ยอมรับ หากไทยยังไม่ตื่นภัยยุคโลกร้อน ยิ่งสูญเสียหนัก จี้ผลักดันจัดทำ ‘แผนที่เสี่ยงภัย’ เป็นวาระแห่งชาติ วอน ผู้มีอำนาจ จริงจัง ลงพื้นที่ ติดตาม ตรวจสอบ จุดเสี่ยงก่อนเกิดภัย ไม่ใช่แค่ไปถ่ายรูปตอนเกิดเหตุ พร้อมหนุนงบฯ ซักซ้อมกู้ชีพ กู้ภัย ซ้อมแผนอพยพ สม่ำเสมอ เชื่อคนตายจากภัยพิบัติจะน้อยลง
วันนี้ (19 ธ.ค. 67) ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 22 พ.ย. – 19 ธ.ค. 67 พบว่า เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส รวม 118 อำเภอ 790 ตำบล 5,841 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 779,145 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 46 คน
ขณะที่ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 2 จังหวัด รวม 37 อำเภอ 178 ตำบล 1,122 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 90,735 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 16 คน ได้แก่
- จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 17 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง อ.เมืองฯ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก อ.บ้านนาสาร อ.เกาะพงัน อ.เกาะสมุย อ.วิภาวดี อ.เคียนซา อ.เวียงสระ อ.บ้านนาเดิม อ.พุนพิน อ.คีรีรัฐนิคม อ.พระแสง และอ.พนม รวม 109 ตำบล 811 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 35,458 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 คน ปัจจุบันแม่น้ำตาปีมีระดับน้ำลดลง
- จ.นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 20 อำเภอ ได้แก่ อ.ขนอม อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.พิปูน อ.พรหมคีรี อ.ฉวาง อ.เมืองฯ อ.ลานสกา อ.พระพรหม อ.ปากพนัง อ.นาบอน อ.ร่อนพิบูลย์ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งสง อ.เชียรใหญ่ อ.จุฬาภรณ์ อ.หัวไทร อ.บางขัน อ.ชะอวด และอ.ทุ่งใหญ่ รวม 69 ตำบล 311 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 55,277 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 คน ปัจจุบันคลองท่าดีระดับน้ำลดลง
สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) ยอมรับกับ The Active ว่า น่าเป็นห่วงอย่างมากโดยเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างน่าตกใจ จึงอยากสื่อสารกับสังคมว่า นับจากนี้อุบัติภัย ภัยพิบัติจะมีแต่เข้มข้นขึ้น ถี่ขึ้น และเกิดเหตุที่แปลก ๆ มากขึ้น เป็นสิ่งที่สังคมต้องรับมือและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะโลกร้อน ความเสียหาย คนตายจะเกิดขึ้นมาไปเรื่อย ๆ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำอะไรเลย
พิจิตต มองว่า สิ่งที่ต้องทำทันที คือ เรียกร้องให้ภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม และประชาชนในแต่ละพื้นที่ช่วยกันประเมินความเสี่ยงพื้นที่ของตัวเองโดยด่วน ตั้งแต่ภาคใต้ ไปจนถึงภาคเหนือ อย่างคิดว่าภัยพิบัติจะไม่เกิดขึ้น ต้องรู้อยู่เสมอว่าทุกพื้นที่มีความเสี่ยงได้หมด โดยเฉพาะจุดไหนที่มีความเสี่ยงสูง ต้องทำแผนที่ความเสี่ยง จับจุดเฝ้าระวังหลาย ๆ จุดโดยด่วน โดยจำเป็นต้องอาศัยกรมแผนที่ทหาร, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), กรมชลประทาน, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องช่วยกันจริง ๆ สักที ที่สำคัญทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เรื่องประเมินความเสี่ยงพื้นที่ทั่วประเทศ
