เทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ เตือนยกของขึ้นที่สูง ตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังและเตรียมช่วยเหลือชาวบ้าน ขณะที่ เชียงราย – ลำปาง และอีกหลายพื้นที่ยังรอการช่วยเหลือจากเหตุดินทรุดตัว น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลับ รวมถึงน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง
วันนี้ (24 ก.ย. 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.00 น. ฝายแม่ลาว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจาก อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สรวย จุดเบี่ยงน้ำสู่โครงการชลประทานไป อ.พาน กับ อ.แม่ลาว และลงแม่น้ำลาว ล่าสุดมีปริมาณน้ำมาก เปิดประตูทุกบาน แต่ยังไม่ผันน้ำเข้าโครงการชลประทาน
ขณะที่เทศบาลนครเชียงใหม่ แจ้งเตือนชุมชนในลุ่มต่ำแม่น้ำปิง เตรียมยกของขึ้นที่สูง เพราะระดับน้ำปิงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยระดับน้ำที่วัดได้เมื่อเวลา 10.00 น. ระดับน้ำวัดได้ 3.35 ม.อยู่ในระดับสีส้ม
ทั้งนี้ เทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งวอร์รูม (WAR ROOM) ติดตามระดับน้ำปิงแบบเรียลไทม์ ริมสะพานนวรัฐ เพื่อบริหารสถานการณ์น้ำเขตเมือง 24 ชั่วโมง
โดยล่าสุด เมื่อเวลา 13.15 น. ศูนย์ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเฉพาะกิจ เทศบาลนครเชียงใหม่ ประกาศด่วน ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โซน 1, 2 และ 3 เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว
อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันระดับน้ำปิงเพิ่มตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (23 ก.ย. 67) จนทำให้ปริมาณน้ำสะสมไหลลงน้ำปิงเป็นปกติ
สำหรับเหตุดินทรุดตัว น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลับ รวมถึงน้ำล้นตลิ่ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวาน จนถึงวันนี้ (23 – 24 ก.ย. 2567) มีที่ไหนบ้าง The Active รวบรวมไว้ดังนี้
ดินทรุดตัว
- บ้านรักไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน
น้ำป่าไหลหลาก
- บ้านจำ ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
- น้ำป่าหลากลงจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม ทำให้ลำน้ำแม่สาเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว เข้าท่วม ต.แม่ริมเหนือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
- น้ำป่าไหลหลากที่ถนนแม่ริม – สะเมิง บ้านโป่งแยงนอก ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
- น้ำป่าไหลหลากสี่แยกนาทะนุง ต.นาทะนุง อ.นาหมื่น จ.น่าน
- บ้านผาเจริญ บ้านท่าสะอาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย
- บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย
- บ้านห้วยทรายขาว ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
น้ำท่วมฉับพลัน
- บ้านซำรังหมู่ 4 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
- น้ำจากห้วยจิกเข้าท่วมเทศบาลเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
น้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง
- ชุมชนหล่ายต้า บ้านร่องไผ่ ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา
- จ.เพชรบูรณ์ (อ.ชนแดน)
- จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เวียงป่าเป้า และเมืองฯ)
- จ.เชียงใหม่ (อ.แม่แตง และแม่ริม)
- จ.น่าน (อ.นาน้อย นาหมื่น และเวียงสา)
- จ.ลำปาง (อ.งาว เมืองฯ เกาะคา ห้างฉัตร แม่พริก สบปราบ เถิน แม่เมาะ และวังเหนือ)
- จ.แพร่ (อ.ลอง และวังชิ้น)
- จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ)
- จ.เลย (อ.เมืองฯ)
- จ.หนองคาย (อ.ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองฯ และโพนพิสัย) และ
- จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล บางปะอิน ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา เสนา และบางไทร)
สำหรับพื้นที่ยกระดับเตือนภัย ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนริมแม่น้ำวัง อ.เถิน จ.ลำปาง และ อ.สามเงา จ.ตาก ประชาชนริมแม่น้ำวัง เก็บของขึ้นที่สูง เตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จะมีการระบายเพิ่มเติ่มในเขื่อนกิ่วลม ภายใน 6 ชั่วโมงจนถึงเช้าวันที่ 25 ก.ย. อำเภอเมืองจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะริม 2 ฝั่งแม่น้ำวัง มวลน้ำทั้งหมดคาดจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 36 ชั่วโมงถึงลำปางตอนใต้ ได้แก่ อ.สบปราบ แม่พริก เถิน ซึ่งต้องเฝ้าระวังเพราะมีมวลน้ำจากแม่น้ำเสริมงาม และแม่พริก โดยประชาชนสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1567 และ 1684
สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ รายงานโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วันที่ 24 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น.
- ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (212 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.หนองคาย (130 มม.) ภาคใต้ : จ.ยะลา (113 มม.) ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (75 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (55 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (38 มม.) สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมฝ่ายตะวันออกบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่งคาดการณ์ : ช่วงวันที่ 25–29 ก.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
- สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 70% ของความจุเก็บกัก (56,145 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 55% (31,961 ล้าน ลบ.ม.)
- สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำวัง ช่วงวันที่ 24 กันยายน – 3 ตุลาคม 2567 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนริมแม่น้ำวัง ขอให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ดังนี้จ.ลำปาง ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.เถิน ประมาณ 0.2 – 0.5 ม. ในช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 2 ต.ค. 2567 จ.ตาก ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.สามเงา ประมาณ 1.0 – 1.3 ม. ในช่วงวันที่ 24 ก.ย. – 3 ต.ค. 2567
- การให้ความช่วยเหลือ : เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และน้ำท่วมสูงบนถนน ทางหลวง 118 สายเชียงใหม่–เชียงราย 2 จุดใหญ่ บริเวณบ้านบวกขอน หมู่ 9 ต.แม่เจดีย์ใหม่ และที่หน้าโบสถ์คริสต์บ้านทรายมูล ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ขณะนี้ในพื้นที่ฝนหยุดตกแล้ว แต่มีแนวโน้มระดับน้ำท่วมจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำ เหนืออ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว ที่น้ำได้ล้นสปิลเวย์แล้ว เช่นเดียวกับเขื่อนดอยงู นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้ นายอำเภอเวียงป่าเป้า ลงพื้นที่ดูเหตุการณ์กรณีน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และน้ำท่วมสูงบนถนนสายเชียงราย–เชียงใหม่ ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ ทั้งนี้ได้มีการประกาศแจ้งประชาชนเตรียมความพร้อมก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งผ่านหอกระจายข่าว ไลน์กลุ่มฯ และศูนย์วิทยุกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูง สะพานหรือถนนถูกตัดขาด นายอำเภอจะใช้วิธีสื่อสารไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้านผ่านวิทยุสื่อสารของกรมการปกครอง ซึ่งยังคงใช้การได้ดีในภาวะวิกฤต
- สถานการณ์น้ำท่วม : สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 24 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เวียงป่าเป้า และเมืองฯ) จ.เชียงใหม่ (อ.แม่ริม) จ.น่าน (อ.นาน้อย นาหมื่น และเวียงสา) จ.ลำปาง (อ.งาว เมืองฯ เกาะคา ห้างฉัตร แม่พริก สบปราบ เถิน แม่เมาะ และวังเหนือ) จ.แพร่ (อ.ลอง และวังชิ้น) จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ) จ.เลย (อ.เมืองฯ) จ.หนองคาย (อ.ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองฯ และโพนพิสัย)และจ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล บางปะอิน ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา เสนา และบางไทร)
ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าปริมาณฝนสะสม 24 ชม.สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ จ.น่าน 212 มม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย 130 มม.ภาคใต้ จ.ยะลา 113 มม. ภาคกลาง จ.ลพบุรี 75 มม.ภาคตะวันออก จ.ตราด 55 มม. ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี 38 มม.
โดยขณะนี้มีร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย
ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมฝ่ายตะวันออกบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง
มีฝนตกหนักบางแห่งช่วงวันที่ 25–29 ก.ย.นี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปก คลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง