สรุป #น้ำท่วม2567 (6 ต.ค. 67)

‘ศปช.’ เตือนพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัดภาคกลาง ให้ขนย้ายของขึ้นที่สูง หลังเขื่อนเจ้าพระยาปรับการระบายน้ำ ‘สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่’ รายงานเหตุการณ์เฝ้าระวังระดับน้ำปิงล่าสุดเมื่อ 20.00 น. ยังอยู่ในระดับวิกฤต แม้สถานี P.67 (แม่แต สันทราย) และ P.1 (สะพานนวรัฐ) มีแนวโน้มลดลง

วันนี้ (6 ต.ค. 67) พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

ศปช. เตือน ประชาชนพื้นที่ลุ่มริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 11 จังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย ย้ำเตือนประชาชนในบริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รวม 11 จังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ภายหลังเขื่อนเจ้าพระยาปรับการระบายน้ำ มาอยู่ที่อัตรา 2,250 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 16.00 น.วันนี้ (6 ต.ค. 67) และยังคงการระบายน้ำที่อัตราดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้แก่ คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณ จ.ชัยนาท อ.สรรพยา และวัดสิงห์ (ตำบลโพนางดำตก) , อ.เมืองสิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จ.สิงห์บุรี , อ.ป่าโมกและไชโย (วัดไชโย) จ.อ่างทอง , อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง) และเสนา (ตำบลหัวเวียง) จ.พระนครศรีอยุธยา , อ.เมืองปทุมธานีและสามโคก จ.ปทุมธานี , อ.ปากเกร็ด (ตำบลท่าอิฐ) อ.เมืองนนทบุรี (ต.ไทรม้าและบางไผ่) จ.นนทบุรี ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง

พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้ประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ย้ำประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชม. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ระดมกำลังเพื่อช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว

ส่วน กรณี มีกระแสข่าวว่า มวลน้ำมหาศาลกำลังเคลื่อนตัวกระจายไปตามเส้นทางต่าง ๆ นั้น จิรายุ กล่าวว่า สทนช. และกรมชลประทาน ชี้แจงว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ตลิ่งในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) และปริมาณน้ำส่วนนี้จะไหลต่อเนื่องเข้าสู่พื้นที่ อ.สารภี และเข้าสู่เขต ต.อุโมงค์ อ.เมือง จังหวัดลำพูน ลงสู่ลำน้ำแม่กวง แล้วจึงไหลผ่านตัวเมืองลำพูน ก่อนไหลกลับลงสู่แม่น้ำปิงอีกครั้งหนึ่งที่บ้านสบทา อ.ป่าซาง ซึ่งขณะนี้มีน้ำที่ท่วมขังในพื้นที อ.สารภี จ.เชียงใหม่ บางพื้นที่ เช่น ต.หนองผึ้ง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.8 – 1.50 ม. จังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขัง เร่งระบายน้ำสู่พื้นที่ตอนล่าง

ส่วนพื้นที่ อำเภอเมืองลำพูน (ตำบลเหมือนง่า อุโมงค์ ริมปิง ประตูป่า เวียงยอง หนองช้างคืน ต้นธง บ้านแป้น) จ.ลำพูน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.3 – 0.5 ม. แล้ว คาดการณ์ระดับน้ำท่วมสูงสุดบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดลำพูน อาจสูงได้ถึง 0.8 – 1.5 ม. โดยกรมชลประทานได้กำจัดวัชพืชในทางน้ำ และเตรียมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำหรับการเร่งระบายน้ำในพื้นที่โดยให้สามารถระบายน้ำได้เท่ากับที่จังหวัดเชียงใหม่สูบระบายน้ำลงมา

จิรายุ ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยที่จังหวัดเชียงราย ว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ยังคงปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย ที่ถูกน้ำท่วมอีกระลอก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดศูนย์อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชนฯ ณ วัดผาสุการาม บ้านไม้ลุงขน และชุมชนเหมืองแดง ต.แม่สาย เพื่อให้บริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยวันนี้ (6 ต.ค. 67) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฯ พบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง จึงขยายเวลาให้บริการไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้

โดยหลังจาก ศธ. เปิดจุดซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ ได้รับการตอบรับที่ดี สร้างความพอใจให้ประชาชนอย่างมาก จากเดิมจะปิดศูนย์ฯ วันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) ก็มีแผนขยายเวลาให้บริการจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด และอาจขยายเวลาเพิ่มเติมอีก

