สมัชชาสุขภาพ กทม. จัดเวทีถกปัญหา ‘สูงวัยในอาคารสูง’ เตรียมแผนรับมือภัยพิบัติในคอนโด 17 – 18 พ.ค.นี้ เปิดแนวคิด ‘เครือข่ายนิติบุคคลคอนโด’ แก้ปัญหาพื้นที่ชุมชนล้อมรั้ว หนุนดูแลผู้อยู่อาศัยยามวิกฤต ผู้เชี่ยวชาญชี้ กทม.มีนิติบุคคลอาคารชุดหมื่นแห่ง แต่ยังขาดระบบรองรับมาตรฐาน ‘ผู้จัดการนิติบุคคล’
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้าในการผลักดัน เครือข่ายนิติบุคคลคอนโด เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ และดูแลสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในอาคารสูง โดยระบุว่า ต้นทางของแนวคิดนี้เกิดจากการตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในอาคารสูง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งมักอยู่ภายใต้ระบบ ชุมชนล้อมรั้ว หรือพื้นที่ส่วนบุคคล การเข้าไปดำเนินงานด้านสุขภาพโดยหน่วยงานรัฐในพื้นที่เหล่านี้จึงทำได้ยาก โดยเฉพาะหากไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉิน
“ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขในคอนโด แต่มักไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากผู้อยู่อาศัยในลักษณะนี้มักมีวิถีชีวิตแบบแยกกันอยู่ และใช้เวลาส่วนใหญ่นอกที่พักอาศัย”
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท

อย่างไรก็ตาม วิกฤตแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นโอกาสในการรวมตัวกันระหว่างนิติบุคคลของแต่ละอาคาร เพื่อร่วมมือรับมือภัยพิบัติและดูแลสุขภาพของชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุในเมือง
ประเด็นนี้จึงถูกหยิบยกเข้าสู่เวที สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเวทีนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยมีแผนจัดกิจกรรมในงาน Bangkok Expo ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
- การดูแลผู้สูงอายุในอาคารสูง (จัดวันที่ 17 พ.ค. 68) ภายใต้หัวข้อ “สูงวัยในอาคารสูง”
- การจัดการภัยพิบัติในคอนโดมิเนียม (จัดวันที่ 18 พ.ค. 68)
ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ การเคหะแห่งชาติ สำนักอนามัยและสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
“เป้าหมายคือการสร้างเครือข่ายนิติบุคคลคอนโดที่มีความเข้มแข็งจริงจัง โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม การจัดเวที และวางแผนร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งนี้ตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือมีให้เห็นแล้ว เช่น กรณีของคอนโดลุมพินี ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นต้นแบบที่นิติบุคคลคอนโดอื่น ๆ สามารถเรียนรู้ได้”
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือข้อเสนอให้มีการอบรมเฉพาะทางสำหรับ ผู้จัดการนิติบุคคลคอนโด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจน ทั้งที่ตำแหน่งนี้ต้องการความรู้เฉพาะทางในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์วิกฤต หากผลักดันสู่ระเบียบของ กทม. ได้ ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานของการจัดการคอนโดมิเนียมทั้งระบบ
นพ.วิรุฬ ยังกล่าวถึงการเตรียมการก่อนถึงวันที่ 17 – 18 พ.ค. 68 ว่า สถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ (SHI) จะจัดทำแบบฟอร์มสำรวจความคิดเห็นประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารสูง เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกและใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพัฒนานโยบาย โดยจะเปิดให้แสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 15 พ.ค. นี้ ก่อนสรุปและนำเสนอในเวทีดังกล่าว

‘ผู้จัดการนิติบุคคล’ หัวใจของความปลอดภัยในคอนโด
ขณะที่ พันธ์ยศ เจนหัตถ์คุณ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยกับ The Active ด้วยว่า ตอนนี้กำลังเร่งทำวิจัยเรื่องการรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ซึ่งมองว่า ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด มีบทบาทสำคัญมากในการดูแลความปลอดภัยของประชากรที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความหนาแน่นสูง
พันธ์ยศ บอกด้วยว่า ปัจจุบันข้อมูลจำนวนอาคารชุดในกรุงเทพฯ อาจหาได้จากแหล่งเปิดบางแห่ง เช่น เว็บไซต์ของกรมที่ดินหรือสำนักงานส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่การจะรู้จำนวน นิติบุคคลอาคารชุด ทั้งหมดอย่างแม่นยำยังต้องรวบรวมข้อมูลเอง
“เท่าที่ผมรวบรวมตัวเลขเบื้องต้น พบว่าตั้งแต่เริ่มมี พ.ร.บ.อาคารชุด จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) น่าจะมี นิติบุคคลอาคารชุด ในกรุงเทพฯ อยู่หลักหมื่นแห่งแล้ว ซึ่งหมายความว่า จะต้องมี ผู้จัดการนิติบุคคล อย่างน้อย หนึ่งคนต่อหนึ่งโครงการ ตามที่กฎหมายกำหนด เท่ากับว่าตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ที่ทำหน้าที่นี้อยู่ไม่น้อยกว่า หมื่นคนแล้ว”
พันธ์ยศ เจนหัตถ์คุณ
พันธ์ยศ ยังระบุว่า ผู้จัดการนิติบุคคล เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเสมือนศูนย์กลางในการบริหารจัดการอาคาร ดูแลความปลอดภัย ทรัพย์สิน และประสานงานทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีระบบรองรับหรือหลักสูตรอบรมที่ชัดเจนสำหรับอาชีพนี้ ต่างจากหลายประเทศที่มีระบบสอบใบอนุญาตและมาตรฐานวิชาชีพที่ชัดเจน
ที่ผ่านมา มีความพยายามในอดีตของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ซึ่งเคยจัดทำมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดในระดับ 5, 6 และ 7 พร้อมทั้งเคยมีการสอบในระดับ 5 ซึ่งเขาเองเคยมีส่วนร่วมเป็นผู้ออกข้อสอบและกรรมการสัมภาษณ์ด้วย แต่หลังจากช่วงโควิดกิจกรรมดังกล่าวก็เงียบหายไป
“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่ กทม. ควรลุกขึ้นมาสนับสนุนและยกระดับวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง เพราะผู้จัดการนิติบุคคลคือหัวใจในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในคอนโด”
พันธ์ยศ เจนหัตถ์คุณ
พันธ์ยศ ยังย้ำด้วยว่า ผู้จัดการนิติบุคคลต้องมีความรู้หลากหลาย ไม่ใช่แค่ด้านกฎหมาย แต่ต้องเข้าใจการบริหารจัดการอาคาร วิศวกรรมเบื้องต้น ระบบไฟฉุกเฉิน ลิฟต์ ความปลอดภัย การควบคุม outsources และการจัดประชุมใหญ่ รวมถึงทักษะด้านภาวะผู้นำ เพราะในยามวิกฤต เช่น แผ่นดินไหว พวกเขาคือคนแรกที่ต้องควบคุมสถานการณ์ ประสานงาน และสื่อสารกับผู้อยู่อาศัย
“ก่อนเกิดเหตุ เขาต้องดูแลให้อาคารพร้อมใช้งานในภาวะฉุกเฉิน เช่น ระบบสัญญาณเตือนภัย ไฟฉุกเฉิน หรือระบบลิฟต์ ต้องได้รับการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงเกิดเหตุ เขาคือคนที่ต้องควบคุมสถานการณ์ แจ้งข้อมูลกับลูกบ้าน และหลังเกิดเหตุยังต้องติดต่อประกันภัยหรือหน่วยงานอื่นๆ ด้วย”
พันธ์ยศ เจนหัตถ์คุณ