“พาผู้สูงวัยไปหาหมอ” ธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องระวัง

หลังแห่เปิดบริการในโซเชียล เจ้าของ #ลูกรับจ้างหลานจำเป็น หวั่นคนเข้าใจผิด ระบุ ไม่หวงเพราะช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงวัย แต่ต้องถูกกฎหมาย ระเบียบวิชาชีพ

จากกรณีที่ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่ง ประกาศรับจ้างพาผู้สูงอายุไปหาหมอ หรือไปทำธุระ เพื่อบรรเทาภาระของครอบครัวที่ไม่มีเวลาว่าง ไม่สามารถลางานพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลได้ หรือผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว จนมีผู้สนใจจำนวนมาก รวมถึงสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ โพสต์ให้การสนับสนุนเพราะมองว่าเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย และสร้างอาชีพ

ล่าสุด (31 ส.ค. 2566) เพจ joy Ride Thailand ออกมาแสดงความเป็นห่วง และแจ้งเตือนกับผู้ใช้บริการ โดยมีใจความสำคัญว่า ขณะนี้มีกลุ่มคนและมิจฉาชีพแอบอ้างใช้ชื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าเป็นบริการ จอยไรด์ โดยการ copy slogan #ลูกรับจ้างหลานจำเป็น ซึ่งคำนี้ได้รับการคุ้มครองชอบด้วยกฎหมายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และจะดำเนินการทางกฎหมายกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายกับ JoyRide รวมทั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกรูปแบบให้ถึงที่สุด

ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร ผู้ก่อตั้ง joy Ride

ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร ผู้ก่อตั้ง joy Ride  กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนและทีมงานทำงานหนักเพื่อให้อาชีพการพาผู้สูงไปหาหมอมีมาตรฐานที่ดีและปลอดภัย และไม่ได้ห้ามคนที่สนใจธุรกิจเพื่อสังคมในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะ Joy Ride ไม่สามารถให้บริการได้ครบทุกคน โดยได้บอกกับทุกคนมาโดยตลอดว่าอยากส่งเสริมอาชีพนี้เพราะตนเองก็ไม่ได้เป็นคนแรก

“การพาพ่อแม่คนอื่นไปหาหมอ ไม่เหมือนกับพาพ่อแม่ตัวเองไป ต้องใช้ใจนำและความรับผิดชอบต้องสูงมากกว่า เพราะมันคือชีวิตและความปลอดภัย แต่ไม่ได้ปิดกั้น เราอยากส่งเสริมงานนี้ในทางที่ถูกต้อง ตั้งแต่การตรวจสอบคัดกรองให้อาชีพเป็น “มิตร” ไม่เป็น “มิจ”

ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร

ทั้งนี้ joy Ride เป็นบริการพาผู้สูงวัยไปหาหมอ เปิดให้บริการมากว่า 2 ปี ได้รับรางวัลจาก UNwomen YoungHappy สสส. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ  ใน Creative Excellence Awards 2023 for Eldery ประเภท Creative Social Impact Awards จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หากผู้ที่สนใจต้องการตรวจสอบการบริการเพื่อความมั่นใจ สามารถเช็คข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 095-395-3974 และไลน์ @joyride ส่วนผู้ที่สนใจเป็น Care Team หรือ ต้องการเข้ามาทำอาชีพพาผู้สูงวัยไปหาหมอจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.ได้รับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

2.การเรียน CPR First Aid

3 ประเมินจิตวิทยา

4.การอบรมลูกรับจ้างหลานจำเป็น และการใช้ Platform >>เฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการโปรแกรม On the job training จึงจะผ่านการเกณฑ์การเข้ามาทำงาน เป็น ลูกรับจ้างหลานจำเป็นด้วยกัน มันคือชื่อที่หมายถึงความใส่ใจ

ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย โอกาสรัฐ เอกชน รองรับแนวโน้มสูงวัยโดดเดี่ยว

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน  ไม่ต่างจากปี 64 มากนัก ซึ่งการสำรวจในครั้งนั้นพบว่าผู้สูงอายุกว่า  21.1% หรือประมาณ 2.8 ล้านคน อาศัยอยู่กับคู่สมรสหรือคู่ชีวิต ขณะที่ 12% หรือราว 1.6 ล้านคน บอกว่า ต้องอยู่อาศัยเพียงลำพัง และเมื่อทีมวิจัยของจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจเชิงลึกในกลุ่มที่อาศัยเพียงลำพังมีถึง 11%  ที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้สูงวัยโดดเดี่ยวแบบ “ไร้ญาติขาดมิตร” หรือ ไม่มีญาติพี่น้อง หรือไม่มีเพื่อนฝูงที่สามารถให้ความช่วยเหลือและพึ่งพาได้ โดยผู้สูงอายุหญิงมีสัดส่วนการอาศัยอยู่คนเดียวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดที่ 15.7% ขณะที่ผู้สูงอายุชายอยู่ที่ 11.3%  โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวไม่มีผู้พาไปรับการรักษา ถือเป็นปัญหาสำคัญทำให้ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และสังคม ดังนั้นแม้ระบบสาธารณสุขจะมีเทคโนโลยีล้ำหน้า หรือช่วยยืดอายุให้แข็งแรงออกไปเพียงใด อาจไม่มีประโยชน์เลยหากไม่จัดให้บริการที่เป็นประโยชน์เหล่านี้เข้าไปถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านเพียงลำพัง

งานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย (Social Enterprise : SE.)  ซึ่งเป็นลักษณะของการรวมกลุ่มกันเพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ถือเป็นการจัดบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง และครอบคลุมให้กับคนทุกกลุ่มวัย และยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา การเคลื่อนย้ายของคนรุ่นใหม่กลับถิ่นที่อยู่เดิม อาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจหนึ่งของคนรุ่นใหม่และช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองแบบครบวงจร เช่น การสร้างระบบว่าผู้สูงอายุบ้านไหนต้องการเดินทางไปที่ไหน ในกรณีต้องการไปโรงพยาบาล นอกจากพาไปส่งต้องพาเดินด้วย เนื่องจากการรับบริการในโรงพยาบาลที่ผ่านมาผู้สูงอายุต้องเดินหลายแผนก และเมื่อเสร็จแล้วต้องพาผู้สูงอายุกลับบ้านด้วย

อีกรูปแบบหนึ่ง คือการนำบริการต่าง ๆ เช่น บริการทางสุขภาพ อาหาร กิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปหาตัวผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัย โดยเสนอว่า รัฐควรจะเป็นคนดำเนินการแต่ร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะในเมืองที่อาศัยในรูปแบบนิติบุคคล รถพุ่มพวงที่จำหน่ายอาหารจะไม่สามารถเข้าไปข้างในได้ แต่ในญี่ปุ่นรถพุ่มพวงจะสำรวจว่าบ้านไหนอยากได้อะไรและเดินเข้าไปส่งถึงหน้าบ้าน ถือเป็นการจัดบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง และครอบคลุมให้กับคนทุกกลุ่มวัย แต่บ้านเรายังติดเรื่องความเป็นส่วนตัว กฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งพบว่าเป็นอุปสรรคอย่างมากในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active