เปิดปฏิบัติการ “Eye in the sky“ เฝ้าระวังอุทกภัยทางอากาศ จ.ปัตตานี

ผวจ. ปัตตานี ลงนามตั้งศูนย์ป้องกันและยับยั้งภัยพิบัติ ร่วมวางแผนและสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ร่วมมือ กับ กองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 เปิดปฏิบัติการ “Eye in the sky“ เฝ้าระวังอุทกภัยทางอากาศ จ.ปัตตานี

วันนี้ (18 ต.ค.67) พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ชลประทานจังหวัด อุตุนิยมวิทยาจังหวัดปัตตานี และนายอำเภอเมืองปัตตานี ร่วมกับ น.อ.รัชต์ภาคย์ ธรรมธีรศรี ผู้บังคับการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 น.อ. นครินทร์ พัชรตระกูลพงศ์ เสนาธิการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 นำทีมเจ้าหน้าที่กองกำลังทางอากาศฯ ร่วมปฏิบัติการ “Eye in the sky“ เฝ้าระวังอุทกภัยทางอากาศ จ.ปัตตานี นำอากาศยาน EC725 เฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจดูปริมาณน้ำสายหลัก ที่ผ่านจังหวัดปัตตานี ทั้งแม่น้ำปัตตานี และสายบุรี รวมถึงเขื่อนและคลองต่างๆที่สำคัญ

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน อุทกภัยและดินโคลนถล่ม ได้ส่งผลความเสียหายค่อนข้างรุนแรง ซึ่งปัตตานีเป็นอีกจังหวัด ที่มีพื้นที่เสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติ จากสถิติที่รวบรวมไว้ การวางแผนเพื่อป้องกันและยับยั้งภัยพิบัติ จึงเป็นหัวใจสำคัญคัญของการรับมือเพื่อลดผลกระทบและความรุนแรงภัยพิบัติได้

ไม่ใช่แค่การติดตามประเมินสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนเครือข่ายชุมชนให้มีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ และองค์ความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ แต่การใช้ข้อมูลทางอากาศ ซึ่งจะสามารถเห็นสภาวการณ์กับภูมิศาสตร์ ทั้ง ปริมาณน้ำ การไหลของน้ำ ความชันของน้ำ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อวางแผนป้องกันยับยั้ง และแจ้งเตือนภัยพิบัติให้กับประชาชนได้ และความร่วมมือกับทางกองทัพอากาศครั้งนี้ จึงเป็นปฏิบัติการสำคัญส่วนหนึ่งของการยับยั้งป้องกันภัยพิบัติ

ด้าน น.อ.รัชต์ภาคย์ ธรรมธีรศรี ผู้บังคับการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 เปิดเผยว่า ตามนโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศ ต้องการใช้ขีดความสามารถของกองทัพอากาศ ช่วยประชาชน ซึ่งมีขีดความสามารถ ในการใช้กล้องในการตรวจจับวิดีโอดาวน์ลิ้ง DA42 หรือเรียกว่า Diamond DA42 ลิ้งสัญญานมาที่ศูนย์ปฏิบัติการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่9 เพื่อจะดูว่า ณ เวลานั้นอุทกภัยถึงไหน น้ำถึงไหนแล้ว

ส่วนที่ 2 เราสามารถใช้เทคโนโลยีเรื่องการถ่ายภาพด้วยกล้อง Lidar ซึ่งสามารถบินไปที่จุดพิกัดที่เราต้องการถ่าย และเมื่อนำมา generate แล้ว จะมีความชัดเจนถึงชั้นความสูงของพื้นที่นั้น สสามารถจำลองได้ว่า น้ำสูง 1 เมตร จะท่วมถึงไหน ถ้าท่วม 2 เมตร ท่วมถึงไหน 0.5 เมตร ท่วมถึงไหน อันนี้เป็นการวางแผนเชิงรุก เพื่อป้องกันบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด ที่เราสามารถป้องกันเขตพื้นที่ต่างๆได้ สามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่า ท่วมถึงไหนอย่างไร ความรุนแรงแค่ไหน

“อีกส่วนสำคัญ คือ การวิเคราะห์การไหลของน้ำ ทิศทางน้ำ เพราะมีชั้นความสูง น้ำไหลจากที่สูงลงมาที่ต่ำเสมอ สามารถจะพยากรณ์ได้ว่าน้ำจะไปตรงไหนบ้าง เนื่องจากตอนนี้ภูมิประเทศต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไป เพราะเรามีการสร้างถนน สร้างทางรถไฟ สร้างหมู่บ้าน การถมที่ต่าง ๆ ภูมิประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นความสูงของพื้นที่ในแผนที่อาจจะล้าสมัย หรือไม่ใช่ภาพ ณ ปัจจุบัน เมื่อเราถ่ายภาพที่อัปเดตปัจจุบัน ก็จะสามารถคำนวณได้ว่า ทิศทางการไหลของน้ำไปทิศทางไหน และจะสามารถที่จะป้องกันบริเวณจุดนั้นได้“

สุดท้ายคือ อากาศยาน ec725 เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้วันนี้ คือแบบเดียวกับที่ใช้ในภารกิจภัยพิบัติอุทกภัยที่ที่เชียงราย และเชียงใหม่ ในการหย่อนอาหาร หย่อนยาไปที่พื้นที่น้ำท่วมสูง ที่ไม่มีหน่วยพื้นดินเข้าถึงได้ อันนี้เราก็จะเข้าถึง สามารถส่งน้ำ อาหาร ยา เบื้องต้นไปก่อน หรือแม้กระทั่ง คนเจ็บสามารถที่จะนำเปลสนามช่วยผู้ป่วย ผู้ประสบภัย ขึ้นมาบนอากาศยานได้ อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทางจังหวัดได้ รวมถึงเรื่องของการวางแผนการอำนวยการ เราใช้ห้องศูนย์ปฏิบัติการให้ทางจังหวัด เรามีกล้องให้เห็น มีกล้องอย่างที่เชียงใหม่ เราใช้กล้องไออาร์ถ่ายภาพเห็นช้าง อันนี้จะเห็นว่าถ้าเราใช้อันนี้ กรณีที่สภาพน้ำเยอะสูงมากเป็นเวลากลางคืน เราใช้กล้องเห็นผู้ประสบภัย อยู่ในป่าเขาอะไร เราสามารถช่วยผู้ประสบภัยได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active