วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!
สนทช. เผย ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัด ‘ลำปาง-ตาก’ เตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง
Thai PBS News สรุปสถานการณ์ฝนตกและน้ำท่วม โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังบริเวณแม่น้ำวัง ช่วงวันที่ 24 ก.ย. – 3 ต.ค.2567 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนริมแม่น้ำวัง โดยขอให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ดังนี้
- ลำปาง ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.เถิน ประมาณ 0.2 – 0.5 ม. ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-2 ต.ค.2567
- ตาก ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.สามเงา ประมาณ 1.0 – 1.3 ม. ในช่วงวันที่ 24 ก.ย. – 3 ต.ค.2567
ส่วนการคาดการณ์ ช่วงวันที่ 25–29 ก.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ด้าน สถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่
ภาคเหนือ 5 จังหวัด ดังนี้
- เชียงราย (อ.แม่สาย เวียงป่าเป้า และเมืองฯ)
- เชียงใหม่ (อ.แม่ริม) จ.น่าน (อ.นาน้อย นาหมื่น และเวียงสา)
- ลำปาง (อ.งาว เมืองฯ เกาะคา ห้างฉัตร แม่พริก สบปราบ เถิน แม่เมาะ และวังเหนือ)
- แพร่ (อ.ลอง และวังชิ้น)
- พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ) จ.เลย (อ.เมืองฯ)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด ดังนี้
- หนองคาย (อ.ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองฯ และโพนพิสัย)
- เลย (อ.เมืองฯ)
ภาคกลาง 2 จังหวัด ดังนี้
- พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล บางปะอิน ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา เสนา และบางไทร)
- พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ)
ขณะที่ กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ธรณีพิบัติภัย พบว่าในหลายพื้นที่จังหวัด ภาคเหนือมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และพบน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่ม ติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน
เชียงใหม่ใกล้วิกฤต! เตรียมพร้อมรับมือ
Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงใหม่ โดย อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ระดับน้ำปิงเพิ่มตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (23 ก.ย.67) จนทำให้ปริมาณน้ำสะสมไหลลงน้ำปิงเป็นปกติ โดยระดับน้ำที่วัดได้อยู่ในระดับสีส้ม (3.35 ม.) เมื่อเวลา 10.00 น.
แม้ว่าระดับน้ำที่วัดได้ยังไม่ถึงจุดวิกฤต (จุดวิกฤต คือ 4 ม.) แต่ด้านนครเทศบาลเชียงใหม่ โดย ณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการสำนักช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการระดมทีมงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ร่วมตั้งวอร์รูม (WAR ROOM) ริมสะพานนวรัตน์ กลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อมอนิเตอร์ระดับน้ำ ในแม่น้ำปิง แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น. ของเช้าวันนี้ และดำเนินต่อไปจนกว่าสถานการณ์ระดับน้ำปิงจะกลับสู่ในสถานการณ์ที่คลายกังวล
นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ ยังร่วมช่วยเหลือด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ประจำทุกประตูระบายน้ำ และทุกจุดสำคัญ รวมถึงมีการประเมินสถานการณ์ที่ต้องแจ้งเตือนประชาชน และเตรียมพร้อมผ่านผู้ใหญ่บ้าน-กำนันในพื้นที่ ให้เตรียมประชาชนให้พร้อมรับมือในกรณีที่เกิดวิกฤติและฉุกเฉินแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง
เหนือ-อีสาน เช็ก! 12 สายทาง ไม่สามารถสัญจรได้
กรมทางหลวงชนบท รายงานเส้นทางที่ได้รับผลผลกระทบจากอุทกภัย 21 สายทาง ใน 7 จังหวัด โดย อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระดับน้ำในแม่น้ำยังคงเอ่อล้นตลิ่ง ทำให้น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่และเส้นทาง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง นครพนม เลย ชัยภูมิ หนองคาย และอุดรธานี สัญจรผ่านได้จำนวน 9 สายทาง และสัญจรผ่านไม่ได้ จำนวน 12 สายทาง ดังนี้
จังหวัดเชียงราย
- สะพาน ชร.007 สะพานพ่อขุนเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย
- สะพาน ชร.016 สะพานแม่น้ำกก อ.เมือง จ.เชียงราย
จังหวัดนครพนม
- ถนนสาย นพ.3065 แยก ทล.212 – บ้านหนองสาหร่าย อ.บ้านแพง, อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม (ช่วง กม.ที่ 3+000 ถึง 3+500)
