เปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ‘พีมูฟ’ ห่วงเกิด นอมินี ใช้ประโยชน์ที่ดินจากเกษตรกรตัวจริง

พีมูฟ ย้ำ เจตนารมณ์ตรงกัน แต่ต้องไม่ผลักให้ “โฉนดสุดซอย” อยู่ในมือ ปัจเจก และเอกชน ลั่น! โฉนดต้องทำเพื่อ “เกษตรกร” ไม่เอื้อทุนกินรวบหาประโยชน์จากที่ดิน

จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 66 ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า “โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะสามารถแจกแก่พี่น้องเกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 67 และจะเริ่มทยอยออกโฉนดให้พี่น้องเกษตรกร ทุกจังหวัดภายใน 5 ปี ทำให้ประเด็นการแปลง ส.ป.ก. เป็นโฉนดถูกพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งหากดูจากรายละเอียดของการแปลง ส.ป.ก.ครั้งนี้จะพบว่า เป็นการเปลี่ยนเพื่อให้เกษตรกร สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินของตัวเอง ได้มากกว่าแค่การทำการเกษตร โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะขยายรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในรัฐบาลชุดนี้

The Active สัมภาษณ์ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ที่ยืนยันมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนด แต่สำหรับการเปลี่ยนครั้งล่าสุดยังถือว่าอยู่ในกรอบแนวคิดการถือครองที่ดินที่รับได้ แต่ย้ำว่า ต้องไม่ไปถึงการแปลง ส.ป.ก. เป็น โฉนดสุดซอย หรือ หมายถึง โฉนด อยู่ในความดูแลของเอกชน หรือ ปัจเจกบุคคล เพราะจะกลายเป็นปัญหาที่เอื้อต่อการเก็งกำไร ทำที่ดินให้เป็นสินค้า และกลายเป็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

4 กรอบเจรจาพีมูฟ VS รัฐบาล เรื่องที่ดิน ส.ป.ก. 4-01

ประยงค์ เล่าว่าที่ผ่านมาได้เจรจาประเด็นนี้กับรัฐบาลได้บทสรุป 4 ประเด็น คือ

  • นโยบายเกษตรไม่ได้นำที่ดิน สปก.เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน ยังมีสถานะเป็นของรัฐ ไม่เปลี่ยนเป็นเอกชน
  • ขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะชุมชนเกษตรมีวิถีที่เปลี่ยนไป จึงต้องมีการขยายขอบเขตการใช้ที่ดินของเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว เป็นการประกอบอาชีพอย่างอื่นด้วย แต่ต้องเป็นอาชีพของคนที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมนั้น หรือพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน
  • เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน เหมือนแปลงให้เป็นทุนได้ สามารถแปลงเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ เป็นสิ่งที่ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น
  • ให้สามารถเปลี่ยนมือได้ แต่ต้องระบุคุณสมบัติว่าเป็นเกษตรกร และทายาทก็ต้องเป็นรุ่นลูกหลานของเกษตรกร

ซึ่งหากยังเป็นไปตามการเจรจาตกลงทั้ง 4 กรอบนี้ ก็ถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมของกลุ่มพีมูฟ เพราะรัฐบาลปัจจุบันยังคงการถือครองที่ดินอยู่ในมือเกษตรกร เพิ่มเติมเพียง “ขยายการใช้ประโยชน์ที่ดิน” แต่ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ไม่ใช่ปัจเจก หรือเอกชน

“ประชาชนอาจจะเข้าใจผิดเมื่อรัฐใช้คำว่า ‘โฉนด’ แต่เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ยังอยู่ภายใต้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

P-Moveยังได้เสนอเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ เพราะจากการสำรวจพบว่า ขณะนี้มีคนที่ถือครองที่ดินโดยมิชอบ ขาดคุณสมบัติ หรือเป็นผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร เข้าไปถือครองที่ดินอยู่จำนวนมาก ทางกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายตรวจสอบสิทธิผู้ถือครอง โดยเริ่มจากผู้ถือครอง ส.ป.ก. ในรุ่นพ่อ และเมื่อเสียชีวิตลงก็จะมีผู้มารับมรดก คือ ทายาทโดยธรรม ซึ่งจะต้องเป็นเกษตรกร

นำไปสู่ การคัดกรองตรวจสอบผู้ที่ซื้อที่ดิน แต่มิใช่ทายาท ต้องเอาที่ดินคืนมาให้เกษตรกรต่อไป”

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)

ประยงค์ ย้ำว่า กว่าจะมาถึงวันที่ไทยมี พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 จนได้เป็น ส.ป.ก. เพื่อเกษตรกร เพื่อการเกษตรในวันนี้ ต้องแลกด้วยชีวิตของพี่น้องเกษตรกร มากกว่า 30 ศพ การบริหารจัดการที่ไปจนสุดซอย หรือผลักดันให้ไปถึงขั้นทำโฉนดที่ดินเป็นปัจเจก หรือเป็นของเอกชน จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการกระจุกตัวของที่ดิน และทำให้ความพยายามที่ผ่านมาสูญเปล่า

