สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เปิดตัว สตาร์ทอัพไทยไดเร็กทอรี แพลตฟอร์มรวมข้อมูล อำนวยความสะดวกนักลงทุนค้นหาเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย
สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ สตาร์ทอัพไทยไดเร็กทอรี (Thai Startup Directory) เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลของเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทย ที่สามารถค้นหาได้ง่าย ซึ่งมีการแบ่งเป็นประเภทอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น สื่อดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ ไบโอเทค พลังงานสะอาด ธุรกิจบริการ/โซลูชั่น เทคโนโลยีพลังงาน เอไอหุ่นยนต์ บริการทางการเงิน และอื่น ๆ รวมกันกว่า 48 ประเภทอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังระบุได้ว่าธุรกิจอยู่ในสถานะไหนบ้าง เช่น ระดมทุนผ่านการเสนอขายต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ควบรวมกิจการ และลงทุนด้วยตนเอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีบริษัทสตาร์ทอัพลงทะเบียนแล้วจำนวน 114 บริษัท โดยประเภทธุรกิจเอไอหุ่นยนต์มากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจบริการ อีคอมเมิร์ซ/โซลูชั่น ส่วนนักลงลงทุนมีลงทะเบียนแล้ว 4 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด (InnoSpace), บริษัท แมกซ์ เวนเจอร์ส จำกัด (MAX Ventures) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
ภาโรจน์ เด่นสกุล กรรมการและประธานด้านสมาชิก สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เปิดเผยว่า จุดประสงค์ที่ต้องมี สตาร์ทอัพไทยไดเร็กทอรี เนื่องจากตนเป็นนายทะเบียนของสมาคมฯ เวลาที่ต้องทำงานรวมกับพาร์ทเนอร์ทั้งเอกชนและรัฐบาล มักจะเจอคำถามว่าตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนสตาร์ทอัพกี่ราย และประเภทธุรกิจอะไรบ้าง ซึ่งแม้จะสามารถหาคำตอบได้ แต่ก็อาจจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ดังนั้น สมาคมฯ จึงได้ทำ สตาร์ทอัพไทยไดเร็กทอรี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลการทั้งของสตาร์ทอัพ และพาร์ทเนอร์ภาครัฐ นักลงทุน เอกชน
ทั้งนี้ การใช้งานมีไม่กี่ขั้นตอน คือ สตาร์ทอัพ กดลิงก์เข้าไปที่เว็บไซต์ https://data.thaistartup.org/ ของสตาร์ทอัพไทยไดเร็กทอรี และกรอกข้อมูลสมัครลงไปในแพลตฟอร์มได้ทันที ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที หลังจากนั้นข้อมูลของสตาร์ทอัพจะแสดงบนหน้าแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยจะระบุข้อมูลว่าทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร มีประวัติการลงทุนอะไรบ้าง มีนักลงทุนกี่บริษัท และยังแสดงข้อมูลช่องทางติดต่อของผู้ก่อตั้ง และซีอีโอได้ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเครือข่ายใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังสามารถค้นหา และเชื่อมต่อกับสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเดียวกัน พาร์ทเนอร์ หรือนักลงทุนอื่น ๆ โดยเฉพาะนักลงทุน VC (Venture Capital) ได้
อย่างไรก็ตามสมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะให้เป็น Startup Directory แห่งประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยอยากจะให้มีสตาร์ทอัพตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงใต้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้
“ตรงนี้มันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกท่านสามารถเข้าถึงเน็ตเวิร์คใหม่ (เครือข่าย) เข้าถึง VC หรือเข้าถึงพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ของสมาคมฯ ที่จะมาค้นหาเพิ่มได้ง่ายขึ้น ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าด้วยความซัพพอร์ทจากทุกท่านจะทำให้ Directory นี้กลายเป็นแพลตฟอร์ม Directory แห่งชาติขึ้นมาได้”