สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่อนหนังสือถึง รมว.มหาดไทย จี้เร่งทำระบบแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือให้เสร็จ หลังน้ำท่วมเหนือ-ใต้เสียหายรุนแรง จากความล่าช้าของหน่วยงานรัฐ เผยทดสอบระบบแล้วใช้ได้จริง แต่ยังติดปัญหา จะให้อำนาจใครสั่งการ
สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำหนังสือ ถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ติดตามความคืบหน้า การจัดทำระบบแจ้งเตือนภัย (Thai Emergency Alert) ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ เซลล์บอร์ดแคสต์ (Cell Broadcast) เนื่องจากที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางอุทกภัยตั้งแต่น้ำท่วมภาคเหนือ ตลอดจนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่เกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการขาดกลไกการเตือนภัยที่แม่นยำและครอบคลุม ดังนั้นหากประเทศไทยมีระบบแจ้งเตือนสาธารณภัย ก็จะสามารถลดความรุนแรงและความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติหรือการก่อการร้ายต่าง ๆ ได้
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีการเสนอรัฐบาลให้ทำระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ มาตั้งแต่เหตุกราดยิงในศูนย์การค้ากลางกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2566 ซึ่งพบว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี (DE) ไม่มีอำนาจดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ของกระทรวงหมาดไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารภัยแห่งชาติทั่วราชอาณาจักร
ล่าสุดทราบว่ากระทรวงมหาดไทยได้ตั้งงบประมาณขึ้นมาแล้ว และสั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้ดำเนินการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัย และจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568
แต่สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่าการดำเนินการงานแจ้งเตือนภัยของหน่วยงานราชการมีความล่าช้า สะท้อนได้จากเหตุน้ำท่วมเมื่อ ก.ย.-ต.ค.ในภาคเหนือ และล่าสุดน้ำท่วมในภาคใต้ จนสร้างความเสียหายจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องส่งสัญญาณถึงรัฐบาลให้เร่งทำระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบ่งแยกการทำงานระหว่างนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหากสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะทำให้ระบบดังกล่าวเกิดขึ้นได้เร็ว
อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่กังวล คือ การแจ้งเตือนภัยจะต้องมีสายอำนาจสั่งการและรับผิดชอบว่าหน่วยงานแต่ละระดับทำหน้าที่อะไร ซึ่งยังไม่เห็นเรื่องนี้เป็นรูปธรรม เหมือนตอนการช่วยเหลือเด็ก 13 คนติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เมื่อปี 2561 ที่ให้อำนาจ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น หรือผู้ว่าฯหมูป่า เป็นผู้สั่งการทั้งหมด
สำหรับระบบการเตือนภัยในทางเทคนิคไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะดีอี กสทช.และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ได้ดำเนินการทดสอบระบบไปบางส่วนแล้ว สามารถใช้งานได้จริง แต่ติดปัญหาที่อำนาจในการสั่งการ ว่าแต่ละเหตุการณ์จะเป็นอำนาจของหน่วยงานระดับไหนในการแจ้งเตือนภัย เช่น เหตุการณ์ทั่วไป เหตุภัยพิบัติ เหตุที่เกิดจากมนุษย์
“ตัวอุปกรณ์ ตัวเทคนิค เครื่องมือต่าง ๆ คิดว่าไม่น่าใช่ประเด็นปัญหา แต่ระบบที่สำคัญก็คือมนุษย์ที่เป็นผู้สั่งการ เราก็อยากจะเรียกร้องให้ทางรัฐบาล จับไม้จับมือทำความร่วมมือกัน ที่จะสร้างโครงสร้างของระบบการแจ้งเตือนภัยของชาติ ให้เทียบเท่ากับประเทศอื่น ๆ เพื่อที่จะได้ลดความสูญเสีย หรือความเสียหายให้กับประชาชน”