ถ้าเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก สึนามิโคลนถล่ม เมื่อ 2 เดือนก่อน คือ ภัยพิบัติรุนแรงอีกครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงราย
การลุกขึ้นมาจับมือกันของผู้คนที่นั่น แล้วช่วยกันพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส ระดมความรู้ ภูมิปัญญา และศักยภาพที่มี ร่วมออกแบบ ฟื้นฟู รับมือภัยพิบัติ ก็นับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของพลังการมีส่วนร่วมครั้งสำคัญเช่นกัน
จาก ผู้ประสบภัย เปลี่ยนมาเป็น ผู้จัดการภัย ที่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหา เพื่อพลิกฟื้น คืนชีวิตใหม่ให้เร็วที่สุด จนนำมาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายเป็นต้นแบบการจัดการภัยพิบัติที่ยั่งยืน (Build Back Greener Chiang Rai)
เมื่อข้อเสนอที่ประชาชนช่วยกันคิดพร้อมแล้ว คงสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นถ้ารูปธรรมของการมีส่วนร่วมครั้งนี้ อยู่ในสายตาของรัฐบาล โดยเฉพาะในโอกาสที่ ครม.สัญจร มาถึง จ.เชียงใหม่-เชียงราย
The Active ชวนดู 7 เหตุผล เพื่อย้ำเตือนว่า ทำไม ? รัฐบาลต้องสนใจ และรับข้อเสนอเชิงนโยบาย “แผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายเป็นต้นแบบการจัดการภัยพิบัติที่ยั่งยืน”
1. เพราะเชียงราย เต็มไปด้วย ‘ความเสี่ยง’ ภัยพิบัติทุกรูปแบบ
แต่ละปีเชียงรายต้องเผชิญภัยพิบัติใหญ่ ทั้งปัญหาไฟป่า หมอกควัน ภัยแล้ง รวมถึงพายุฤดูร้อนตั้งแต่ช่วงต้นปี ก่อนจะต้องรับมือกับปัญหาอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มตลอดช่วงฤดูฝน ขณะเดียวกันก็ยังเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เพราะตั้งอยู่บนรอยเลื่อนมีพลังหลายจุด
2. น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ส.ค. – ก.ย. 67 สร้างความเสียหาย 3.3 พันล้านบาท
สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ และสึนามิโคลนครั้งล่าสุด เป็นภัยพิบัติรุนแรงสุดในรอบหลายสิบปี สร้างความเสียหายทุกมิติ ระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนที่เกิดภัยพิบัติ สำนักงานคลัง จังหวัดเชียงราย รวบรวมความเสียหาย ครอบคลุม 18 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 2.3 แสนคน โครงสร้างพื้นฐานเสียหายกว่า 1.7 พันล้านบาท และประเมินความเสียหายทั้งหมดมากถึง 3.3 พันล้านบาท
3. จัดการภัยพิบัติได้ เชียงรายก็ร่ำรวย
เชียงราย เป็นเมืองท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจชายแดน แต่เมื่อต้องตกอยู่ในวังวนภัยพิบัติใหญ่ มานานนับ 10 ปี ทำให้การพัฒนาและการเติบโตถูกบั่นทอน ถ้ามีระบบจัดการภัยพิบัติที่ดี จะทำให้เมืองปลอดภัย และสามารถเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
4. เสนอนโยบายจัดการภัยพิบัติครั้งประวัติศาสตร์ โดยรัฐ เอกชน ชุมชน ภาควิชาการ คนเชียงราย กว่า 50 องค์กร
เป็นครั้งแรกที่คนเชียงราย ระดมสมองจากทุกภาคส่วนทั้ง ผู้ประสบภัย ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาควิชาการ กว่า 150 คน จาก 50 องค์กร โดยใช้ นวัตกรรมเชิงนโยบาย เป็นเครื่องมือค้นหาเป้าหมาย และอนาคตร่วมกัน สรุปออกมาเป็นแผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน
5. คนเชียงราย ปรับบทบาทจาก ‘ผู้ประสบภัย’ เป็น ‘ผู้จัดการภัยพิบัติ’ ชุมชนเป็นศูนย์กลาง
คนเชียงรายไม่ยอมแพ้ และรอตั้งรับอีกต่อไป ปลุกพลัง พลิกบทบาทจาก ผู้ประสบภัย เป็น ผู้จัดการภัยพิบัติ โดยเพิ่มบทบาทให้ชุมชน มีอำนาจในการจัดการภัยพิบัติ บริหารจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน เป็นศูนย์กลางในการทำงานกับหน่วยงานราชการและเอกชน ซึ่งจะเป็นรูปแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
6. 4 พื้นที่ ประกาศพร้อมเป็น Sandbox รอกลไกรัฐหนุน
คนเชียงรายใน 4 พื้นที่ภูมินิเวศ มีความพร้อมเป็นพื้นที่นำร่อง สร้างต้นแบบการจัดการพื้นที่ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ได้แก่ กลุ่มพื้นที่สูง อ.เวียงป่าเป้า, กลุ่มพื้นที่เขตเมืองและเขตเศรษฐกิจชายแดน อ.แม่สาย, กลุ่มพื้นที่ชุมชนเกษตรกรลุ่มน้ำ อ.เทิง และพื้นที่ ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย รอเพียงรัฐบาลให้การสนับสนุน
7. ถ้าเชียงรายทำได้ จะเป็นต้นแบบพลิกโฉมการจัดการภัยพิบัติของประเทศ
แผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน หากสำเร็จ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม และจะเป็นต้นแบบต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น เป็นการพลิกโฉม เปลี่ยนอนาคตการจัดการภัยพิบัติของประเทศ