คิดแบบสตาร์ตอัป ก็ทำเรื่องนโยบายได้

Thai Startup มอบรางวัล The Government Hacker ให้ กทม. เปิดพื้นที่สตาร์ตอัปร่วมเป็นหุ้นส่วนแก้ปัญหาเมืองกรุง ด้าน The Active รับรางวัล The Nation Maker ผลักดันกระบวนการสร้างต้นแบบการทำนโยบายภาคประชาชนจาก Hackathon

23 พ.ค. 2566 สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย หรือ Thai Startup และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดงาน Makers United 2023 เพื่อมอบรางวัลให้กับสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จ มีผู้ใช้งานเกิน 1 ล้านคน และนักพัฒนาสังคมที่ทำงานร่วมกับสตาร์ตอัป สำหรับ รางวัล The Nation Maker มีผู้ได้รับรางวัล 3 หน่วยงาน ได้แก่ Thai PBS (The Active) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย กล่าวว่า The Active โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้รับรางวัล The Nation Maker เนื่องจากเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่เชื่อในหลักคิดสตาร์ตอัปและนำไปใช้กับเรื่องที่เราไม่เคยคิดมาก่อน นั่นคือการแฮกนโยบายว่าอีก 10 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร การที่เปิดใจในเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ที่จะสามารถนำวิธีคิดของสตาร์ตอัป (mindset) ไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ เรื่องใหม่ ๆ ล้างความเชื่อว่าสตาร์ตอัปเป็นเรื่องที่ทำได้กับธุรกิจเพียงเท่านั้น ซึ่งการที่ The Active เชื่อในสิ่งเดียวกัน จึงมีความเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลนี้

“นโยบายทั้ง 12 ข้อที่ถูกแฮก มีโอกาสที่จะไปต่อได้จริง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องเตรียมใจคือมันอาจจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้ แต่เราต้องอนุญาตให้มีพื้นที่สำหรับการทดลองกัน สุดท้ายเราอาจจะไม่สามารถการันตีความสำเร็จ แต่การที่เราลงมือทำ มันจะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง ต่อให้เราผิดพลาดหรือไม่เกิดขึ้น มันก็จะเป็นบทเรียนว่าผิดพลาดตรงไหน และเราจะกลับมาทำต่อในเทค 2 เทค 3 เทค 4 ต่อไปได้ การเป็นสตาร์ตอัปเราก็ไม่มีหรอกที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ มันต้องมีหลายเวอร์ชันทดลองไปเรื่อย ๆ ผมว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำ คือทำต่อเนื่อง ถ้าเราอยากจะทำให้สำเร็จก็คือเราต้องช่วยกัน”

ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์

ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) กล่าวขอบคุณสมาคมไทยสตาร์ทอัพที่มอบรางวัลให้ The Active และ Thai PBS เป็นความภูมิใจที่เราได้ทำงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการ แฮกประเทศไทย และหวังว่าหลังจากนี้ประเทศไทยก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากวิธีการและโอกาสที่ทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีรางวัล The Corporate Connector 2 รางวัล ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ AIS, The Startup The Expansion Facilitator 2 รางวัล ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (InvestHK) สมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม (TVFA), The Policy Advocate 3 รางวัล ได้แก่ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, The Active Granter 2 รางวัล ได้แก่ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB), The Ecosystem Builder 2 รางวัล ได้แก่ Techsauce Media สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA), The Grand Connector 1 รางวัล ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, The Government Disruptor 2 รางวัล ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa), The Innovation Evangelist ได้แก่ 4 รางวัล ได้แก่ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ธานี แสงรัตน์ สนั่น อังอุบลกุล และ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ และ รางวัล The Government Hacker ได้แก่ Bangkok Metropolitan Administration (กรุงเทพมหานคร) จากโครงการ Hack Bkk แก้ปัญหาเมืองด้วยนวัตกรรมจากสตาร์ตอัป

สำหรับรางวัลสำหรับสมาชิก Thai Startup ที่มีจำนวนผู้ใช้งานหลักล้าน ชื่อรางวัล: ๑ne million club มี 11 ราย Bitkub Shippop iTAX Zipevent QueQ Flash express Hungry Hub Gowabi Ricult Stockradars Viabus

สตาร์ตอัป หุ้นส่วนแก้ไขปัญหา กทม.

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. มีปัญหาเยอะ ถ้าเราเปิดใจกว้างให้สตาร์ตอัปเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ เปลี่ยน dreamer เป็น maker ก็จะช่วยแก้ปัญหาเมืองได้มากขึ้น เช่น เราทำแอปพลิเคชันแก้ปัญหา ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ก็ช่วยจัดการปัญหาของกรุงเทพฯ ได้มาก เรามีแอปพลิเคชันปลูกต้นไม้ แพลตฟอร์มเรื่องการศึกษา พื้นที่ 50 เขต 16 สำนัก ยังมีอีกหลายเรื่องรอให้นักพัฒนามาแก้ปัญหา

