ค้นหา ตรวจทาน ทำฐานข้อมูลช่วยเหลือ ‘คนจนเมือง’ ตัวจริง

กทม. ​นำร่องศึกษาเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ​พระโขนง คันนายาว จัดทำฐานข้อมูลแก้ปัญหาคนจนตรงจุด ผ่านโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ​เชื่อมแพลตฟอร์ม​ค้นหาให้เจอ ช่วยเหลือ ส่งต่อ และติดตาม 

วันนี้ (27 ก.ค. 2565) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “kick off การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกรุงเทพมหานคร” 

ซึ่งนำร่องศึกษาในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระโขนง และเขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่ระบุตัวตนที่ชัดเจนของคนจน เป้าหมายเพื่อการเชื่อมโยงระบบข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการเป้าหมายและภารกิจ รวมถึงการเชื่อมโยง Demand & Supply (Matching) และต่อยอดความสำเร็จงานวิจัยจนเกิด “แพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ในระดับพื้นที่ ถือเป็นการทำงานที่จะเข้าถึงคนจนตัวจริง ทำให้การช่วยเหลือไม่ผิดตัวผิดฝา และคนจนตัวจริงไม่ตกหล่นการช่วยเหลือและสามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นงานวิจัยที่ยึดอยู่บนหลัก ค้นหาให้เจอ ช่วยเหลือ ส่งต่อ และติดตาม 

“โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ เป็นการจัดทำฐานข้อมูลที่มองหาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ทำความเข้าใจทุนในครัวเรือนที่เขามี และทำให้เขาสามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งเสริมให้เขามีรายได้สม่ำเสมอ”

ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  ยังย้ำอีกว่า การช่วยเหลือคนจนนอกจากต้องเป็นคนจนตัวจริงแล้ว การช่วยเหลือยังมีระดับของการช่วยคือ ช่วยปัจจัย 4 ทำให้เขาสามารถลุกขึ้นยืนได้ ช่วยให้ความรู้ ปัญญา พัฒนาทักษะต่อยอดการสร้างรายได้ และสุดท้ายคือการให้โอกาสในการยกระดับคุณภาพชวิตด้วยการศึกษาซึ่งเรื่องนี้จะช่วยให้หลุดพ้นจากความจนดักดานข้ามรุ่น

ดร.พงษ์พิศิษฐิ์ หุยากรณ์ หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกรุงเทพมหานครกล่าวว่า การเลือกพื้นที่ศึกษาครั้งนี้เป็นการเลือกพื้นที่ที่สามารถสะท้อนคนจนเมืองในกรุงเทพมหานครเนื่องจากที่ดินย่านนี้มีราคาสูง คนจนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่มีกรรมสิทธิ์ อยู่อาศัยหลากหลายทั้งแบบเช่า เช่าช่วงต่อ สังคมแนวดิ่ง และการทำงานในพื้นที่กรุงเทพมีความยากเนื่องจากไม่มีข้อมูลตั้งต้นและปัญหามีความซับซ้อนแต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เริ่มสำรวจและทำฐานข้อมูลครัวเรือนอย่างเป็นระบบและข้อมูลที่เก็บไม่ยึดตามขอบเขตหรือบัตรประชาชน แต่เน้นที่การส่งต่อให้ความช่วยเหลือตามความต้องการยังหน่วยงานหรือช่องทางที่รับผิดชอบ 

“กรุงเทพคนไม่ยึดติดอยู่กับที่ มีพลวัต มีกรรมสิทธิ์ที่มีความหลากหลายมีภาวะพึ่งพิงสูงมาก”​ 

สำหรับโครงการฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นโครงการวิจัยโครงการ 3 ต่อเนื่องจากโครงการ 1 และ 2  ในระดับจังหวัด มีระยะเวลาในการศึกษา 3 ปี ขณะนี้เริ่มเก็บข้อมูลไปแล้ว 3 เดือน โดยมีเครือข่ายอาสาในพื้นที่ช่วยเก็บข้อมูล กรอบการศึกษาเน้น 5 เรื่อง ได้แก่ มิติทุนมนุษย์ ทุนทางกายภาพ ทุนการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางสังคม 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส