เตือน 13 จังหวัดภาคใต้รับมือเสี่ยงภัยน้ำท่วม-ดินถล่ม

สทนช. ระบุ 13 จังหวัด เสี่ยงภัย น้ำท่วม-ดินถล่ม ถึง 16 ธ.ค.นี้ ขณะที่ ปภ.แจ้งเตือน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 8 ตำบล อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี และ 4 ตำบล อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของและเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางไปยังที่ปลอดภัย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ตำบลปากแพรก อำเภอดอนสัก และตำบลป่าร่อน ตำบลช้างซ้าย ตำบลกรูด ตำบลช้างขวา ตำบลกระแดะ ตำบลท่าอุแท ตำบลพลายวาส ตำบลคลองสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของและเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางไปยังที่ปลอดภัย โดยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” เพิ่มเพื่อนที่ Line ID @1784DDPM หรือโทรสายด่วนนิรภัย (ปภ.) 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

ในขณะที่ ​จังหวัดชุมพร ฝนยังตกหนักต่อเนื่อง และเกิดดินถล่มทับบ้านประชาชน​โดยไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่การเดินทางในพื้นที่ประสบปัญหาต้องเลี่ยงไปใช้ถนนทางฝั่งอันดามัน นอกจากนี้ น้ำยังท่วมทางรถไฟจนมีผู้ตกค้างจำนวนมาก ด้านชุมชนยังต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ​ก่อนหน้านี้มีการอพยพผู้ป่วยติดเตียงคนหนึ่ง หนีน้ำขึ้นไปบนชั้นสองของบ้าน และยังผู้ประสบภัยจำนวนมาก ที่รอการช่วยเหลือ เพื่ออพยพออกจากพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ และทีมอาสาสมัคร ได้เข้าไปช่วยดูแลทั้งผู้สูงวัย ผู้ป่วย และเด็ก พาไปอยู่ในศูนย์อพยพ ช่วยขนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยง บางส่วนช่วยมอบอาหารและน้ำดื่มให้ผู้ประสบภัย ในเขตเทศบาลตำบลนาโพธิ์ ซอยประชาร่วมใจ 5 อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ส่วนบริเวณสถานีรถไฟชุมพรเมื่อวานนี้(14 ธ.ค. 2567) เป็นไปด้วยความโกลาหล เนื่องจากมีผู้โดยที่ซื้อตั๋วเตรียมเดินทาง และผู้ที่จะเดินทางต่อไปยังจุดหมาย ต้องมาติดค้างอยู่จำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่า จะเกิดน้ำท่วมรางรถไฟ และต้องปิดเส้นทางเดินรถ ต่างสอบถามเจ้าหน้าที่กันให้วุ่นวาย

ขณะที่เจ้าหน้ารถไฟได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ และยินดีจะจ่ายคืนค่าโดยสารรถไฟสำหรับผู้ที่ซื่อตั๋วจองตั๋วไว้ล่วงหน้า ส่วนผู้โดยสารคนใดจะเดินทางต่อก็ต้องหารถไปเอง แต่เพื่อความปลอดภัยขอให้ระงับการเดินทางในช่วงนี้ไว้ก่อน
เนื่องถนนสายหลักขึ้งล่องภาคใต้ก็ถูกตัดขาดเช่นกัน


ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า เกิดเหตุน้ำท่วมรางรถไฟระหว่างสถานีวิสัยและสถานีรถไฟสวี ทำให้ทางสถานีรถไฟชุมพร ออกประกาศแจ้ง ขอปิดทางระหว่างสถานีวิสัย – สวี โดยรถไฟทุกขบวนที่ลงมาจากกรุงเทพมหานคร ต้องจอดรอที่สถานีรถไฟชุมพรส่วนขบวนรถไฟจากสายใต้ ทุกขบวนต้องจอดที่สถานีรถไฟหลังสวน เนื่องจากมีปริมาณน้ำท่วมสูงบริเวณรางรถไฟดังกล่าว เป็นระยะทางหลายร้อยเมตร จึงต้องปิดการเดินรถไฟทุกขบวน

สำหรับถนนสายเอเชีย 41 สู่ภาคใต้ ถูกน้ำท่วมขังสูงหลายจุด ไม่สามารถสัญจรได้ ต้องไปใช้ทางเลี่ยงถนนออกไป ทางฝั่งทะเลอันดามัน ด้านจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นเส้นทางอ้อมกว่า 200 กิโลเมตร

สภาพบ้านปูนชั้นเดียวในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลปากน้ำชุมพร อำเภอเมืองชุมพร ที่ถูกดินโคลนจากภูเขาสไลด์ลงมาทับบ้านจน หลังคาท้ายครัวหลังบ้านพังลงมากองกับพื้น ทรัพย์สินในบ้านเสียหายจำนวนหนึ่ง ส่วนตัวอาคารด้านหน้าไม่ได้รับความเสียหาย
เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา แต่เจ้าของบ้านหนีออกมาได้อย่างหวุดหวิด

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. พบว่า ปริมาณฝนสูงสุด ที่อำเภอเมืองชุมพร สูงถึง 265.9 มิลลิเมตร ทำให้น้ำท่วมฉับพลัน และประกาศเขตพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน 2 อำเภอ คืออำเภอสวี และหลังสวน

จังหวัดชุมพร น้ำท่วมแล้ว 8 อำเภอ จากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้มวลน้ำคลองชุมพร ซึ่งมีต้นน้ำจาก ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ล้นตลิ่งไหล เข้าท่วมบ้าน และพื้นที่การเกษตร และท่วมรางรถไฟ ระหว่างสถานีวิสัย และสถานีรถไฟสวี 

เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม 15 – 16 ธันวาคม 2567

จ.ประจวบคีรีขันธ์ : อ.บางสะพานน้อย อ.บางสะพาน อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ อ.ทับสะแก

จ.ชุมพร : อ.ละแม อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ อ.เมืองชุมพร อ.สวี อ.ท่าแซะ อ.ทุ่งตะโก อ.ปะทิว

จ.ระนอง : อ.เมืองระนอง อ.กระบุรี อ.กะเปอร์ อ.ละอุ่น อ.สุขสำราญ ที่มา : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (เฉดสีส้ม ดินโคลนถล่ม)

จ.สุราษฎร์ธานี : อ.เกาะสมุย อ.ดอนสัก อ.ท่าชนะ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.บ้านนาสาร อ.ไชยา อ.บ้านนาเดิม อ.ท่าฉาง อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน อ.วิภาวดี อ.เคียนซา อ.บ้านตาขุน อ.คีรีรัฐนิคม อ.พระแสง อ.เวียงสระ อ.ชัยบุรี

จ.พังงา :อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วทุ่ง อ.เกาะยาว อ.คุระบุรี จ.กระบี่ :อ.เกาะลันตา อ.เมืองกระบี่ อ.เขาพนม อ.เหนือคลอง อ.อ่าวลึก อ.ลำทับ อ.คลองท่อม จ.ภูเก็ต :อ.ถลาง

จ.นครศรีธรรมราช :อ.สิชล อ.ขนอม อ.นบพิตำ อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.ลานสกา อ.ท่าศาลา อ.พรหมคีรี อ.ร่อนพิบูลย์ อ.พระพรหม อ.ปากพนัง อ.ช้างกลาง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พิปูน อ.ทุ่งสง อ.นาบอน อ.ชะอวด อ.จุฬาภรณ์ อ.ฉวาง อ.หัวไทร อ.เชียรใหญ่ อ.บางขัน อ.ทุ่งใหญ่ อ.ถ้ำพรรณรา

จ.ตรัง : อ.สิเกา อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ อ.ย่านตาขาว อ.เมืองตรัง อ.หาดสำราญ อ.กันตัง อ.ปะเหลียน อ.นาโยง อ.ห้วยยอด

จ.พัทลุง : อ.ศรีนครินทร์ อ.กงหรา อ.เมืองพัทลุง อ.ศรีบรรพต อ.เขาชัยสน อ.ตะโหมด อ.ควนขนุน อ.บางแก้ว อ.ปากพะยูน อ.ป่าบอน อ.ป่าพะยอม

จ.สตูล : อ.ควนกาหลง อ.ท่าแพ อ.มะนัง อ.ละงู อ.เมืองสตูล

จ.สงขลา : อ.กระแสสินธุ์ อ.นาทวี อ.สทิงพระ อ.ระโนด อ.สิงหนคร อ.สะเดา อ.เทพา อ.คลองหอยโข่ง อ.รัตภูมิ อ.หาดใหญ่ อ.บางกล่ำ อ.จะนะ อ.เมืองสงขลา อ.สะบ้าย้อย อ.ควนเนียง

จ.ปัตตานี : อ.สายบุรี อ.กะพ้อ อ.ไม้แก่น อ.ทุ่งยางแดง อ.ยะรัง อ.ปะนาเระ อ.หนองจิก อ.เมืองปัตตานี อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.โคกโพธิ์ อ.แม่ลาน

จ.ยะลา :อ.รามัน อ.เบตง อ.ธารโต อ.เมืองยะลา อ.บันนังสตา

จ.นราธิวาส :อ.สุไหงปาดี อ.แว้ง อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก อ.บาเจาะ อ.สุคิริน อ.รือเสาะ อ.เมืองนราธิวาส อ.ระแงะ อ.ศรีสาคร อ.ยี่งอ อ.จะแนะ อ.เจาะไอร้อง

เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ

จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ปัจจุบันปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระดับที่มีความเสี่ยง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเขื่อนด้วย


​เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาคลองชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 12 – 14 ธ.ค. 67 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และระนอง

นายภาสกร บุญลักษม์ อธิบดี ปภ. จึงได้สั่งการให้ทีมปฏิบัติการจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี นำกำลังพลพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยกระจายความช่วยเหลือลงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในความรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตข้างเคียงที่ไม่มี

ด้านนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จ.นครศรีธรรมราช และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณสถานี X.275 (หน้าเมือง) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ สทนช. เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่างและมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนตกหนักและหนักมาก

ตั้งแต่วันที่ 12-14 ธ.ค. 67 โดยปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 4 จังหวั

จ.ชุมพร (อ.ทุ่งตะโก อ.สวี อ.เมือง อ.ปะทิว และ อ.หลังสวน)

จ.สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก อ.ท่าชนะ และ อ.ท่าฉาง)

จ.นครศรีธรรมราช (อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมืองฯ อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ และอ.พระพรหม)

จ.ระนอง (อ.กระบุรี)

โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำในคลองท่าดี อ.เมืองนครศรีธรรมราช เพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่ง จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด คาดการณ์ว่า วัน​14 ธ.ค. 67​ เวลาประมาณ 21.00 น. ปริมาณน้ำจากต้นน้ำคลองท่าดีที่ไหลมาสมทบคลองนครน้อย จะส่งผลต่อพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ต.ไชยมนตรี หมู่ 5 ต.มะม่วงสองต้น หมู่ที่ 2 ชุมชนบ่อทรัพย์ ชุมชนท่าช้าง ชุมชนหน้าสถานนีรถไฟสะพานยาว ชุมชนสะพานรถไฟนอกโคก และบางส่วนของชุมชุนมุมป้อม ชุมชนท่าช้าง ชุมชนลูกแม่อ่างทอง ชุมชนเทวบุรี คลองห้วย ชุมชนป่าโล่ง

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัด อำเภอ ทหาร ตำรวจ จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ได้เข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว โดยเฉพาะการอพยพกลุ่มผู้เปราะบางและสัตว์เลี้ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ เรือ และรถตรวจการณ์เฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ การคาดการณ์จากฝน One Map ยังพบว่า ในช่วงวันที่ 14-16 ธ.ค. 67 จะยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยหลังนั้นจะมีแนวโน้มลดลง และเข้าสู่สภาวะปกติใน 2-3 วัน

ที่ประชุมวันนี้ได้มีมติมอบหมายให้ สทนช.ประสานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อนำไปซ้อนทับกับข้อมูลผังน้ำ สำหรับใช้คาดการณ์พื้นที่น้ำท่วมในระดับตำบล และมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ระดมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น เรือ เครื่องสูบน้ำ และบุคลากร เพื่อเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ จ.ชุมพรและนครศรีธรรมราช ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมข้อมูลการระบายน้ำของเขื่อนบางลางในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน หากต้องเปิดทางน้ำล้นหรือสปิลเวย์ (spillway) รวมทั้งประสานกรมทางหลวง เพื่อขอข้อมูลเส้นทางสัญจรที่ถูกน้ำท่วม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบอีกช่องทางหนึ่งด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active