เช็กเส้นทาง 4 จังหวัดผ่านไม่ได้ ‘เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย’

กรมทางหลวง สรุปสถานการณ์อุทกภัยและดินสไลด์บนทางหลวงประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2567 พบว่าทางหลวงถูกน้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดบุรีรัมย์ (14 สายทาง จำนวน 20 แห่ง) การจราจรผ่านไม่ได้ 7 แห่ง ดังนี้

จังหวัดเชียงราย 1 แห่ง

  • ทางหลวงหมายเลข 1098 ท่าข้าวเปลือก – แก่นใต้ ช่วง กม.ที่ 18+266 – 18+466 ในพื้นที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุตอม่อสะพานทรุดตัว แนะนำใช้ทางเลี่ยง ทช.1063 แทน

จังหวัดเชียงใหม่ 4 แห่ง  

  • ทางหลวงหมายเลข 11 อุโมงค์ – รินคำ ช่วง กม.ที่ 557+700 – 558+600 ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำสูง 110 ซม. การจราจรผ่านไม่ได้
  • ทางหลวงหมายเลข 1411 ดอนจั่น – เชียงใหม่ ช่วง กม.ที่ 0+500 – 1+000 ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำสูง 30 ซม. การจราจรผ่านไม่ได้
  • ทางหลวงหมายเลข 1411 ดอนจั่น – เชียงใหม่ ช่วง กม.ที่ 4+000 – 4+500 ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำสูง 50 – 120 ซม. การจราจรผ่านไม่ได้
  • ทางหลวงหมายเลข 1322 แม่จา – รินหลวง ช่วง กม.ที่ 126+900 – 127+050 ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำสูง 80 ซม. การจราจรผ่านไม่ได้

จังหวัดลำปาง 1 แห่ง

  • ทางหลวงหมายเลข 1102 พระบาท – บ้านเหล่า ช่วง กม.ที่ 10+500 – 14+000 ในพื้นที่อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ระดับน้ำสูง 30 ซม. การจราจรผ่านไม่ได้ แนะนำทางเลี่ยงไปทางสะพานแม่น้ำวัง ออกทาง รพ.แม่น้ำวัง หรือข้ามสะพานแม่น้ำวัง แทน

จังหวัดสุโขทัย 1 แห่ง

  • ทางหลวงหมายเลข 1195 เตว็ดใน – วังไม้ขอน ช่วง กม.ที่ 12+900 – 13+040 ในพื้นที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เกิดเหตุถนนขาด การจราจรผ่านไม่ได้ แนะนำทางเลี่ยงให้ใช้ทล.1195 กม.9+350 (แยกเกาะวงษ์เกียรติ์) และบริเวณ ทล.1195 กม.14+700 (แยกวังทอง) แทน

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเดินทางด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามป้ายเตือนน้ำท่วม ป้ายแนะนำ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดเวลา หากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง) 6 ตุลาคม 2567 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง

รฟท. แจงรายละเอียด กรณีไม่สามารถรับส่งผู้โดยสาร ปลายทางสถานีเชียงใหม่

สำหรับการเดินทางไปเส้นทางภาคเหนือมีการปรับการให้บริการ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงรายละเอียด เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ขยายวงกว้างเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางต่อไปของผู้โดยสารภายในเขตเมืองเชียงใหม่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้บริการรถยนต์ขนถ่ายช่วงจากสถานีนครลำปาง – เชียงใหม่ – นครลำปาง จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลง โดยผู้โดยสารสามารถขอคืนค่าโดยสารช่วง จากสถานีนครลำปาง – เชียงใหม่ – นครลำปาง ได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือหากผู้โดยสารที่มีต้นทางปลายทางเหนือขึ้นมาจากสถานีนครลำปางไม่มั่นใจในการเดินทางสามารถขอคืนตั๋วโดยสารได้เต็มราคาที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ

สำหรับผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสารเดินทางจากสถานีเชียงใหม่ปลายทางสถานีต่าง ๆ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดจุดรับส่งผู้โดยสารไว้ 2 จุด ดังนี้

  • สถานีขนส่งอาเขต(เก่า) จ.เชียงใหม่
  • สถานีรถไฟลำพูน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าส้มพัมพันธ์ โทรศัพท์ 1690 หรือ เฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active