เลื่อนส่งฟ้อง 9 นักกิจกรรม ‘คดีชุดมลายู’ 23 ธ.ค. นี้

สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ให้เหตุผล ขอตรวจสอบสำนวนเพิ่มเติม หลังทีมทนายจำเลย ยื่นขอความเป็นธรรม ด้าน ตัวแทนนักกิจกรรม ย้ำ ไม่หลบหนี ไม่กลัวการพิสูจน์ความจริง พร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

วันนี้ (26 พ.ย. 67) Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงานว่า ตัวแทนทีมทนายความ ของนักกิจกรรม 9 คน เดินทางมายังสำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เพื่อรับทราบการเลื่อนนัดส่งฟ้องศาลกับนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ที่จัดกิจกรรม Melayu Raya 2022 การรวมตัวสวมชุดมลายู ในปี 2565 ตามข้อหา ยุยงปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร หลังอัยการขอเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 23 ธันวาคม 2567 แทน เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุด ขอเวลาตรวจสอบสำนวนเพิ่มเติม ตามที่ก่อนหน้านี้ ทีมทนายฝ่ายจำเลยทั้ง 9 คน ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม

(ภาพ : Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ 29 ต.ค. 67)

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความฝ่ายจำเลย มองว่า หลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งในคดีนี้ แม้เจ้าหน้าที่ชั้นสอบสวนมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเนื้อหาจากคำพูดบนเวที แต่เมื่อทีมทนายขอให้ทางเจ้าหน้าที่ส่งคลิปเสียง และการแปลของทีมสอบสวนมาตรวจสอบควบคู่กัน ก็ยังไม่ส่งคลิปให้ จนกระทั้งคดีเข้าสู่ชั้นอัยการ

“เราก็ขอให้เขาส่งคลิปมา ว่าที่แปลนั้นถูกหรือไม่ เราจะได้ร่วมตรวจสอบ ว่า คลิปนั้นแปลถูกต้อง มีการตัดต่อ มีการเพิ่มเติมหรือไม่ คือถ้าส่งคลิปมา เราจะได้เอาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาของเราแปล เพื่อส่งเนื้อหาที่ได้ประกบกันไป แต่จะเชื่อฝ่ายไหนก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ อย่างน้อยก็เป็นความยุติธรรมขั้นต้นได้ ก่อนที่คดีจะขึ้นไปสู่ศาล”

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ

ก่อนการส่งฟ้องจะถูกเลื่อน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้าน และเยาวชนจำนวนมากได้มาให้กำลังใจ และเข้าร่วมในเวทีเสวนา “ศักดิ์ศรี สันติภาพ ปาตานี” ซึ่งจัดขึ้นที่ปัตตานีเซ็นเตอร์ โดยระหว่างการเสวนา

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ 1 ใน 9 นักกิจกรรมที่ถูกฟ้องร้องครั้งนี้ ยืนยันว่า จะไม่หลบหนี และจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และไม่กลัวที่จะพิสูจน์ความจริง พร้อมระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เข้าใจอัตลักษณ์ของคนมลายูในพื้นที่ ทั้งการแต่งกาย ภาษา และชาติพันธุ์ และมักใช้นโยบายบีบบังคับ โดยเฉพาะการฟ้องร้องในครั้งนี้ หากอัยการส่งฟ้องศาล ก็จะยื่นประกันตัวทันที ซึ่งเงินที่ใช้ในการประกันตัว ก็มาจากการร่วมกันบริจาคของผู้สนับสนุน และให้กำลังใจกับนักกิจกรรมทั้ง 9 คน

ก่อนหน้านี้ พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 เคยให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายชุดมลายู แต่คำพูดปลุกระดมบนเวทีมีความหมิ่นเหม่

“2 ประเด็นหลัก ๆ ที่ทำให้ยื่นฟ้อง คือมีธงสัญลักษณ์ของบีอาร์เอ็น และการพูด และร้องเพลงปลุกใจเพื่อกู้ชาติของรัฐปัตตานี เราไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ประเด็นเรื่องการแต่งกายชุดมลายู หรือเรื่องอัตลักษณ์แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา ทางกองทัพ ก็ส่งเสริมพหุวัฒนธรรมมาโดยตลอด”

พล.ท. ไพศาล หนูสังข์

สำหรับการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 หลังเยาวชนจำนวนมาก พร้อมใจกับแต่งกายด้วยชุดมลายูมารวมตัว บริเวณชายหาดวาสุรี ในช่วงฮารีรายอ หรือวันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนถือศีลอด หลังการจัดงานหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้แสดงความกังวลถึงคำปราศรัยบนเวที รวมถึงธงสัญลักษณ์ต่าง ๆ จึงได้หารือร่วมกัน ซึ่งทางฝ่ายผู้จัดงาน ชี้แจงว่า ในปีแรกไม่ทราบว่า ผู้ที่เข้าร่วมงานได้นำธงใดบ้างเข้ามาในงาน เพราะต่างคนต่างก็อิสระในการเข้างาน ทำให้ในปี 2566 ฝ่ายผู้จัดงานจึงได้หาทางออกด้วยการหารือร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ก่อนจะกำหนดข้อห้ามต่าง ๆ ก่อนเข้างาน เช่น การตรวจสอบห้ามนำธงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้ามาในงาน หรือการระมัดระวังกิจกรรมที่หมิ่นเหม่บนเวที และสามารถจัดต่อเนื่องในปีนี้ เป็นปีที่ 3 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการยื่นฟ้องจากหน่วยงานด้านความมั่นคงต่อความผิดดังกล่าวในการรวมตัวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

จากข้อมูลของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ พบว่าตั้งแต่ปี 2561 – 2566 มีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ ถูกดำเนินคดี อย่างน้อย 39 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ทำกิจกรรมการแสดงออกทางการเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active