“นักเศรษฐศาสตร์” คาด ช่วยสร้างฐานรายได้ใหม่ ที่ผ่านมา Soft Power ยังขาดการจัดการอย่างมียุทธศาสตร์ ประเมินใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่า 90% ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70%
วันนี้ (8 ก.ย. 2566) รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ตั้งข้อสังเกตนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” หรือ One Family One Soft Power (OFOS) ที่ต้องการมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยเพิ่มเติมขนานใหญ่ โดยจะเปิดโอกาสให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้ามาฝึกอบรมผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ของตัวเองให้สูงขึ้น ทั้งการร้องเพลง การทำอาหาร การผลิตงานบันเทิงและศิลปะ การเขียนนิยาย และอื่น ๆ
รศ.อนุสรณ์ มองว่ามาตรการเพิ่มรายได้ สร้างงาน ผ่าน นโยบาย Soft Power OFOS จะช่วยบรรเทาวิกฤตหนี้ครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง และ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่า 90% ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70%
เนื่องจากมาตรการส่งเสริม Soft Power จะทำให้เกิดการ Reskill แรงงานหลายล้านคน พัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งระบบ รวมทั้งสามารถใช้การต่างประเทศเชิงเศรษฐกิจวัฒนธรรมเชิงรุก สร้างฐานรายได้ใหม่ได้ เป็น New Engine of Growth และ สิ่งนี้ ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อิตาลีฝรั่งเศส ได้มีบทเรียนแห่งความสำเร็จมาแล้ว
รศ.อนุสรณ์ ยกกรณีเกาหลีใต้ได้ขับเคลื่อน Soft Power ด้วยวัฒนธรรมผ่านการส่งออกอุตสาหกรรมความบันเทิง เกาหลีใต้ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงเผยแพร่ภาพลักษณ์ “เกาหลีใต้ใหม่” จูงใจให้คนอยากเป็นแบบเกาหลีใต้ ทำให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้ความเข้าใจและมอง “soft power” เป็นเพียงการสร้างความนิยมเพื่อผลทางการค้าหรือเศรษฐกิจเท่านั้น มุมมองนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ครบถ้วน จริง ๆ แล้ว “soft power” คืออำนาจที่ต้องอาศัยกระบวนการจัดการและตอบสนองต่อภาคการเมือง
“ประเทศไทยมี Soft Power แต่ขาดการจัดการอย่างมียุทธศาสตร์จากรัฐบาลหากพิจารณาองค์ประกอบตลอดกระบวนการ จะเห็นว่า soft power เป็นมากกว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านวัฒนธรรมหรือความบันเทิงอย่างแน่นอน”
รศ.อนุสรณ์ บอกว่าอีก ถ้านโยบาย “Soft Power” ของเพื่อไทยทำได้สำเร็จจะก่อให้รายได้อย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจไทย โดยจุดเน้นของนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยจะไปในทิศทางเดียวกับ เกาหลีใต้ เน้นประยุกต์ใช้ในมิติทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ โดยวิธีการโน้มน้าวให้ลูกค้าต่างชาติอยากได้ อยากมีอยากเป็น แบบไทย สิ่งที่ต่างชาติประทับใจในประเทศไทยจากอัธยาศัย ไมตรีรอยยิ้ม ความมีน้ำใจและอารมณ์ขัน ฝีมือการทำอาหารของไทย การต่อสู้อย่างมวยไทย ศิลปวัฒนธรรม และ การแต่งกายแบบไทยไทย เป็นต้น