จุฬาฯ เสวนาระดมความคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว วิเคราะห์ ‘รอยเลื่อนสะกาย’ ยังน่าห่วง เกิดซ้ำในอนาคต ย้ำ พยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่ต้องเตรียมตัวรับมือ
วันนี้ (1 เม.ย. 68) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาครั้งที่ 32 จุฬาฯ ระดมความคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว เราจะรับมือและฟื้นตัวอย่างไร โดยมีนักวิชาการจากภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมให้ข้อมูล ศ.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นี่เป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตแผ่นดินไหว เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยกลับมามีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้อย่างไร โดยหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ขณะที่ประชาชนเกิดความตระหนก ซึ่งขณะนี้อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และหาวิธีในการจัดการสภาวะวิกฤตของแผ่นดินไหว
“เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เมียนมา ประเทศไทยได้รับแรงสั่นสะเทือนทั้งแผ่นดิน ส่งผลต่อทั้งจิตใจและคุณภาพชีวิตของประชาชน การจัดเสวนาวันนี้ เชื่อว่าคนไทยจะได้รับคำตอบที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และข้อมูลนี้จะเป็นการจัดการแผ่นดินไหวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความถูกต้องแม่นยำ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง”ศ.วิเลิศ ภูริวัชร

ย้ำ แผ่นดินไหว แจ้งเตือนล่วงหน้าไม่ได้
ศ.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรนีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า เมื่อไรก็ตามที่มีการเตือนว่าเวลาเท่านั้น เท่านี้ จะเกิดแผ่นดินไหว คือ “ข้อมูลเป็นเท็จ” เพราะในทางวิทยาศาสตร์ตอนนี้สามารถประเมินพื้นที่อ่อนไหวที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งมีหลากหลายวิธีในการประเมิน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเวลาวันที่เท่าไรได้เลย
“ระหว่างแผ่นดินไหว กับ อาฟเตอร์ช็อก มีความต่างกันคือ อาฟเตอร์ช็อก เหมือนลูกของแผ่นดินไหว เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติ อาฟเตอร์ช็อกจะไม่ใหญ่กว่าแม่หรือ แผ่นดินไหว และโดยปกติลูกคนโตเจาะลึกกว่า แม่ประมาณหนึ่ง เช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ลูกคนโตที่สุดที่เค้าจะคลอดออกมาได้ก็คือ 6.7 จะไม่มีทางใหญ่กว่าแม่ แล้วก็การคลอดลูกของแม่เขาก็จะลดลงเรื่อย ๆ ทั้งในแง่ของขนาดและจำนวน”ศ.สันติ ภัยหลบลี้
เมื่อถามว่าจะเกิดได้กี่ครั้ง ศ.สันติ บอกว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว 7.7 ที่ เมืองปาลู สุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2017 เกิดอาฟเตอร์ช็อก 500 กว่าครั้ง เนื่องจากว่ามีขนาดใหญ่ ระบุว่า “อาฟเตอร์ช็อกส่วนใหญ่ไม่เป็นภัยกับมนุษย์” และเป็นปกติที่เราจะ รู้สึกถึงความสั่นไหวในการเกิดอาฟเตอร์ช็อกบ้าง แต่การเกิดขึ้นส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยได้รับภัยพิบัติหนัก
เกิดแผ่นดินไหวแล้ว ‘สึนามิ’ มีโอกาสเกิดไหม ?
