สะท้อนพื้นที่เผชิญ ‘ภัยพิบัติซ้อนภัยพิบัติ’ กระทบชีวิต สุขภาพ ความมั่นคงการอยู่อาศัย จี้รัฐทำงานเชิงรุก ซักซ้อมรับมือภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ
วันนี้ (29 เม.ย. 68) จากกรณีน้ำในแม่น้ำสาย ทะลักท่วมชุมชน ร้านค้าตลาดสายลมจอยซ้ำ หลังเกิดฝนตกหนักที่ต้นแม่น้ำสาย จ.เชียงราย เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา

ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย เปิดเผยกับ The Active ว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงฤดูฝน ความรู้สึกของชาวบ้านต่อแม่น้ำเปลี่ยนจากความชื่นชมเป็นความหวาดระแวง ต้องติดตามสถานการณ์แม่น้ำสายและแม่น้ำกกอย่างใกล้ชิด เพราะระดับน้ำจากต้นน้ำในประเทศเพื่อนบ้านอาจไหลเข้าท่วมพื้นที่ได้ทุกเมื่อ
นอกจากความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ชาวบ้านยังเริ่มกังวลกับข้อมูลเรื่อง สารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของจังหวัดเชียงราย โดยไม่อาจยืนยันได้ว่าสารเหล่านี้มาจากแหล่งใด แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา
“เราขาดข้อมูลวิทยาศาสตร์ ขาดการตรวจวัดจากต้นน้ำก่อนเข้าประเทศ ถ้าเรามีจุดมอนิเตอร์คุณภาพน้ำร่วมกันตั้งแต่เขตชายแดนลงมา มันจะสร้างความมั่นใจได้มากกว่านี้”
ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล

ผศ.นิอร เสนอให้ภาครัฐร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา ในการจัดตั้งระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติข้ามพรมแดน ทั้งในมิติน้ำท่วม คุณภาพน้ำ และคุณภาพอากาศ พร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส
“ถ้าเรารอให้มีผู้ป่วยหรือลูกหลานเกิดมาพิการเหมือนกรณี มินามาตะ ในญี่ปุ่น มันจะสายเกินไป ทั้งที่วันนี้เราสามารถตรวจสุขภาพ ตรวจสารปนเปื้อนในมนุษย์ได้แล้ว แต่เรายังไม่เริ่มอะไรเลยอย่างเป็นรูปธรรม”
ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล
ผศ.นิอร ยังเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เชียงรายเป็น พื้นที่พิเศษภัยพิบัติซ้ำซ้อน เพราะเผชิญทั้งน้ำท่วม หมอกควัน และน้ำปนเปื้อน ขณะเดียวกันประชาชนต้องปรับตัวด้วยตนเอง ทั้งการลงทุนซื้อเครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศ และตรวจสุขภาพซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนที่รัฐควรพิจารณาเพราะจะกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจในระยะยาว

“เราไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินเลย แค่อยากให้รัฐหรือผู้มีอำนาจเห็นว่า ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของรัฐบาล และต้องเริ่มลงมือก่อนที่จะสายเกินไป”
ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล
ขณะที่ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ องค์กร International Rivers เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายในช่วงฤดูมรสุม โดยเสนอให้มีการ “เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมือภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ” หลังพบว่าที่ผ่านมาประชาชนยังต้องพึ่งพาข้อมูลจากไลฟ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากขาดประกาศและแผนการอพยพจากภาครัฐอย่างเป็นทางการ
“ดิฉันอยากให้รัฐบาลดำเนินการทันที เพราะเหลือเวลาอีกไม่นาน แค่เดือนหรือสองเดือน มรสุมก็จะเข้ามาแล้ว แต่เรายังไม่มีมาตรการรับมือเลย เหตุการณ์น้ำหลากจากท่าตอนสู่เชียงรายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างจริงจัง”
เพียรพร ดีเทศน์

นอกจากนี้ เพียรพร ยังเสนอให้ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการกลาง ที่มีประสิทธิภาพและทรัพยากรเพียงพอจากส่วนกลาง เพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ ซึ่งมักขาดงบประมาณและบุคลากร พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นของระบบตรวจสอบแบบ โปร่งใสและตรวจซ้ำได้ โดยมีหน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบควบคู่กับหน่วยงานรัฐ และเปิดเผยผลแบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
“เราควรมีระบบแจ้งเตือนและคำแนะนำที่ชัดเจน เช่น เมื่อห้ามสัมผัสน้ำโดยตรงเพราะเสี่ยงต่อสุขภาพ คำถามคือ แล้วพื้นที่เพาะปลูก 50,000 ไร่ที่ยังใช้น้ำจากแม่น้ำกกอยู่ จะทำอย่างไร?”
เพียรพร ดีเทศน์
ข้อเสนอเหล่านี้ถูกรวมไว้ในเอกสารข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดยเน้นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในลำน้ำข้ามพรมแดน ที่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยมาตรการเฉพาะหน้าอีกต่อไป