“บางอย่างเป็นปัญหาเฉพาะของเมืองต้องอาศัยสตาร์ตอัปของไทยมาทำ ถ้าเราทำแอปฯ สร้างความโปร่งใส ใบอนุญาตออนไลน์ หรือแม้แต่เรื่องการศึกษานักเรียนนับแสนคน ก็สามารถใช้ดิจิทัลมาช่วยทำงานได้ ที่สำคัญสเกลได้ง่าย เช่น ตั้งเป็น sandbox ส่วนหนึ่ง ถ้าทำสำเร็จก็ยกระดับเป็นทั่วกรุงเทพฯ หรือในเรื่องสนับสนุนสตาร์ตอัป บางอย่างงบประมานก็สามารถช่วยได้ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเอาคำตอบที่มีประสิทธิภาพให้กับเมืองได้ หรือหากลองดูในระดับท้องถิ่นมากขึ้น สตาร์ตอัปก็อาจจะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนได้ด้วยตัวเอง วันนี้ที่กรุงเทพฯ ก็เป็นตัวอย่างของจังหวัดอื่นได้ และเราก็เรียนรู้จากคนอื่นเช่นกัน”

ถอดบทเรียนสตาร์ตอัปไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก

ภายในงานยังมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับธุรกิจ Startup เพื่อเป็นข้อมูลความรู้สำหรับผู้ที่สนใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากสตาร์ตอัปตัวอย่าง และการถอดบทเรียน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสตาร์ตอัปของไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก

นิธิ สัจจทิพวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ MyCloudFulfillment กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของธุรกิจสตาร์ตอัปคือการเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด เงินค่อนข้างสะพัดอยู่ในธุรกิจบิตคอยน์ บล็อกเชน คริปโต แต่พอวันนี้หลังโควิด-19 ทรัพย์สินเสี่ยงเหล่านี้ก็ถูกดึงกลับไป เพราะว่าเงินเฟ้อของแพงขึ้น รัฐเพิ่มดอกเบี้ยค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นคนจึงไม่กล้าเอาเงินมาใช้ นักลงทุนก็ไม่กล้าลงทุนกับธุรกิจที่เสี่ยงเช่นกัน ฉะนั้นภาพรวมของธุรกิจเทคโนโลยี สตาร์ตอัป จึงได้รับผลกระทบด้วย ประเทศเราก็จำกัดอยู่แล้ว เรื่องของแบงก์ล้มของต่างชาติยิ่งเข้าไม่ถึงเข้าไปใหญ่ ถ้าบริษัทไม่มีกำไรวันนี้ แม้จะมีโอกาสเติบโต แต่ไม่มีใครพร้อมเสี่ยงไปกับคุณในช่วงนี้ นักลงทุนมองว่ากำไรคงที่ไหม ถ้าได้จึงจะตัดสินใจลง

“ต้องพูดตามตรงว่าตอนนี้สตาร์ตอัปต้องโตด้วยตัวเอง ยืนด้วยลำแข้งให้ได้ ถ้าทำได้ วันที่มันผ่านหน้าหนาวไปนักลงทุนดี ๆ จะกลับมาเห็นผลและให้ทุนกับคุณแน่นอน ข้อดีของเราคือ ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียใต้เป็นภูมิภาคเดียวในโลกตอนนี้แล้วด้วยซ้ำที่มีการเติบโตระดับสูงของสตาร์ตอัป อนาคตยังไงเงินก็อยู่ฝั่งนี้ ดังนั้นถ้าทำสตาร์ตอัปอยู่ รักษาตัวให้ดี ช่วงนี้ต้องจำศีล ถ้ารอดไปได้ สักปีสองปี ยังไงก็รอดแน่นอน”

นิธิ สัจจทิพวรรณ

รับขวัญ ชลดำรงกุล อุปนายกสมาคม Thai Startup ประธานฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ปัจจุบันสตาร์ตอัปประสบปัญหาด้านกฎหมายหลายประการ และต้องการให้หน่วยหน่วยงานรัฐเป็นผู้ช่วย ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นที่ การเปิดเผยข้อมูล เป็นผู้เชื่อมการตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ​ ร่วมยกระดับในการพัฒนาแรงงาน และสตาร์ตอัป ที่สำคัญคือเรื่องของกฎหมาย ใบอนุญาตต่าง ๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งบางอย่างอาจเป็นเรื่องที่ไม่ทันกับสถานการณ์แล้ว ควรทบทวนว่ายังจำเป็นอยู่ไหม เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งต่อการตั้งตัวของสตาร์ตอัปทั้งเรื่องของการเข้าถึงกฎหมายที่เป็นข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ เรื่องของค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไปกับการจัดการด้านนี้

“สิ่งที่เราศึกษามาพบว่าทุกหน่วยงานที่มีการตั้งในประเทศภายใต้กฎหมายที่ตั้งขึ้นราวๆ 35 หน่วยงาน สามารถเป็นผู้ส่งเสริมสตาร์ตอัป ทั้งเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล หรือเป็นหนึ่งสตาร์ทอัปหนึ่งหน่วยงาน หรือช่วยกำจัดกฎหมายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ ก็จะช่วยทำให้การตั้งตัวของสตาร์ตอัปสะดวกมากขึ้น”

รับขวัญ ชลดำรงกุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active