ศ.สันติ อธิบายว่า การเกิดสึนามิเป็นการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่งอย่างทันทีทันใด ซึ่งประเทศไทยมีทะเลอยู่สองฝั่งคือ อ่าวไทย และ อันดามัน สามารถตัดฝั่งอ่าวไทยไปได้เลยว่าจะไม่เกิดขึ้น ส่วนฝั่งอันดามันมีโอกาสเกิด อย่างที่ไทยเคยประสบมาแล้ว เมื่อปี 2547 แต่อยากแจ้งเตือนประชาชนเพื่อให้เกิดความสบายใจว่า เหตุผลที่ทำให้เกิดความเสียหายเยอะเนื่องจากว่าคนไทยยังไม่รู้จัก
“เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นเสือ เราเห็นคลื่นแล้ววิ่งเข้าหา แต่ในอนาคตหากมาอีกครั้ง เราสามารถอพยพได้แน่นอน เพราะ เรารู้จักเขาแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีทุ่นก็ตาม”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้
ศ.สันติ ยืนยันอีกว่า ในส่วนของความกังวลว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่นั้น ไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนที่เราเห็นน้ำกระฉอกเป็นคลื่น ตามคอนโด หรือ คลองต่าง ๆ เรียกว่า “คลื่นเซชแผ่นดินไหว” คือ คลื่นภายในที่แกว่งไปมาในแหล่งน้ำ เป็นเหมือนลูกของแผ่นดินไหว และต่อให้แผ่นดินไหวแรง 9.9 คลื่นเซช ที่เกิดขึ้นก็จะไม่รุนแรงอันตรายแบบสึนามิ

รู้จัก ‘แมกนิจูด’ กับ ‘มาตราเมอร์คัลลิ’ ในเหตุแผ่นดินไหว
ศ.สันติ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงของการรายงานข่าวแผ่นดินไหว จะมีคำศัพท์อย่าง “แมกนิจูด” (Magnitude) คือ ภาษาต่างประเทศ และไม่ใช่ภาษาเฉพาะของแผ่นดินไหว หมายถึง ขนาดของเหตุการณ์ ดังนั้น Earth Quake Magnitude ก็คือขนาดแผ่นดินไหวซึ่งหมายถึงพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากจุดศูนย์กลาง เกิดที่ไหน จะพูดถึงแผ่นดินไหวครั้งนั้น ไม่มีการลดทอนแมกนิจูด หมายความว่า ขณะนี้หากเราพูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เมียนมา เราจะพูดว่า 7.7 ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางได้อย่างเดียว และเราจะไม่มาพูดว่าที่กรุงเทพฯ เหลือเท่าไร เพราะแมกนิจูดคือพลังงานที่ปล่อยออกมาจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งพอปล่อยออกมาก็จะลดทอนแรงสั่นสะเทือนไปเรื่อย ๆ แต่ต่อให้ลดทอนไปแค่ไหน และกระทบเราเจ็บแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละคน แล้วความแข็งแรงนั้น จะถูกนำเสนอออกมาในรูปของคำบอกเล่า เช่น ระดับ 2 หมายถึงโคมไฟสั่น ระดับ 6 บ้านเริ่มร้าว ระดับ 7 ระดับ 8 โครงสร้างเริ่มเสียหาย ซึ่งเป็นคำที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน
ศ.สันติ ยังบอกว่า เมื่อพูดถึงระดับความรุนแรง จะมีคำว่า “มาตราเมอร์คัลลิ” (Mercalli scale) เป็นอีกเรื่องที่ประชาชนควรได้รับทราบ เพราะคือ “ระดับความรุนแรง” แต่ละภูมิภาคก็มีมาตราเป็นของตัวเอง เช่น ยุโรป ก็มีของยุโรป ญี่ปุ่นมี “ชินโด” อเมริกา มีมาตราเมอร์คัลลิ ส่วนไทยยังไม่มีแต่เรานำของสหรัสอเมริกามาใช้ ครั้งที่ผ่านมาเมื่อ 28 มี.ค. ของไทยเห็นความเสียหายชัดเจนคือตึกถล่ม เมอร์คัลลิ ระดับ 7-8 จาก 12
