ตรวจดินยุบ จ.กระบี่ โยงแผ่นดินไหว? ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ชี้เป็นโอกาสสำรวจทำแผนที่เสี่ยง

ระบุแผ่นดินยุบ หลังเหตุแผ่นดินไหว เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เหตุสภาพพื้นที่เป็นหินปูน มีโพรงด้านล่าง หรือ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงหลังแผ่นดินไหว แนะเป็นโอกาสกระจายอำนาจ กระจายความรู้ให้ท้องถิ่นสำรวจทำแผนที่เสี่ยง รับมือภัยพิบัติในอนาคต

วันนี้ (20 เม.ย.2568) หลังชาวบ้านพบการยุบตัวขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีความกว้างประเมาณ 20 คูณ 20 เมตร ความลึกกว่า 10 เมตร พร้อมรอยแยกขนาดใหญ่ เป็นทางยาวกินเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ภายในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งห่างจากบ้านของนายสุวิทย์ หนูชู ที่ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 ต.พรุเตียว อ.เขาพนม จ.กระบี่ ประมาณ 50 เมตร

ธีรศักดิ์ ทองมาตย์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ ระบุว่า บ่ายวันนี้สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่าเชื่อมโยงกับเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมาหรือไม่

ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ วิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ปกติแล้วเวลาเกิดแผ่นดินไหวขึ้น คือการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนหรืออยู่ใกล้เคียงกับแนวรอยเลื่อน เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวดิน ไม่ว่าจะเป็นการขยับการเคลื่อนของผิวดินคือเกิดขึ้นได้หมด ก็จะมีมากขึ้นตามความรุนแรงของแผ่นดินไหว

อีกอย่างหนึ่งก็คือหลุมยุบก็สามารถเกิดขึ้นได้แล้วเราก็พบลักษณะแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะที่กระบี่ที่เคยเจอแต่ที่ผ่านมาในอดีตก็เจอเป็นประจำ เช่นแผ่นดินไหวที่แม่ลาว ขนาด 6.3 สักพักหนึ่งก็มีหลุมยุบในท้องนา หรือไม่ก็แผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ก็พบหลุมยุบในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือของไทย ซึ่งอธิบายความได้ว่าเวลาเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ที่มีโพรงอยู่แล้ว เช่นพื้นที่เป็นพวกหินปูนข้างล่างอาจจะมีโพรงอยู่ ซึ่งปกติแล้วโพรงอาจจะไม่ได้ถูกกระทบกระเทือนอะไรแต่พอมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นก็ทำให้ด้านบนของโพรงก็คือพื้นดินยุบตัวลง

อีกอย่างก็คือ เวลาเกิดแผ่นดินไหวจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดิน ถ้าในโพรงนั้น ไม่ได้เป็นอากาศอย่างเดียวแต่มีน้ำอยู่ พอแผ่นดินไหวก็เกิดการกระฉอกหรือการขึ้นลงของน้ำใต้ดิน ซึ่งถ้าเกิดมีช่องอากาศอยู่ระหว่างน้ำกับตัวผิวดินก็เกิดแรงอัด ทำให้เกิดการยุบตัวได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ 

ส่วนที่กระบี่ ปกติแล้วพวกหลุมยุบก็จะเกิดเห็นได้ชัด มีจำนวนเยอะ ถ้าเกิดเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดรุนแรงมากขึ้น ของกระบี่ล่าสุดถือว่าไม่ได้แรงมีขนาด 3.5 แต่พื้นที่ค่อนข้างตื้น กระบี่เป็นพื้นที่ที่มีหินปูนอยู่แล้ว ถ้ามีการสำรวจต่อไปก็คงได้คำตอบว่า พื้นที่ที่มีดินอยู่นั้นเป็นหินปูนหรือไม่ หรือเป็นพื้นที่ซึ่งมีโพรงเดิมอยู่แล้วหรือไม่

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นกระบี่ พัทลุง พังงา ถึงแม้ไม่มีแผ่นดินไหว ก็เป็นพื้นที่ที่มีหินปูนอยู่แล้ว มีการเกิดหลุมยุบอยู่เนืองๆ ถ้าพร้อมจะลงอยู่แล้วพอเกิดการสั่นสะเทือน เกิดการเปลี่ยนแปลงน้ำใต้ดินก็จะทำให้ยุบได้

ส่วนหน่วยงานที่ควรจะเข้ามาตรวจสอบ แนะนำว่าควรเป็นหน้าที่ของทรัพยากรจังหวัด ซึ่งจะต้องมีข้อมูล ความเสี่ยงหลุมยุบของกรมทรัพยากรธรณี

“ต่อไปก็ต้องเป็นหน้าที่ของ อบจ. อบต.ที่ต้องศึกษาแผนที่พวกนี้แล้วไปดูบ้านชาวบ้านหลังไหนที่มีความเสี่ยง ไปดูสัญญาณบอกเหตุ ถ้าทาง อบต. อบจ. เทศบาล ศึกษาแผนที่เหล่านี้แล้ว เวลาจะมีการก่อสร้างบ้านหรืออาคารก็ต้องให้ทางชาวบ้านหรือเจ้าของที่มาขออนุญาตเจาะสำรวจเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่หลุมยุบ”

ใช้ตัวกลางที่เป็นระบบอยู่แล้วก็คือทางท้องถิ่นจะต้องทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลแล้วนำไปพูดคุยกับชาวบ้านต่อ ส่วนใช้เชิงนโยบายเรื่องภัยพิบัติถ้าเราบอกว่าเราจะกระจายอำนาจ กระจายอำนาจที่ถูกต้องก็คือการกระจายความรู้ด้วยไม่ใช่กระจายแค่เพียงอำนาจ 

“ความรู้จะต้องไปอยู่กับใคร คนที่ทำหน้าที่ในเรื่องภัยพิบัติตอนนี้ ก็น่าจะเป็นทาง อบต. อบจ.ที่เป็นท้องถิ่น จะต้องมีอำนาจความรู้ก่อน แล้วถึงจะไปกลไกดำเนินการต่อในเรื่องอื่นได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active