กมธ.วิสามัญศึกษา “Land Bridge” ชุมพร-ระนอง นัดถก 25 ต.ค.นี้

“ศิริกัญญา” ตั้งข้อสังเกตผลศึกษาความคุ้มค่าหน่วยงานรัฐสวนทางกัน พบรายงานสภาพัฒน์ ย้อนแย้ง สนข. และมติ ครม. เรียกร้องเร่งศึกษารอบด้าน

หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลั พบปะผู้นำระดับโลก สานสัมพันธ์ไทยจีน, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย และชวนนานาประเทศมาลงทุน Landbridge ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง ท่ามกลางการจับตาจากหลายฝ่าย โดยหากดูข้อมูลตามที่ระบุไว้ใน มติ ครม. จากการรับทราบข้อมูลดังกล่าว พบประโยชน์ที่ประเทศไทย และคนในพื้นที่จะได้รับหลายประเด็น เช่น ในแง่ของการเติบโต GPD ที่จะเติบโตไปที่ 5.5% ต่อปี รวมถึงผลตอบแทนในแง่ของการจ้างงาน 280,000 ตำแหน่งทั้งใน จังหวัดชุมพร และระนอง

แต่อีกด้านก็มีข้อท้วงติงจากเครือข่ายภาคประชาชนบางส่วน ที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน และตั้งคำถามกับการเร่งรัดเดินหน้าโครงการดังกล่าว โดยออกแถลงการณ์ว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่รอบด้าน, ขณะที่การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA,EHIA) ก็ยังไม่แล้วเสร็จ โดยมีข้อเสนอให้เร่งศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เพื่อเป็นทางออกให้กับเรื่องนี้ 

ก้าวไกล ชี้ “Land Bridge” เหรียญ 2 ด้าน รายงานสภาพัฒน์ แย้ง สนข.

พรรคก้าวไกล ระบุผ่าน Facebook Fanpage แสดงความคิดเห็นต่อโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ  “โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge)” โดยมีเนื้อหาว่า ประชาชนที่ติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมา คงเคยได้ยินชื่อโครงการ “แลนด์บริดจ์” (Land Bridge) หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ที่ระบุในเว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าจะ “บูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ (ท่าเรือชุมพร กับ ท่าเรือระนอง) ให้เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย” ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยในขณะที่ผู้เสนอโครงการได้พูดถึงประโยชน์มากมายที่ประเทศจะได้รับ แต่เหรียญมีสองด้าน อีกฝั่งหนึ่งก็ยังมีคนตั้งคำถาม และต้องการให้โครงการนี้ถูกศึกษาอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อนผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการ

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ให้เห็นข้อมูลว่า การศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์มาแล้วหลายครั้ง เช่น รายงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ศึกษาที่เพิ่งเสร็จไปเมื่อเดือนเมษายน 2565 และมีอีกงานศึกษาในปีงบประมาณ 2566 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งทั้ง 2 รายงานประเมินความคุ้มค่าของโครงการออกไป 2 ทางแตกต่างกัน

  • รายงานของสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และไม่เหมาะที่จะลงทุน เช่นเดียวกับ โครงการคลองไทยที่ไม่คุ้มค่ายิ่งกว่า 
  • ขณะที่ รายงานของ สนข.กลับระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 16.18% คืนทุนภายในระยะเวลา 40-49 ปี 
  • มติของคณะรัฐมนตรี ที่ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นอัตราการคืนทุนถึง 17.43% ภายในระยะเวลา 24 ปี

ดังนั้นเห็นว่าการที่รายงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินศึกษามีผลขัดแย้งกันเช่นนี้ มาจากสมมุติฐานของปริมาณความต้องการที่เรือขนส่งสินค้าจะเปลี่ยนเส้นทางมาใช้แลนด์บริดจ์ แทนการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ขณะที่ งานของสภาพัฒน์เห็นว่าจะมีเรือมาใช้ไม่มาก เนื่องจากระยะเวลาลดลงไม่มากและมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น งานของ สนข. คาดว่า จะมีความต้องการเพิ่มสูง และเติบโตเทียบเท่าท่าเรือตันจุงเปเลปัสในมาเลเซีย จึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่สภาฯ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาลงรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ ศิริกัญญา ยังเป็นหนึ่งใน “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน” และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นี้เตรียมประชุมอีกครั้งในวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ ประกอบด้วย

สัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี 8 คน ประกอบด้วย

  • เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ
  • ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล
  • จิรโรจน์ ศุกลรัตน์
  • อนันต์ โพธิ์นิ่มแดง
  • นรินทร์ศักย์ สัทธาประสิทธิ์
  • ธิดา พัทธธรรม
  • พิทย อุทัยสาง
  • สราวุฒิ เนื่องจำนงค์

พรรคก้าวไกล 8 คน

  • ศิริกัญญา ตันสกุล
  • จุลพงศ์ อยู่เกษ
  • ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัฒร์
  • ศุภณัฐ มีนชัยนันท์
  • รศ.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์
  • ผศ.อาทิตย์ เพชรศศิธร
  • ผศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง
  • หาญณรงค์ เยาวเลิศ

พรรคเพื่อไทย 8 คน

  • วิสุทธิ์ ไชยณรุณ
  • ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม
  • เชิงชาย ชาลีรินทร์
  • สยาม หัตถสงเคราะห์
  • รชตะ ด่านกุล
  • ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์
  • ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
  • ธนาธร โล่ห์สุนทร

พรรคภูมิใจไทย 4 คน

  • สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง
  • คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์
  • มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล
  • วรศิษฏ์ เลี่ยงประสิทธิ์

พรรคพลังประชารัฐ 2 คน

  • ทวี สุระบาล
  • ฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์

พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน

  • อนุชา บูรพชัยศรี
  • ศาสตรา ศรีปาน

พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน

  • ประมวล พงศ์ถาวราเดช

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน

  • โกไสย เดชรุ่งเรือง

พรรคประชาชาติ 1 คน

  • สุไลมาน บือแนปีแน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active