ย้ำ โจทย์ท้าทาย รัฐต้องเร่งสร้างความน่าเชื่อถือ ชัดเจนข้อมูลแผนที่เสี่ยง ซ้อมแผนอพยพ หนีภัย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ด้าน ปภ. มั่นใจ คนไทยได้ใช้ Cell Broadcast ลดความสูญเสีย จากทุกภัยพิบัติ
หลังเหตุการณ์สึนามิ 26 ธ.ค. 2547 ทั่วโลกตระหนักถึง ภัยพิบัติ ที่ต้องใช้ความร่วมมือระว่างประเทศเพื่อรับมือ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ระบบเตือนภัยก่อนเกิดภัย’ เพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด ในโอกาสวันรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เรื่องระบบการเตือนภัย (Early Warning System) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการพูดคุย
Mr. Conradin Rasi Deputy Head of Mission, Embassy of Switzerland in Thailand (รองหัวหน้าคณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย) เล่าว่า ในช่วงเวลาสึนามิ 2547 ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้กว่า 100 คน ความสูญเสียยังคงอยู่ในความทรงจำ และเป็นสิ่งที่ทำให้ควรมีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งสำคัญ
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2547 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยังให้ความช่วยเหลือในหลายเรื่องทั้งการช่วยเหลือฉุกเฉิน การฟื้นฟู รวมถึง ความคืบหน้าของระบบ Internet of Things (IoT) ที่มีระบบการแจ้งเตือนร่วมกัน 21 ประเทศ รวมถึง กองทุนจัดการภัยพิบัติที่ทำให้มีความพร้อมให้การประเมินภัยพิบัติ หลังปี 2547 และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นยังสะท้อนว่า “เราไม่สามารถจัดการเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ เพื่อต่อสู้กับภัยพิบัติอย่างเข้มแข็ง“
‘สึนามิ’ สู่ การพัฒนาระบบเตือนภัย ไทยพร้อมแค่ไหน ?
ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนจาก ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, สภากาชาดไทย, GISTDA, เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) ฯลฯ มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ บทบาทความร่วมมือระหว่างประเทศ
พล.อ.อ. สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลไทย พยายามพัฒนาระบบจากคนที่ไม่มีความรู้อะไรเลย โดยเฉพาะระบบการเตือนภัย ซึ่งในช่วงเวลานั้นประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การแจ้งเตือนล่วงหน้าจากประเทศที่เคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้มาก่อน จนพัฒนาสู่ความร่วมมือระดับประเทศ
จนถึงวันนี้ ไทยยังมีส่วนร่วมทดสอบระบบการเตือนภัยอย่างเป็นระยะ พร้อมเสนอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ ส่งข้อมูลเชิงลึก ให้หน่วยงานรับข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำได้สะดวกรวดเร็ว เพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา
โดยย้ำว่า กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายอยู่ในมือ หากมีข้อมูลการบูรณาการที่มากเพียงพอ ก็จะยิ่งทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ และทำให้ชุมชน ท้องถิ่นใกล้ภัยพิบัติ ตัดสินใจต่อสถานการณ์ภัยพิบัติได้ง่ายมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ย้ำว่า การจัดการภัยพิบัติประเทศไทย มีทิศทางที่ดีมากขึ้น และในอนาคตจะได้เห็นความคืบหน้าของ การจัดทำระบบแจ้งเตือนภัย (Thai Emergency Alert) ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือเซลล์บอร์ดแคสต์ (Cell Broadcast) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอีกระดับที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ได้รับการเตือนภัยที่ถูกที่ ถูกภัย และถูกเวลามากขึ้น
ความท้าทาย-ข้อเสนอจัดการภัยระดับท้องถิ่น
นอกจากข้อเสนอ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างตัวแทนประเทศไทย กับนานาประเทศแล้ว การจัดการภัยพิบัติในระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ถูกพูดคุยในวงเสวนาเรื่องระบบการเตือนภัยเช่นกัน โดยตัวแทนประเทศไทยจากหลายหน่วยงาน มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงความท้าทาย และข้อเสนอที่หน่วยงานในประเทศไทยควรเร่งทำเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รศ.ไพศาล สันติธรรมนนท์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเทคนิค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุถึงความท้าทายส่วนแรกของงานเตือนภัย ไทยจำเป็นต้องอัพเดทข้อมูลชายฝั่งให้มีความละเอียดมากขึ้น เทคโนโลยีโดรน ช่วยทำงานได้มากขึ้น รวมถึง เทคโนโลยีอวกาศ ที่ช่วยตรวจจับ ติดตามประชากรได้ในระยะทางนับร้อยเมตร เป็นข้อมูลที่ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงได้มากขึ้น การทำแผนที่ละเอียดชัดเจน ก็จะทำให้หน่วยงานอย่าง ปภ. ในพื้นที่เข้าใจ อ่านแผ่นที่ประเมินความเสี่ยงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ วีระชาติ วิเวกวิน นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า กรมทรัพยากรธรณี เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนข้อมูล ด้านแผ่นดินไหว และพร้อมแชร์ข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา กับเครือข่ายนานาชาติ ก่อนหน้านี้ได้ใช้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ ที่ค่อนข้างเก่า ความท้าทายเวลานี้อาจจะต้องอัพเดทข้อมูลให้ทันสมัย ถูกต้องที่สุด เพื่อวางแผนลดผลกระทบการบริหารจัดการภัยสึนามิ ให้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
เร่งปิดช่องว่างการสื่อสาร รัฐ-ชุมชน
ขณะที่ ปิยวัฒน์ ขนิษฐบุตร เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) บอกว่า TNDR เป็นหน่วยงานรุ่นแรกที่ลงพื้นที่บ้านน้ำเค็ม ใช้กระบวนการจัดการภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBDM) จนมาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านมีองค์ความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติที่แซงหน้าหน่วยงานราชการไปแล้ว ดังนั้น “ชุมชนเข้มแข็งด้วยระบบเตือนภัยสึนามิ” เป็นภาพฝันที่อยากให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร เพราะเวลานี้การสื่อสารระหว่างระบบราชการและชุมชน ยังมีช่องว่าง
เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย จึงมีข้อเสนอสร้างความพร้อมระบบเตือนภัยสึนามิประเทศไทย ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ
- เตือนภัยสึนามิแล้วต้องเชื่อถือได้
- ต้องเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- มีแผนที่เสี่ยงภัยมากขึ้น ข้อมูลละเอียดขึ้น
- มีแผนอพยพชุมชน และฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ
“ความท้าทายจากนี้คือ จะเตือนภัยประชาชนอย่างไรให้ครบวงจร หมายความว่า เตือนแล้วต้องผ่านกระบวนการเตรียมรับมือจากทุกองค์กร และตอนภัยสงบก็สามารถส่งตัวประชาชนกลับมายังจุดที่ต้องฟื้นฟู อย่างรวดเร็วและครบวงจร เวลานี้ TNDR มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ จากกว่า 200 มหาวิทยาลัย พร้อมจะสนับสนุนสร้างนวัตกรรม ที่จะช่วยทำให้ชาวบ้าน และชุมชนมีองค์ความรู้ จัดการตัวเองได้ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ”
ปิยวัฒน์ ขนิษฐบุตร