แผ่นดินไหวแบบโดมิโน่ที่แม่ฮ่องสอน หลังเกิดที่รอยเลื่อนสะกาย
ขณะที่ ศ.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า แผ่นดินไหวมีโอกาสเกิดขึ้นอีกแน่นอน แต่บอกไม่ได้ว่าตอนไหน และเมื่อดูจากรอยเลื่อนสะกายที่อยู่ตรงกลาง จะเห็นว่า มีรอยแขนงหลายจุด ประมาณ 5 แขนง ซึ่งเคยเกิดมาแล้วครั้งหนึ่ง จะต้องเกิดอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้เกิดบนแขนงนั้น หรือ ตรงจุดนั้น
ศ.ปัญญา ชี้ว่า รอยเลื่อนสะกายมีคราบอุบัติซ้ำ ซึ่ง ศ.สันติ ทำวิจัยไว้เยอะมาก โอกาสเกิดซ้ำ ก็จะประมาณ 50 ครั้ง 80 ครั้ง 100 ครั้ง แล้วแต่ว่าจะเป็นแขนงไหน “สรุปคือ เกิดแน่ แต่ตรงไหน เกิดบนแนวนี้” และเหตุผลที่เราต้องกังวลกับรอยเลื่อนสะกาย เพราะเป็นรอยเลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ จ.แม่ฮ่องสอน ประเทศไทย มีรอยเลื่อนที่เล็ก และสั้นกว่า ขนานกับรอยเลื่อนสะกาย และที่ อ.ปางมะผ้า เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 1.7 เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 68 ซึ่งไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อก แต่เป็น “แผ่นดินไหวแบบโดมิโน่”
ศ.ปัญญา บอกด้วยว่าไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง 16 รอย อยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ก็มีเช่นกัน ขณะที่ ภาคกลางไม่มี อย่างไรก็ตาม การเกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสะกายรอบนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะไปกระทบกับรอยเลื่อนไหนบ้าง ได้แต่ “ภาวนาไม่ให้เกิด” ส่วนที่เกิด ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ขนาด 1.7 นั้นถือว่าทำให้เกิดความสะบายใจ เพราะให้รอยเลื่อนได้ปล่อยพลังงานที่ไม่รุนแรง ซึ่งใน 16 รอยเลื่อน เมื่อปี พ.ศ.1558 เกิดการยุบจมลงเป็นหนอง “เวียงหนองหล่ม” เกิดจากอิทธิพลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จัน อนาคตเวียงหนองหล่ม อาจมีโอกาสไปเกิดกับกว๊านพะเยาหรือไม่ เพราะมีความเชื่อว่ากว๊านพะเยาเกิดจากอิทธิพลการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน ซึ่งต่อมามีการสร้างถนนในเส้นทางเหล่านี้ เมื่อวันหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวก็เกิดแผ่นดินถล่มไปตามสาย จ.เชียงราย อ.ฝาง อ.แม่จัน
“เราต้องขอบคุณกรมทรัพยากรธรณี ที่สร้างแผนที่ขึ้นมาเรียกว่าแผนที่รอยเลื่อนมีพลังมีทั้งหมด 16 รอย ด้วยกัน ซึ่งแต่ละรอยก็มีแขนง ซึ่งมีความสำคัญ และหากอยากรู้ว่ารอยเลื่อนเหล่านี้ ผ่านบ้านผ่านชุมชน ผ่านวัด ผ่านอัฒจันทร์ ผ่านโรงพยาบาลหรือไม่ สามารถไปเปิดดูข้อมูลได้ dmr.og.th และเมื่อเรารู้ว่ามันอันตราย ก็ ไม่ควรทำกิจกรรมอะไรบนเส้นความเสี่ยงนี้ ไม่ควรพัฒนาเมืองให้เข้าไปหาเส้นเหล่านี้”
ศ.ปัญญา จารุศิริ

สิ่งปลูกสร้างไทย รองรับแผ่นดินไหวหรือไม่ ?