- ถนนสาย นพ.4059 แยก ทล.2032 – บ้านไทยสบาย อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม (ช่วง กม.ที่ 9+850 ถึง 10+175)
จังหวัดเลย
- ถนนสาย ลย.2002 แยก ทล.21 – บ้านนาซำแซง อ.ภูเรือ, อ.วังสะพุง จ.เลย (ช่วง กม.ที่ 22+241 ถึง 22+270)
จังหวัดหนองคาย
- ถนนสาย นค.5027 แยก ทล.3009 – บ้านสร้างคอม (ตอนหนองคาย) อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย (ช่วง กม.ที่ 7+525 ถึง 8+850 และ 12+825 ถึง 13+400)
- ถนนสาย นค.3015 แยก ทล.211 – บ้านโพธิ์ตาก อ.ท่อบ่อ, อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย (ช่วง กม.ที่ 23+600 ถึง 24+800)
- ถนนสาย นค.3042 แยก ทล.211 – บ้านธาตุกลางน้อย อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย (ช่วง กม.ที่ 16+300 ถึง 17+300)
- ถนนสาย นค.7046 แยก ทล.212 – บ้านเหล่าต่างคำ อ.เมือง, อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย (ช่วง กม.ที่ 1+850 ถึง 3+800)
- สะพาน นค.029 สะพานห้วยเป อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
จังหวัดอุดรธานี
- ถนนสาย นค.1034 แยก ทล.2 – บ้านโนนสีทอง (ตอนอุดรธานี) อ.เมือง จ.อุดรธานี (ช่วง กม.ที่ 9+000 ถึง 11+000)
- ถนนสาย อด.4002 แยก ทล.2096 – บ้านสร้างคอม อ.สร้างคอม, อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี (ช่วง กม.ที่ 35+400 ถึง 37+800)
ทั้งนี้ ทช. ได้เร่งช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้ทางอย่างต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์จนกว่าจะคลี่คลาย โดยขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางโปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ไร้ความช่วยเหลือ! หลังน้ำป่าถล่ม 5 ชุมชนเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
The Active รายงานสถานการณ์หลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หลายแห่งเมื่อวานนี้ (23 ก.ย. 67) พบว่า ขณะนี้ยังมีหลายชุมชนที่ยังไม่ได้รับการเข้าให้ความช่วยเหลือ
ภายหลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หลายแห่งเมื่อวานนี้ (23 ก.ย. 67) โดยเฉพาะที่ชุมชนปกาเกอะญอ “บ้านห้วยหินลาดใน” ซึ่งได้รับผลกระทบบ้านเรือน โรงเรียน และรถยนต์ของชาวบ้านได้รับความเสียหาย
ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ “บ้านห้วยทรายขาว” ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยสร้างความเสียหายถึง 50 หลังคาเรือน กระทบประชากร 215 ราย ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคน เบื้องต้นเมื่อทางเข้าออกหมู่บ้านถูกปิดทั้งหมด ชาวบ้านจึงต้องลำเลียงผู้บาดเจ็บ ประมาณ 6 คน ไปส่งโรงพยาบาลโดยใช้เส้นทางแนวกันไฟของหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 1 คน ซึ่งกำลังระดมค้นหาในเช้าวันนี้
สำหรับชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่า เบื้องต้น มี 5 ชุมชน ดังนี้
1. บ้านห้วยหินลาดใน (ชุมชนปกาเกอะญอ)
2. บ้านห้วยทรายขาว (ชุมชนลาหู่)
3. บ้านห้วยมะเดื่อ (ชุมชนปกาเกอะญอ)
4. บ้านหินลาดนอก (ชุมชนปกาเกอะญอ)
5. บ้านสามกุลา (ชุมชนลีซู)
ขณะที่ “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” กำลังระดมสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว ซึ่งเป็นการระดมเพื่อช่วยเหลือกันเองอีกทางของภาคประชาชน
ครม. เคาะ กันยาฯนี้ ค่าไฟฟรี! ด้านนายกฯ เตรียมดึง ‘ทางรัฐ’ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกันยายน ถึง เดือนตุลาคม 2567 โดยที่เดือนกันยายน จะไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า และในเดือนตุลาคม จะให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 30 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ในระยะ 2-3 ฟื้นฟู และการพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 ส่วนระยะ 3 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ไปจนถึง 30 กันยายน 2569
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยด้วยว่าได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับการรายงานตัวของอาสาสมัครจากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ เพื่อให้สะดวกต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงเตรียมใช้ในการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา พร้อมทั้งเร่งรัดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) เร่งดำเนินการใช้ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast Service เพื่อให้การเตือนภัยให้ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย