‘เพียรพร ดีเทศน์’ ชี้ เหมืองทองในรัฐฉานต้นตอปัญหา เสนอตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เจรจากับเมียนมา-จีน ยุติมลพิษจากต้นน้ำ ย้ำ ‘มลพิษข้ามพรมแดน’ ก่อผลกระทบผู้คนกว่า 1.2 ล้านชีวิต
วันนี้ (25 เม.ย. 68) เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ องค์กร International Rivers ให้สัมภาษณ์ในรายการ Flash Talk ถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วงของ แม่น้ำกก ซึ่งกำลังเผชิญทั้งปัญหามลพิษและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างผิดปกติ โดยเน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาเฉพาะหน้า แต่คือ มลพิษข้ามพรมแดน ที่ต้องอาศัยการแก้ไขเชิงระบบและความร่วมมือระหว่างประเทศ
“แม่น้ำกกไม่ได้เป็นแค่แม่น้ำสายหนึ่งในเชียงราย แต่เป็นแม่น้ำที่ไหลข้ามพรมแดน และเป็นเส้นชีวิตของผู้คนกว่า 1.2 ล้านคน ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน”
เพียรพร ดีเทศน์

เพียรพร ยังชี้ว่า ปรากฏการณ์ ปลามีตุ่ม ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำกกหลังน้ำลดจากเหตุอุทกภัยใหญ่เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน เป็นตัวสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่รุนแรง ชาวบ้านต้องใช้ทั้งงบประมาณและแรงงานในการจัดการดินโคลน พร้อมกับความผิดปกติของคุณภาพน้ำที่ขุ่นข้นยาวนานต่อเนื่องจนถึงต้นปี
“ชาวบ้านในพื้นที่ท่าตอนต้องเดินขบวนเรียกร้องให้ตรวจสอบคุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ เพราะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าน้ำที่ใช้ทุกวันปลอดภัยจริงหรือไม่”
เพียรพร ดีเทศน์
เพียรพร ยังอ้างอิงข้อมูลจาก มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (HRF) ที่ระบุว่า แหล่งต้นน้ำกกในรัฐฉาน เมียนมา ทำเหมืองทองอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี รวมถึงการเปลี่ยนป่าให้เป็นสวนยางพาราขนาดใหญ่ และเหมืองแร่ที่อยู่ติดลำน้ำ นี่คือภาพของสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่ปัญหาในระดับท้องถิ่นอีกต่อไป แต่มันคือมลพิษข้ามพรมแดน ที่เชียงรายหรือประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
เชียงรายในฐานะจังหวัดชายแดนที่เชื่อมโยงกับลาว เมียนมา และจีน ผ่านแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำโขง รวก และกก จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากกิจกรรมในประเทศเพื่อนบ้านได้
“ที่ผ่านมา เราเคยคิดว่าเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านไม่เกี่ยวกับเรา แต่ครั้งนี้คือบทพิสูจน์ว่าไม่ใช่ แม่น้ำไหลผ่านพรมแดน และมลพิษก็ไม่รู้จักเส้นแบ่งเขตแดนเช่นกัน”
เพียรพร ดีเทศน์

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจพบสารหนูในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐานในปลา ยังไม่เพียงพอให้ประชาชนวางใจ เพราะคำถามสำคัญคือ “เราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร เมื่อน้ำ อากาศ และอาหาร – สิ่งพื้นฐานในการดำรงชีวิต – เราไม่สามารถมั่นใจในความปลอดภัยของมันได้อีกแล้ว”
จึงเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเริ่มต้นเจรจาร่วมกับ รัฐบาลเมียนมา กองกำลังว้า และ จีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมเหมืองต้นน้ำ
“ถ้าไม่หยุดการปล่อยมลพิษจากต้นทาง โดยเฉพาะกิจกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ดิฉันเชื่อว่าไม่ว่าอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า เราก็จะยังต้องกลับมาแก้ปัญหานี้ซ้ำอีก”
เพียรพร ดีเทศน์

