#SAVEเกาะพยาม หยุด SEC – แลนด์บริดจ์  

ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว ชาวเลมอแกน จับมือภาคีเครือข่าย ปกป้องอนาคตเกาะพยาม จ.ระนอง หวั่นสูญรายได้จากการท่องเที่ยวนับพันล้าน ไม่คุ้มแลกท่าเรือแลนด์บริดจ์ กระทบทรัพยากร ก่อมลพิษ

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะพยาม ชาวเลมอแกนเกาะพยาม นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตัวแทนเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นตำบลราชกรูด เครือข่ายรักษ์ระนอง เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร ภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ กรีนพีซ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) และมูลนิธิภาคใต้สีเขียว จัดกิจกรรมรณรงค์  คิกออฟ  #SAVEเกาะพยาม และ ดินเนอร์ ทอล์ค “อนาคตเกาะพยาม ท่ามกลางคลื่นลมความเปลี่ยนแปลง” เพื่อสื่อสารรวมพลังปกป้องอนาคตเกาะพยาม หยุดโครงการแลนด์บริดจ์ และนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเพื่อประเมินกันต่อไปว่าภัยคุกคามจากโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังเข้ามานั้น จะส่งผลกระทบกับผู้คนในพื้นที่เกาะพยามอย่างไรบ้าง จะต้องรับมืออย่างไร  

ทุกภาคส่วนเห็นพ้องกันว่า เกาะพยายามอาจจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภายใต้โครงการเมกะโปรเจคต์ แลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร ที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ซึ่งเกาะพยายามจะต้องกระทบกับโครงการนี้โดยตรง จากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าว  ฝั่งจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นท่าเรือที่จะต้องรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้คราวละ 5,000 – 10,000 ตู้

ทั้งที่ เกาะพยามเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นเพชรอีกเม็ดแห่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่ที่ทะเลอันดามันจังหวัดระนอง บ้างก็ขนานนามว่า มัลดีฟล์เมืองไทย ถือเป็นเกาะสวยทะเลใสอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ด้วยบรรยากาศของธรรมชาติ หาดทราย และน้ำทะเลที่ใสสะอาด ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกที่จะเดินทางกันมาอย่างต่อเนื่อง หลายคนมาที่เกาะพยามทุกปี เสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของพวกเขา 

โดยจากการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่า กลับมาเที่ยวซ้ำอีกถึงร้อยละ 70 เหตุผลหลักที่ชอบเกาะพยามคือเหมาะกับการพักผ่อน มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ใหญ่กระจายทั่วเกาะ อากาศดีไม่มีมลพิษ ผู้คนเป็นมิตร เงียบสงบ สวยงาม และยังได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม อย่าง ชาวเลมอแกลนในพื้นที่ด้วย 

เกาะพยาม เป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอับดับ 2 ของจังหวัดระนอง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดระนอง ระหว่างเกาะช้างกับเกาะค้างคาว และมีชาวบ้านในท้องถิ่นอาศัยอยู่ด้วยประมาณ 160 หลังคาเรือน รวมถึงชาวเลมอแกลนที่ประกอบอาชีพชาวประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ด้วยเพราะทะเลรายรอบเกาะแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรและสัตว์น้ำ นอกจากนั้นคนในชุมชนมีการปรับตัวรองรับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้ไม่น้อยในรอบปีของการท่องเที่ยว 

หลายปีมานี้ จึงทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสะท้อนได้จากจำนวนผู้ประกอบการที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาจากภายนอก ทำให้มีการรังสรรค์ที่พักในปลายขนาดหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นบังกะโล วิลล่ากลางน้ำ และร้านอาหารร้านค้า บาร์ ร้านกาแฟสมัยใหม่ ที่มีการตกแต่งอย่างสอดรับกับธรรมชาติในแต่ละอ่าว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลากสไตล์

หวั่นแลนด์บริดจ์ ทำ ‘เกาะพยาม’ สูญรายได้การท่องเที่ยวนับพันล้าน!

จากการจัดทำข้อมูลโดย ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะพยาม เมื่อเดือน มี.ค. ถึง เม.ย. 2568 พบว่า เกาะพยามมีรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 1,259,630,000 บาท โดยฤดูกาลท่องเที่ยวประมาณ 6 เดือน อยู่ในช่วงเดือน พ.ย. 2567 ถึง เม.ย. 2568 ส่วนอีกครึ่งปีนั้นทรัพยากรธรรมชาติได้พักฟื้น ระบบนิเวศจึงยังคงสภาพดีอยู่มาก ตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

จุฑารัตน์ เรืองแก้ว ผู้ประกอบการ และตัวแทนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เกาะพยาม บอกว่า อยู่ที่นี่มา 20 ปีแล้ว จริง ๆ เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนแรกตั้งใจอยู่แค่ 2 ปี แต่พออยู่ไปชอบธรรมชาติที่นี่ความเป็นมิตรของคนที่นี่ และเราทำการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมาจากยุโรป หนีหนาวมา 3-6 เดือน จึงคิดว่าไม่ใช่แค่กิจกรรมการใช้ประโยชน์ แต่ต้องมีกิจกรรมอนุรักษ์ด้วย จึงตั้งวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำกิจกรรมเทรนด์การท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อม ดำน้ำช่วยกันเก็บขยะ และการปลูกปะการัง และการนึกถึงความมั่นคงยั่งยืนอาชีพคนบนเกาะด้วย