รศ.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า ไทยเราเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศมาเยอะและพยายามป้องกันให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งมีการศึกษาเรื่องของแผ่นดินไหวเมื่อหลาย 10 ปี ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลและผลักดันนำไปสู่การออกกฏหมายกฎกระทรวง เพื่อควบคุมให้อาคารต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหวได้มาตั้งแต่ปี 2540 ที่ภาคเหนือและกาญจนบุรี ปี 2550 ก็เริ่มบังคับที่กรุงเทพมหานคร แต่ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ตรง ก็จะไม่ตระหนักถึงความอันตรายความน่ากลัว แต่วันนี้ได้เห็นแล้วว่าน่ากลัวจริง
รศ.ฉัตรพันธ์ ชี้ว่า กฎกระทรวงมหาดไทย มาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง มีการกำหนดระดับความรุนแรงที่จะต้องทนต่อแผ่นดินไหวได้ เช่น กาญจนบุรี ที่รู้อยู่แล้วว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดประมาณ 7 หรืออย่างรอยเลื่อนสกายก็เหมือนกัน คำนึงถึงไว้แล้วว่าจะมีแผ่นดินไหวที่ขนาดประมาณไม่เกิน 8 ส่วนที่ฝั่งทะเลอันดามัน ก็จะมีเรื่องของเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก ประมาณ 8.5 ซึ่งเหล่านี้ถูกนำมากำหนดเป็นมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างอาคารอยู่แล้ว
“หรืออาจจะกล่าวได้ ว่าก่อนที่จะมีกฎหมาย ปี พ.ศ. 2550 อาจจะยังไม่มีการสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว และอาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกอาคาร เพราะมีเกณฑ์เรื่องขนาด ความสูง หรือ เป็นอาคารที่มีความสำคัญระดับหนึ่งก็จะมีการบังคับ แต่ถ้าเป็นบ้านเรือนประชาชนสูง 2 ชั้น ก็อาจจะยังไม่ถูกบังคับ”
รศ.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี
รศ.ฉัตรพันธ์ ย้ำว่า หลังเหตุแผ่นดินไหว มีภาพที่จะหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบและชำรุดเสียหาย ต้องดูว่า ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในองค์ประกอบที่เป็นสถาปัตยกรรมการตกแต่ง การกั้นพื้นที่ หรือเกิดความเสียหายที่เนื้อโครงสร้างหลัก ในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครสูงสุดตั้งแต่ที่เคยเห็นมา เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นความเสียหายต่อโครงสร้างหลักมากขนาดนี้ แต่ในที่นี้ก็ยังถือว่าไม่เยอะ และการถล่มของอาคารที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งแรกที่เคยเห็น
ตรวจสอบรอยร้าว โครงสร้าง ความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน
รศ.ฉัตรพันธ์ อธิบาย วิธีการสำรวจความเสียหาย ที่ประชาชนสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยแบ่งเป็น ชิ้นส่วนโครงสร้าง ได้แก่ เสา เป็นทรงสร้างในแนวดิ่ง คาน เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ในแนวนอน ผนัง ที่เติมเต็มอยู่ในช่องว่างระหว่างเสากับคาน ซึ่งหากเกิดความเสียหายในโครงสร้าง เสากับคาน ถือว่ามีผลกระทบต่อโครงสร้าง แต่หากเกิดผลกระทบในบริเวณ ผนังที่ก่ออิฐขึ้นมาความน่าเป็นห่วงจะน้อยกว่า คือโอกาสที่ตึกหรืออาคารจะถล่มลงมาจะน้อย แต่หากผนังชั้นถล่มลงมาทั้งแผ่นแล้ว ทับคนก็อาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ แต่โดยรวมเสถียรภาพของอาคารทั้งหลังโครงสร้างก็จะไม่ได้รับผลกระทบมาก และหากเปรียบเทียบระหว่างเสากับคาน หากเกิดความเสียหายกับเสาจะหนักกว่า
“การให้วิศวกรมาตรวจสอบให้จะดีกว่าตรวจเอง และจากการไปตรวจอาคารหลังช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหว ต้องบอกว่า วิศวกร จะต้องมีผังรวมของอาคารเพื่อที่จะได้ดูว่าความเสียหายที่เกิด เป็นรอยร้าวในโครงสร้างหลักหรือเป็นรอยร้าวในผนัง”
รศ.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี
รศ.ฉัตรพันธ์ บอกอีกว่า ขณะที่ลักษณะของความเสียหายที่เกิดขึ้น หากเกิดการเคลื่อนที่จนทำให้ลักษณะโครงสร้างเกิดความบิดเบี้ยวไปจากเดิม เช่น เสายุบตัว จะมีความยากลำบากในการซ่อม แต่ปัจจุบันมีเทคนิคในการซ่อมได้ แต่หากเป็นเยอะอาจจะไม่คุ้มค่าในการซ่อม