ประธานเครือข่าย TNDR บอกด้วยว่า อีกประเด็นสำคัญที่อยากบอกคือ ไม่อยากเห็นการลงพื้นที่ประสบภัยของบรรดา นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี และผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ไปในพื้นที่เกิดเหตุภัยพิบัติอีก เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ได้แค่ไปถ่ายรูปก็กลับ แต่สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด คือ ต้องลงไปเยี่ยมก่อนเกิดเหตุด้วย
“พื้นที่ไหนเสี่ยงภัย พื้นที่ไหนมีปัญหา ผู้หลัก ผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ต้องลงไปเยี่ยม ไปตรวจสอบความเสี่ยงต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ อยากให้ออกตรวจเยี่ยมพื้นที่เสี่ยงภัยบ่อย ๆ ไม่ต้องถึงมือนายกฯ หรือ รัฐมนตรีก็ได้ แต่ขอให้เป็นเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ต้องลงไปเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ไปตอนเกิดเหตุ มันไม่ช่วยอะไรเลย ต้องไปกำกับดูแลก่อนเกิดเหตุจะดีกว่า”
พิจิตต รัตตกุล
พิจิตต ยังเรียกร้องให้ การจัดสรรงบประมาณ ทั้งจากกรรมาธิการงบฯ สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ต้องพยายามทำงบฯ เพื่อป้องกัน และทำให้คนตายน้อยลง และทำให้งบฯ ถูกนำมาใช้ก่อนเกิดเหตุ ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วมาของบฯ ไม่ได้ช่วยอะไร ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดอยู่เสมอว่า ทำยังไงให้ความเสียหายลดน้อยลง
ส่วนการใช้งบฯ ก่อนเกิดเหตุนั้น ประกอบด้วย การใช้งบฯ เพื่อลดความเสี่ยงแต่ละจุดที่ประเมินกันไว้แล้ว เช่น ที่ลาดเชิงเขา ที่ดินแลนด์สไลด์ ที่มีอยู่จำนวนมาก ตั้งแต่ภาคเหนือ ถึงภาคใต้ จากที่เคยมีอยู่พันกว่าแห่ง เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนี้มีพื้นที่เสี่ยงเป็นหมื่นกว่าแห่งที่พร้อมถล่มลงมา ทำยังไงจึงจะลดความเสี่ยงให้ประชาชนได้ ก็ต้องเร่งใช้งบฯ เพื่อแก้ปัญหาลดความเสียง อย่างการเปลี่ยนทางน้ำไหลบนเขา, การมีสิ่งกีดขวางกันการถล่มลงมาของดิน การลดความเสี่ยงในพื้นที่ราบ เช่น ที่โล่ง น้ำหลากมาโดยไม่มีอะไรพยุงไว้ได้ ทะลักเข้ามาก็ท่วมหนักทันที บางพื้นที่เคยมีป่า แต่พื้นที่เปลี่ยนไปไม่มีต้นไม้จะทำอย่างไรจึงจะลดความแรงของน้ำได้ เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่ม อย่าง กทม. ซึ่งก็ใช้วิธีการทำคันล้อม แล้วสูบน้ำออก นี่ก็เป็นการใช้งบฯ แก้ปัญหาก่อนเกิดเหตุ
อีกเรื่องสำคัญที่ต้องลงทุนใช้งบฯ ทำก่อนเกิดเหตุ คือ ระบบเตือนภัย เมืองไทยพูดเรื่องนี้กันบ่อยในช่วงที่เกิดทุกครั้ง แต่จากนี้ต้องเร่งใช้งบฯ ทำโดยด่วน เช่น การติดตั้งเทเลมาตรในพื้นที่เสี่ยงภัย การเตือนภัยก็ต้องสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ ให้ชาวบ้านมั่นใจ ตรงนี้สำคัญ เพื่อให้อพยพได้ทัน นอกจากนั้นอีกหัวใจสำคัญ คือ ต้องใช้งบฯ ก่อนเกิดเหตุไปกับการซ้อมใหญ่ การกู้ชีพ กู้ภัย ในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติ ต้องซ้อมด้วยกันบ่อย ๆ
“การอพยพ ไม่ใช่แค่น้ำท่วมอย่างเดียว ต้องหาวิธีซักซ้อมการอพยพชาวบ้านที่อยู่ตามไหล่เขา นี่คือเหตุผลที่ต้องกลับไปเรื่องเดิม คือ เราต้องมีแผนที่เสี่ยงภัยในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยง จะได้ใช้งบฯ ก่อนเกิดเหตุลงไปลดความเสี่ยงนั้น ถ้าซ้อมบ่อย ๆ ถ้าเตือนภัยได้ดี อพยพได้ทัน คนจะตายน้อยลง เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่ชาวบ้านตาย แต่คนไปช่วยก็ตาย จึงต้องซ้อมกู้ชีพ กู้ภัยด้วยกันบ่อย ๆ สำคัญที่สุดคือชุมชนต้องเข้มแข็ง และรู้จุดเสี่ยง จุดปลอดภัยของตัวเอง จะทำให้ไม่มีใครเจ็บ ใครตายจากภัยพิบัติอีก”
พิจิตต รัตตกุล