‘รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์’ ย้ำ ติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนตามชั้นต่าง ๆ ในอาคารสูง ช่วยประเมินความเสี่ยง ชี้ ไทยพัฒนา ผลิตเซนเซอร์เตือนภัยได้ แต่ยังมีอุปสรรค ที่นโยบาย กฎหมาย ไม่ได้บังคับ ไร้หน่วยงานรับผิดชอบ
วันนี้ (31 มี.ค. 68) รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลผ่าน รายการตรงประเด็น ถึงสถานการณ์ภายหลังเกิดผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมียนมา โดยระบุว่า ในกรุงเทพฯ วันนี้ไม่น่าเป็นกังวล โดยข้อมูลจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ ไม่พบแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงพอจะรู้สึกได้
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็กจาก Main Shock ที่อยู่ห่างออกไปประมาณพันกิโลเมตร ซึ่งไม่มีแรงมากพอที่จะส่งผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ
“การที่ประชาชนรู้สึกถึงการสั่นไหวอาจเกิดจาก post-earthquake syndrome ความหวาดกลัวหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรืออาจเป็นวัสดุอาคาร เช่น ฝ้าเพดานที่ไม่ได้หล่นในตอนแรก แต่มาหล่นภายหลัง”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

รับมือ-ตรวจสอบหลังแผ่นดินไหวด้วยตัวเอง
สำหรับการรับมือกับรอยร้าวในอาคาร รศ.สุทธิศักดิ์ ชี้แจงว่า มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวในอาคารสมัยใหม่ เน้นให้อาคารมีความเหนียว ไม่แข็งเกร็งจนเกินไป เพราะอาคารที่แข็งเกินไปจะเสี่ยงต่อการหักโดยไม่มีการเตือน
รอยร้าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ต้องประเมินว่า รอยร้าวเหล่านี้เกิดที่โครงสร้างหลักหรือไม่ เช่น เสา คาน หรือเป็นเพียงรอยร้าวที่ผนังอิฐก่อ โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้เองจากคู่มือของ กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่มีวิธีประเมินความเสียหายเบื้องต้น
ผู้เชี่ยวชาญ ยังให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ว่า ในอาคารสูง ไม่ควรพยายามวิ่งออกจากอาคารทันที แต่ควรหลบอยู่ใต้โต๊ะ รอให้การสั่นสะเทือนหยุดแล้วจึงอพยพ หากอยู่ชั้นล่างใกล้ทางออก สามารถวิ่งออกไปในที่โล่งได้ ที่สำคัญ แม้หลังแผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว อย่าเพิ่งรีบขึ้นตึก และควรระมัดระวังเพราะโครงสร้างอาคารอาจอ่อนแอลง
“อย่างกรณีคอนโดที่ผ่านมา ได้ข่าวว่าบางคนหลังแผ่นดินไหวก็ไม่หลบ ซึ่งอันตรายมาก เพราะเราไม่รู้ว่าโครงสร้างอาคารอ่อนลงหรือยัง อาจเกิดการพังทลายตามมาได้”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

พัฒนาอาคาร ให้พร้อมรับแผ่นดินไหว
รศ.สุทธิศักดิ์ ยังแนะนำให้มีการติดตั้งระบบ Building Health Monitoring หรือ ระบบติดตามสุขภาพอาคาร โดยติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนตามชั้นต่าง ๆ ของอาคารสูง ตามตำแหน่งที่วิศวกรคำนวณไว้ ระบบนี้จะช่วยประเมินว่า การสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่ออกแบบไว้หรือไม่ และอยู่ในระดับอันตรายหรือไม่
“เทคโนโลยีนี้ สามารถทำงานแบบอัตโนมัติ เตือนภัยให้อพยพได้เมื่อมีความจำเป็น เหมือนเซนเซอร์ตรวจวัดสุขภาพสำหรับอาคาร” ตอนไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น เวลาเกิดแผ่นดินไหวเล็ก ๆ คนญี่ปุ่น ก็ไม่ตื่นตระหนกและทำงานต่อ โดยจะรอสัญญาณเตือนภัยระบบอัตโนมัติ ที่จะเป็นตัวกำหนดให้คนหนี”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
สำหรับประเทศไทย มีการพัฒนาเซนเซอร์เตือนภัยนี้อยู่แล้ว อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยสามารถผลิตเครื่องมือเหล่านี้ได้ โดยนำร่องติดตั้งระบบที่เชียงราย โดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษาฯ และโรงพยาบาลบางแห่ง มีการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว
แต่ยังมีความท้าทายด้านนโยบายและกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เครื่องมือเหล่านี้ และไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบดูแลเซนเซอร์หรือเป็นผู้ถือเครือข่ายข้อมูล
“มันเป็นเรื่องใหม่ กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึงต้องมีการผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

ในอนาคตจะเกิดแผ่นดินไหวในไทยอีกหรือไม่ ?
ส่วนในระยะยาว รศ.สุทธิศักดิ์ เสนอให้มีการสำรวจรอยเลื่อนทั้งในและนอกประเทศให้ครบถ้วน ตรวจสอบว่ารอยเลื่อนในประเทศไทย เช่น รอยเลื่อนนครนายก ยังคงแอคทีฟหรือไม่
“ควรให้ความสำคัญกับการสำรวจรอยเลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้วิศวกรมีข้อมูลเพียงพอในการออกแบบอาคาร”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำว่า ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเอง และเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างอาคารที่ตนอาศัยอยู่มากขึ้น โดยยกกรณีการเกิดภัยที่เชียงรายหลายปีที่ผ่านมา
“เชียงรายเคยประสบภัยแผ่นดินไหวเมื่อปี 57 องค์ความรู้จึงอยู่ที่นั่น จากเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเมื่อประสบภัยแล้วต้องทำยังไงต่อ”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
ชมย้อนหลังรายการตรงประเด็น ตอน ค้าหา กู้ภัย ไปต่อ ? (31 มี.ค. 68)