรเข้าเคลียร์โคลน-ขยะ หลังน้ำลด วันละกว่า 50,000 บาท มานานกว่าสัปดาห์ ความช่วยเหลือที่ต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือ รถดูดโคลน

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2567 The Active ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายบ้านธนารักษ์ กองทัพบก ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดริมน้ำกก จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านแทบทุกหลัง กำลังล้างโคลน ทำความสะอาดบ้าน

ร.ท. มานิตย์ สุวรรณทา ตัวแทนชุมชนธนารักษ์ กองทัพบก เล่าให้ฟังว่า ชุมชนนี้อยู่ริมแม่น้ำกก ซึ่งในวันที่แม่น้ำกกเอ่อล้นท่วมชุมชนในจุดที่สูงที่สุด 2 เมตร 19 เซนติเมตร จุดท่วมต่ำสุดประมาณ 1 เมตร 80 เซนติเมตร โดยไม่มีการแจ้งเตือนก่อน ทำให้แทบทุกหลังคาเรือน รวม 272 หลังครัวเรือน ข้าวของ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเสียหายทั้งหมด

แม้แต่บ้านของ ร.ท.มานิตย์ เอง กว่า 1 สัปดาห์ ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าบ้าน เขาและภรรยาต้องไปอาศัยนอนบ้านญาติที่น้ำไม่ท่วม วันนี้เพิ่งระดมลูกหลานเข้าล้างทำความสะอาดบ้าน ซึ่งข้าวของเสียหายหมด

ส่วนห้องที่ว่างเปล่าในบ้านของ ร.ท. มานิตย์ เขาบอกว่าเป็นพื้นที่เก็บชุดเครื่องเสียง ที่เป็นอาชีพเสริมของครอบครัว ลงทุนไปกว่า 200,000 บาท แต่ตอนนี้ไม่เหลือให้เห็นต่างหน้าสักชิ้น ลอยไปกับน้ำหมด เรียกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว

โคลน

ชาวบ้านคนอื่น ๆ ยังสะท้อนตรงกันว่า ชุมชนแห่งนี้ มักถูกมองข้ามการช่วยเหลือ เพราะถูกมองว่ามีฐานะ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นสูง สามารถแก้ปัญหากันเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อยากให้เข้าใจว่าภัยพิบัติไม่มีความเหลื่อมล้ำ กระทบทุกคน เสียหายหนัก รวยได้ก็จนได้ ต้องเริ่มต้นหาข้าวของเข้าบ้านกันใหม่ บ้านที่คนมองว่าใหญ่โต จริง ๆ แล้วก็รับภาระผ่อนชำระกันทั้งนั้น

และแม้ตอนนี้หน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด จะส่งเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเครื่องจักร และมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการจัดการโคลน และขยะ แต่สภาพที่เสียหายหนัก ทรัพยากรของรัฐในพื้นที่ที่มีจำกัด จึงไม่เพียงพอ

ตอนนี้ชุมชนต้องระดมเงิน เพื่อจ้างรถเครื่องจักร อย่างรถแบ็คโฮ วันละ 140,000 บาท รถขนดินวันละ 9 คัน คันละ 3,000 บาท รวม 27,000 บาท ค่าน้ำมัน และค่าจัดการอื่น ๆ รวมวันละกว่า 50,000 บาท นานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว

แม้ตอนนี้เริ่มเคลียร์ ล้างบ้านกันได้ แต่ดินโคลนที่ไหลจากบ้าน ไปอุดตันท่อ ทำให้ถนนยังเต็มไปด้วยโคลน จึงอยากให้มีรถดูดโคลนเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้

ทั้งนี้ คาดว่า จะแก้ปัญหานี้ในชุมชนได้ อาจต้องใช้เวลานานเกือบเดือน หากรัฐบาลช่วยจัดการหาเครื่องจักรมาเพิ่ม จะช่วยให้การแก้ปัญหาในชุมชนเร็วขึ้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active