ห่วง “นอมินี” ใช้ประโยชน์ที่ดินจาก “เกษตรกรตัวจริง”

ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือ เอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีหลักว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน

แม้ตอนนี้นโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็น โฉนด จะอยู่ปากซอย ยังไม่สุดซอย แต่ที่ผ่านมา นโยบายพรรคอื่น ๆ ก็ยังทำให้เรื่องการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด น่ากังวลหากผลักดันไปถึงโฉนดสุดซอย อยู่ภายใต้การดูแลของปัจเจก หรือเอกชน รวมถึงการเปลี่ยนมือถือครองที่ดินในลักษณะของนอมินี ที่ยังน่าเป็นห่วง เพราะเป็นการสวมสิทธิให้เกษตรกรตัวจริงถือครอง แต่คนใช้ประโยชน์กลับไม่ใช่เกษตรกร เป็นการถือสิทธิแทน

รวมถึง การกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่กว้างมาก เช่น การกำหนดทรัพย์สินไว้ที่ 10 ล้านบาท ถ้าประสงค์จะมาทำการเกษตร ก็มีคุณสมบัติที่จะถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ได้ อันนี้จะเป็นจุดที่น่ากังวล

ผู้ใดมีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก.

ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ

  • เกษตรกร
  • ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
    – ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี
    – จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า
    – เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
  • สถาบันเกษตรกร
    – กลุ่มเกษตรกร
    – สหกรณ์การเกษตร
    – ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

พรรคการเมืองที่เคยชูธง เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็น โฉนด

การเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนด ไม่ใช่เรื่องใหม่ ของ พรรคการเมือง งัดออกมาหาเสียงแก้จน เพื่อให้ที่ดินของเกษตรกร ไม่ต้องทำแค่การเกษตร อย่างพลังประชารัฐ ชูเรื่องนี้ชัดต่อเนื่อง บางพรรคแตะบ้างเรื่องการใช้ที่ดินแก้ปัญหาความจน รวมถึงพรรคก้าวไกลที่เคยพูดถึงการเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดเช่นกัน

พรรคพลังประชารัฐ
๐ เปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 34 ล้านไร่ เป็น ส.ป.ก. 4.0 หรือ “โฉนดทองคำ”
๐ การเลือกตั้ง 66 พรรคพลังประชารัฐ โดยการนำของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ลั่นวาจา ว่า “เราจะทำให้ประชาชน 20 ล้านคนหายจน”
โดยมีนโยบาย “เปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนด” รวมถึง การผลักดันที่ดินคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้เป็นที่ดิน ส.ป.ก.

พรรคประชาธิปัตย์
๐ ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี

พรรครวมไทยสร้างชาติ
๐ “One map” เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนยืดเยื้อ

พรรคก้าวไกล
๐ คืนที่ดิน ให้ประชาชน 10 ล้านไร่ เปลี่ยน ส.ป.ก.นายทุน เป็นโฉนดให้เกษตรกร

ก้าวไกลคิดหลายชั้น-รัดกุม ป้องกันไม่ให้หลุดไปอยู่ในมือนายทุนหลายชั้น เช่น

  • เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.กับ ชื่อ ต้องตรงกัน
  • ตรงกับวัตถุประสงค์กับที่ใช้ประโยชน์อยู่ ล็อกสอง ห้ามเกิน 50 ไร่
  • ต้องทำเกษตรกรรมจริง
  • ปีแรกไม่สามารถขายได้ หากขายต้องขายให้กับธนาคารที่ดิน
  • ตรวจสอบทรัพย์สินย้อนหลังต้องมีไม่เกิน 10 ล้านบาทก่อนเปลี่ยนส.ป.ก.เป็นโฉนด
  • หากถือครองที่ดินครบ 10ปี ได้รับการจัดสรร

​ต้องไม่ลืมหลักใหญ่ใจความที่ว่า การเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนด และสามารถจำหน่าย จ่ายโอนได้นั้น ยังติดขัด ข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 ว่าด้วยที่ดินที่ บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือ โอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

และแน่นอนว่า จากนี้ไปนโยบายการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน จะยังถูกจับตาจากภาคประชาชน นักวิชาการ ที่ติดตามเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกษตรกรตัวจริงเสียสิทธิ์ และไม่ไปถึงจุดที่ทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้าสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำ การออกนโยบายในรัฐบาลเศรษฐา จึงเป็นอีกบทพิสูจน์ของการแก้ปัญหาความยากจน-เหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกร สุดท้ายและได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ว่า เกษตรกรไทยจะสามรถยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ดีแค่ไหนภายใต้การดูแลของ ผู้กองธรรมนัส เจ้ากระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active