ก่อนหน้านี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็เคยระบุว่านี่คือ “จุดเริ่มต้นของหายนะ” เมื่อมีการตรวจพบสารหนูในตะกอนและปลาช่วงหน้าแล้ง ซึ่งอาจเป็นเพียงปีแรกของการทำเหมืองทองที่มีอายุสัมปทานยาวถึง 10-20 ปี
“ดิฉันเชื่อว่า ถ้ารัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่น และนักวิชาการร่วมกันทำงานจริงจัง เห็นว่านี่คือปัญหาปากท้องและชีวิตของประชาชนในอนาคต ก็ต้องเริ่มดำเนินการทันที”
เพียรพร ดีเทศน์
ในข้อเสนอที่ภาคประชาชนยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมา มีข้อเรียกร้องให้ เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัย และขอให้ ขยายขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ที่ดินที่มีผลกระทบต่อแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย
เพียรพร ยังเน้นว่า ปัจจุบันแม่น้ำกกกำลังเผชิญกับปัญหาสองชั้น คือทั้งอุทกภัย และมลพิษ ซึ่งต้นตอหลักคือกิจกรรมเหมืองแร่จากต้นน้ำ โดยเฉพาะเหมืองทองที่ยังไม่สามารถระบุเจ้าของบริษัทได้ชัดเจน
“ถ้ามีการเจรจาแล้วจริง ๆ ก็ควรนำไปสู่การยุติกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทันที เพื่อเปิดทางให้มีการศึกษาผลกระทบและวางมาตรการลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน”
เพียรพร ดีเทศน์
ทั้งยังเสนอให้มี ศูนย์ปฏิบัติการจากส่วนกลาง เข้ามาเสริมการทำงานในพื้นที่ และมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใสโดย หน่วยงานอิสระ พร้อมรายงานผลแบบเรียลไทม์ และแนวทางป้องกันตัวเองอย่างชัดเจน
“เรายังไม่มีมาตรการรับมือเลย ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่นาน – แค่เดือนหรือสองเดือน – มรสุมก็จะเข้ามาแล้ว”
เพียรพร ดีเทศน์

ในส่วนของการเจรจากับเมียนมา เธอยอมรับว่า เป็นเรื่องซับซ้อนเพราะรัฐนั้นอยู่ในสถานะ “รัฐล้มเหลว” และไม่ชัดเจนว่าจะเจรจากับใคร แต่รัฐไทยยังสามารถเริ่มต้นจากการ แกะรอยบริษัทต้นทาง จากภาพถ่ายดาวเทียม หรือห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของแร่ที่ส่งออกไปยังจีน
“เราต้องพูดคุยกับจีนด้วย และกรณีแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดแค่ในแม่น้ำกก… แม่น้ำเลนในรัฐฉาน และเหมือง rare earth ในรัฐฉิ่น ก็เผชิญปัญหาคล้ายกัน”
เพียรพร ดีเทศน์
นอกจากนี้ เพียรพรยังเสนอให้ประเทศไทยผลักดัน หลักความรับผิดชอบนอกอาณาเขต (Extra-territorial Obligation – ETO) เพื่อสร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
“แม้แนวทางนี้อาจเป็นขั้นตอนถัดไปในระยะยาว แต่ในตอนนี้สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ แก้ไขความเสียหายและมลพิษที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินการของรัฐบาลไทยโดยเร็ว”
เพียรพร ดีเทศน์
สุดท้าย เพียรพร ย้ำว่า แม่น้ำกกไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนกรุงเทพฯ หรือคนเมือง เพราะเป็นระบบนิเวศเชื่อมโยงที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนในลุ่มน้ำสาย ลุ่มน้ำกก และแม่น้ำโขง ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน
“เราคุ้นชินกับวัฒนธรรมแบบลอยนวลมานานเกินไป ปัญหาเกิด คนเจ็บ คนเสียหาย แต่สุดท้ายกลับไม่มีใครรับผิด เราไม่ควรยอมรับสิ่งนี้อีกแล้ว… นี่คือปัญหาระดับแม่น้ำชาติที่อาจดูซับซ้อน แต่ดิฉันเชื่อว่าหากรัฐบาลเห็นความสำคัญ ก็สามารถลงมือทำได้ทันที และควรเร่งทำเลยค่ะ”
เพียรพร ดีเทศน์