จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในเมียนมา (28 มี.ค. 68) จนแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งผลให้ประชาชน อาคารสูงได้รับผลกระทบนั้น
โดย กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน ความรุนแรงของอาฟเตอร์ช็อค ว่าขึ้นอยู่กับการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนแต่ละครั้ง จึงอาจพบความรุนแรงเพิ่มขึ้น และลดลงสลับกันได้ การลดลงของความรุนแรงจึงไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวจะสิ้นสุด ทั้งนี้ อาจสังเกตได้จากจำนวนความถี่การเกิดอาฟเตอร์ช็อคที่ลดปริมาณลง
ครั้งที่ 1 เวลา 13.32 น. ขนาด 7.1
ครั้งที่ 2 เวลา 13.45 น. ขนาด 5.5
ครั้งที่ 3 เวลา 14.24 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 4 เวลา 14.37 น. ขนาด 5.2
ครั้งที่ 5 เวลา 14.42 น. ขนาด 3.9
ครั้งที่ 6 เวลา 14.50 น. ขนาด 3.5
ครั้งที่ 7 เวลา 14.57 น. ขนาด 4.7
ครั้งที่ 8 เวลา 15.21 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 9 เวลา 15.45 น. ขนาด 3.7
ครั้งที่ 10 เวลา 15.52 น. ขนาด 3.8
ครั้งที่ 11 เวลา 16.06 น. ขนาด 4.2
ครั้งที่ 12 เวลา 16.11 น. ขนาด 3.8
ครั้งที่ 13 เวลา 16.26 น. ขนาด 4.3
ครั้งที่ 14 เวลา 16.30 น. ขนาด 4.5
ครั้งที่ 15 เวลา 16.55 น. ขนาด 4.9
ครั้งที่ 16 เวลา 17.28 น. ขนาด 3.1
ครั้งที่ 17 เวลา 17.30 น. ขนาด 4.1
ครั้งที่ 18 เวลา 17.50 น. ขนาด 3.0
ครั้งที่ 19 เวลา 17.53 น. ขนาด 2.8
ครั้งที่ 20 เวลา 17.59 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 21 เวลา 18.10 น. ขนาด 3.3

ผอ.ปภ. เผย อาคารถล่มย่านจตุจักร เพราะ ยังไม่เซ็ตตัว
สุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักครั้งนี้ เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดภายหลังอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า เบื้องต้นสภาพพื้นที่เป็นอาคารอยู่ระหว่างก่อสร้าง ความแข็งแรงของตัวอาคารยังไม่เซ็ตตัว หลังเกิดการสั่นไหวจึงทำให้พังลงมา โดยพังลงมาเป็นชั้น ๆ เหมือนเค้ก จากข้อมูลที่ได้จากก่อสร้าง พบว่า มีคนงานในพื้นที่ 94 คน ส่วนจำนวนร้อยกว่าคนคือคนงานที่อยู่บริเวณรอบ ๆ โดยสามารถช่วยเหลือไปส่งโรงพยาบาลได้แล้ว 11 คน และมีผู้ที่ตกค้างและพบสัญญาณชีพ 1 คน ส่วนอีก 3 คนเสียชีวิตไปแล้ว
สุริยชัย ยังกล่าวว่า ในส่วนการทำงานเบื้องต้น ได้รับการสนับสนุนจากทหาร ตำรวจ มูลนิธิ ภาคประชาชน ที่นำหุ่นยนต์มาช่วยค้นหา เพราะตัวอาคารที่พังลงมายังไม่มั่นคง การเข้าไปจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ จากการพิจารณาเบื้องต้นได้มีการใช้โดรนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้บินสำรวจและถ่ายภาพด้วยกล้องอินฟาเรด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหา
“เบื้องต้นสิ่งที่ต้องโฟกัสลำดับแรกคือการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต โดยวิธีการค้นหาจะใช้กำลังพลเดิน และช่วยกันฟังเสียง ในกรณีที่มีการเคาะหรือร้องให้ช่วย”
สุริยชัย รวิวรรณ
นอกจากนี้ สุริยชัย ยังระบุว่า สุดท้ายแล้วหากยืนยันได้ว่าไม่พบผู้มีสัญญาณชีพ ก็จะพิจารณาในขั้นตอนต่อไป และขณะนี้กำลังระดมคนเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ด้านใน ส่วนอุปสรรคในการทำงานขณะนี้ คือ ส่วนของอาคารที่ยังไม่มั่นคงและทับลงมา ทั้งนี้ยังมีระบบเครื่องมือเซฟตี้เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการทำงาน คือ เครื่องตรวจจับการสั่นไหวของอาคาร
กทม. ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย ระดับ 2
กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ต้องเร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และเฝ้าระวังในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งแก้ปัญหาในพื้นที่ที่อาจยังมีอันตรายและมีผลกระทบต่อสาธารณชน อันเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564- 2570 จึงประกาศให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550
แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564- 2570 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการสาธารณภัยระดับที่ 2 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บัญชาการ หรือแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกฎหมายระเบียบ คำสั่งประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป
กทม. เปิดสวนสาธารณะ ให้ประชาชนพัก 24 ชม.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการประกาศสั่งเปิดสวนสาธารณะตลอดคืน พร้อมนำรถน้ำดื่ม/รถสุขา ดูแลประชาชนที่พักรอ เนื่องจากการจราจรติดขัด หรือไม่สามารถกลับเข้าที่พักได้สะดวก ได้แก่ สวนลุมพินี สวนเบญจสิริ สวนเบญจกิติ สวนจตุจักร
ขณะที่ กฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม โฆษกกระทรวงคมนาคม ระบุว่า รถไฟฟ้าจะหยุดให้บริการทั้งหมด เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจ คาดใช้เวลาอย่างน้อยถึงพรุ่งนี้เช้า (29 มี.ค.68)
อีกทั้ง มีการประกาศปิดทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางขึ้น-ลงด่านดินแดงชั่วคราว รวมทั้งมีการหยุดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะบางเส้นทาง
อย่างไรก็ดี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดรถ Shuttle Bus ให้บริการเสริม รับ-ส่งผู้โดยสารเข้าเมือง จำนวน 5 คัน ซึ่งจะจอดรอรับผู้โดยสารบริเวณด้านหน้าชานชาลาอาคารผู้โดยสาร ชั้น 1 บริเวณประตู 4 ไปยังจุดหมายปลายทาง 3 เส้นทางหลัก
- เส้นทางบางนา จะไปส่งที่ Market Village สุวรรณภูมิ
- เส้นทางลาดกระบัง จะไปส่งที่ สถานีรถไฟลาดกระบัง
- เส้นทางสุขสมาน จะไปส่งที่ สามแยกสุขสมาน ลาดกระบัง
โดย ทสภ. จะให้บริการต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์การขาดแคลนแท็กซี่จะคลี่คลาย
โรงพยาบาลหลายแห่งปิดให้บริการ
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แจ้งปิดบริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ทั้งคลินิกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยผ่าตัดนอกเวลาราชการเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 28 – 29 มี.ค. 2568
- โรงพยาบาลศิริราช แจ้งงดบริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการทั้งหมด รวมถึง Siriraj H Solution ที่อาคาร ICS ตั้งแต่วันที่ 28 – 30 มี.ค. 2568
- โรงพยาบาลรามาธิบดี แจ้งงดให้บริการคลินิกนอกเวลาและคลินิกพิเศษนอกเวลา รวมถึงผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดไม่เร่งด่วน ในวันที่ 28 มี.ค. 2568
- โรงพยาบาลราชวิถี แจ้งปิดบริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการทุกแผนกในวันที่ 28 – 29 มี.ค. 2568 สำหรับผู้ป่วยในของโรงพยาบาลราชวิถี ได้อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ทางโรงพยาบาลอยู่ระหว่างการประเมินความปลอดภัยของอาคาร
- สถาบันประสาทวิทยา แจ้งงดบริการคลินิกนอกเวลาราชการ ในวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. 2568 โดยผู้ป่วยฉุกเฉินทางระบบประสาท สามารถเข้ารับบริการที่แผนกฉุกเฉินสถาบันประสาทวิทยา ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- โรงพยาบาลสิรินธร แจ้งของดให้บริการคลินิกนอกเวลาชั่วคราว ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเท่านั้น
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ แจ้งงดบริการ คลินิกนอกเวลา ในวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. 2568 ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเท่านั้น
- โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งงดการให้บริการคลินิกผู้ป่วยนอกทั้งหมดในวันนี้ (28 มี.ค.68)
- โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี แจ้งต้องการออกซิเจนจำนวนมาก เพราะเหตุแผ่นดินไหวต้องย้ายเด็กอ่อนออกจากตึก