รายได้ดังกล่าวกระจายไปยังผู้ประกอบการและชาวเกาะพยาม ซึ่งได้รับประโยชน์จากธุรกิจการท่องเที่ยวบนเกาะจำนวน 24 ธุรกิจ และได้รับประโยชน์จากการจำหน่ายวัตถุดิบหรือกิจกรรมต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว เช่น ชาติพันธุ์มอแกน ซึ่งจับสัตว์น้ำมาจำหน่าย ในส่วนคนในเมืองระนองก็ได้รับประโยชน์จากธุรกิจจำหน่ายวัตถุดิบ ธุรกิจที่พักอาหาร และการเดินทางก่อนลงเกาะ อีกทั้งชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน เช่น เกาะหาดทรายดำ ก็นำสัตว์น้ำมาจำหน่ายที่เกาะพยามอีกด้วย 

ท่ามกลางความยั่งยืนจากการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นและรายได้กระจายไปยังผู้คนทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมในการจัดการใช้ประโยชน์คู่กับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน กลับกำลังถูกท้าทาย จากรัฐบาลที่อาจทำลายการท่องเที่ยวเกาะพยามด้วยการนำอุตสาหกรรมมาแทนที่การท่องเที่ยว โดยกำหนดให้เกาะพยามเป็นศูนย์ควบคุมการจราจรทางน้ำและอื่น ๆ ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร ซึ่งให้สัมปทานต่างชาติ 99 ปี อีกทั้งเกาะพยามได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง ซึ่งอยู่ห่างเกาะพยามเพียงประมาณ 1 กม. (ถมทะเล 2 เฟสหมื่นกว่าไร่)

ย้ำไม่คุ้ม! ทรัพยากร แลก อุตสาหกรรม

เกรียงศักดิ์ สุจิระกุล ผู้ประกอบการที่พัก และร้านอาหาร เกาะพยาม ยอมรับ เป็นกังวลอย่างมาก สำหรับผู้ประกอบการ เพราะมันกระทบกับการท่องเที่ยวในอนาคตอย่างแน่นอน โดยท่าเรือของโครงการแลนบริดจ์อยู่ตรงข้ามเกาะพยาม จะเป็นท่าเรือที่ใหญ่มาก ห่างจากเกาะพยาม 1 กิโลเมตร ตัวท่าเรือความใหญ่โตเกือบเท่าเกาะพยาม เพราะฉะนั้น ความกังวลเรื่องการไหลของกระแสน้ำ การจราจรที่คับคั่งทางเรือ และการก่อมลพิษ เป็นสิ่งที่เรากังวลว่า จะกระทบต่อเกาะพยามในอนาคต

“เชิงลึกที่ทราบว่าจะทำนิคมอุตสาหกรรมสร้างรายได้ ยิ่งก่อเกิดมลพิษทางทะเล ทางอากาศ อันนี้นักท่องเที่ยวก็สอบถามข้อมูลมาตลอดและแสดงความกังวลอย่างมาก ว่า ถ้าหากเกิดมลพิษแบบแถวระยอง กังวลว่าเกาะพยามคงต้องปิดกิจการท่องเที่ยวแน่นอน เพรานักท่องเที่ยวเขากังวล รวมถึงเรื่องอาหารทะเลต่าง ๆ ด้วย”

เกรียงศักดิ์ สุจิระกุล 

สอดคล้องกับ สายัณห์ วรวิสุทธิ์  ผู้ประกอบการ เกาะพยาม ยอมรับว่า ไม่ใช่แค่ฐานะของผู้ประกอบการ แต่ในฐานะลูกหลานคนที่เกิดที่นี่ ได้พยายามศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเกาะพยามมาตลอด เวลามองถึงคุณภาพชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งมีอาชีพ มีความมั่นคงอยู่แล้ว พอได้ข่าวเรื่องแลนด์บริดจ์ การจะสร้างสะพาน และท่อก๊าซ ก็มีคำถามว่าแล้วใครเป็นเจ้าของ การอ้างคนทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ แต่จริง ๆ ไม่มีใครได้

“เพราะจะมีการให้สัมปทาน ดังนั้นผู้ที่ให้สัมปทาน กับคนที่สัมปทานพื้นที่เท่านั้น ที่จะได้ใช้ทรัพยากร และการทำอุตสาหกรรมนั้นก็ส่งผลกระทบมลพิษตามมาอีก ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่แน่นอน”

สายัณห์ วรวิสุทธิ์ 

จากการจัดเวทีรณรงค์และฟังเสีงสะท้อนครั้งนี้ ได้ข้อสรุปสำคัญว่า จะมีการรณรงค์ต่อในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบในจังหวัดระนอง อย่างการ #Saveอ่าวอ่าง ซึ่งเป็นชุมชนชาวประมง และการทำความเข้าใจกับเพื่อน หรือ กลุ่มผู้ประกอบการในเมืองระนอง ถึงผลกระทบที่มีการเชื่อมโยงในห่วงซ่ารท่องเที่ยว และกิจการต่าง ๆ ในจังหวัดทั้งระบบ รวมถึงการติดตามข้อมูลโครงการ และการเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้กับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active