น้ำท่วมภาคใต้กระทบแล้ว 3 จังหวัด 1,745 ครัวเรือน ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

‘สทนช.’ ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ภาคใต้ จนถึง 26 พ.ย. 67 ‘ปภ.’ เผยสถานการณ์น้ำท่วมใต้ “นครศรีฯ พัทลุง ชุมพร” เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย

วันนี้ (23 พ.ย. 2567) กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศ มีความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีอากาศเย็น ขณะที่มีลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สทนช. ประกาศระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากภาคใต้ 20 – 26 พ.ย. 67

  • พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 
  • เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
  • เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ.ศรีนครินทร์ และ อ.เมืองพัทลุง  จ.พัทลุง อย่างเร่งด่วน โดยส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจ และจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ 

  • นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.จุฬาภรณ์ อ.ชะอวด อ.ทุ่งสง อ.สิชล รวม 12 ตำบล 30 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,542 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
  • พัทลุง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ศรีนครินทร์ อ.ศรีบรรพต อ.ควนขนุน รวม 18 ตำบล 78 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 203 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังใน อ.เมืองฯ และ อ.ควนขนุน
  • ชุมพร เกิดน้ำท่วมในพื้นที 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หลังสวน อ.ปะทิว อ.เมืองฯ รวม 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,542 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

รัฐบาลเร่งรัด แก้ปัญหาน้ำท่วมดินโคลนถล่ม เชียงราย-เชียงใหม่

ส่วนความคืบหน้าเรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำ คณะทำงานศึกษา วางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม  และดินโคลนถล่ม  ในพื้นที่ภาคเหนือ  ประชุมครั้งที่ 2 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม พิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในแม่น้ำปิง แม่น้ำกก และแม่น้ำสาย และพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อป้องกัน และลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ในอนาคต โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบประเด็นสำคัญ

  • การเร่งรัดจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ใน จ.เชียงราย และเชียงใหม่ รวมถึงการเร่งรัดจัดทำแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
  • เห็นชอบแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม แม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่
  • เห็นชอบแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม แม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย 

ที่ผ่านมา ได้จัดทำแผนเร่งรัดแล้วเสร็จ ซึ่งจะมืการนำเสนอในที่ประชุมวันนี้ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุม ศปช. วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน ที่จะมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนแผนก่อนจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีในช่วงที่มีการประชุม ครม.สัญจร ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567  ต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active