“นายกฯ เศรษฐา” ยัน ปลาย พ.ย.นี้ เตรียมประกาศ “มาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ” ขณะที่ ปธ.มูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ ขอรัฐบาลเอาจริงแก้หนี้นอกระบบ แนะเติม “หมอเงิน-หมอหนี้” ทุกชุมชน ปล่อยกู้อย่างเป็นธรรม
ภายหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับการแก้ใขหนี้สินของประชาชนรายย่อย” รวมทั้งสิ้น 26 คน โดยมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ ในส่วนของกรรมการเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหนี้สิน อาทิ ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, ประธานสมาคมธนาคารไทย ฯลฯ โดยมีหน้าที่สำคัญ คือ ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขสถานการณ์หนี้ของประชาชนรายย่อย เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวอย่างเป็นระบบ
ลดหนี้ กยศ. – คนค้ำประกัน หลุดหนี้!
สำหรับประเด็นหนี้ กยศ.นั้น กิตติรัตน์ ระบุว่า ขณะนี้ กยศ.อยู่ระหว่างดำเนินการคำนวณยอดหนี้ของลูกหนี้ใหม่ โดย กยศ.ได้ขอให้กรมบังคับคดี ชะลอการบังคับคดี และชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ขายทอดตลาด เพื่อรอผลการคำนวณยอดหนี้ใหม่ก่อน ซึ่งในบางกรณีเมื่อคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้ว ลูกหนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเลย เพราะหนี้ที่คำนวณใหม่ลดลงมาก
ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ยืนยันว่า ลูกหนี้ กยศ. ทุกรายจะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ตามกฎหมายใหม่ เช่น การลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% จากเดิม 18% นอกจากนี้ กยศ.จะเปิดให้ปรับโครงสร้างหนี้ โดยผู้ค้ำประกันเดิมทุกคนที่มีภาระอยู่ จะหลุดพ้นจากภาระค้ำประกัน โดยจะเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
เครือข่ายแก้หนี้ ชม รัฐบาลทำงานเชิงรุก จริงจังแก้หนี้
The Active พูดคุยกับ อาจิน จุ้งลก ประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ มองว่า คณะกรรมการชุดนี้มีความเชี่ยวชาญ และเกาะติดการทำงานด้านหนี้มานานกว่า 3 ปี เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องอาศัยความกล้าตัดสินใจของรัฐบาล โดยหยิบยกเรื่องล่าสุด คือ การปรับลดหนี้ กยศ. ซึ่งเป็นการเคาะมาตรการผ่านมาจาก “บอร์ดแก้หนี้ฯ” ซึ่งถือเป็นการนำเอากฎหมายออกมาใช้บังคับจริง โดยเฉพาะผู้จัดการ กยศ. ที่ไม่เคยใช้มาตรการเหล่านี้ในการลดหนี้ เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนผู้ค้ำประกัน 3.2 ล้านคน ปลดหนี้ได้ตามกฎหมายใหม่ ย้ำให้ลูกหนี้ กยศ. อย่าลังเล รีบไปที่กรมบังคับคดี เพราะการเดินหน้าของรัฐบาลรอบนี้ ลูกหนี้ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันยังเป็นมาตรการที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด พร้อมขอบคุณที่รัฐบาลกล้าตัดสินใจเรื่องนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่ ปลดล็อคผู้ค้ำประกันหลายล้านคน ถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุกอย่างแท้จริง
ถัดมา คือ การแก้หนี้ข้าราชการ ครู ตำรวจ ฯลฯ ที่รัฐบาลจะเตรียมเดินหน้า โดย อาจิน เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการหยิบนโยบายแก้หนี้มาจากการขับเคลื่อนนโยบายแก้หนี้ครู จากรายการ “นโยบาย by ประชาชน” ทางไทยพีบีเอส ไปต่อยอด และเป็นหนึ่งในทีมของคณะกรรมการแก้หนี้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงมีความมั่นใจว่า การแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศไทยจะเดินหน้าไปถูกทิศถูกทางมากขึ้น
โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมขอให้รัฐบาลเร่งแก้ “หนี้นอกระบบ” ที่ต้องมี ศูนย์ one stop service เกิดขึ้นให้ประเทศไทย ปราบเจ้าหนี้นอกระบบได้ และควรปรับโทษให้รุนแรง มีรางวัลนำจับสำหรับเจ้าหนี้ที่ไร้ธรรมาภิบาล เนื่องจากคณะทำงานชุดนี้ มีตัวแทนจาก รอง ผบ.ตร. ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้แก้หนี้นอกระบบด้วยการตั้งกองทุนฯ เพื่อให้คนไทยปลดหนี้นอกระบบ มีความมั่นคงโดยไม่ถูกทำร้ายข่มขู่ แนะเพิ่มกำลังคน 2 แสนคนที่พร้อมทำเรื่องนี้เป็น “หมอเงิน หมอหนี้” กระจายอยู่ในทุกชุมชน เพื่อปล่อยกู้ และเก็บเงินแทนเจ้าหนี้นอกระบบ โดย อาจิน ย้ำว่า มาตรการการเอกซเรย์ หนี้นอกระบบจากบ้านและชุมชน ถือเป็นมาตรการเชิงรุก มิติใหม่การแก้หนี้ ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน
โมเดลหนองบัวลำภู แก้หนี้เริ่มจากชุมชน
ละเอียด ปู่หลุ่น ผู้บริหารมหาวิชชาลัยครุไทยบ้าน และ ประธานเครือข่ายหนองบัวลำภูวิถีใหม่ เล่าว่า เครือข่ายเดินหน้า 3 ยุทธศาสตร์ สร้างประชาชนวิถีใหม่, ท้องถิ่นวิถีใหม่, และการเมืองวิถีใหม่
ทำงานร่วมกันระหว่าง มหาวิชชาลัยครุไทยบ้าน (ที่ถอดแบบการเรียนรู้มาจากมหาวิชชาลัยปูทะเลย์ เครือข่ายกสิกรรมมาบเอื้อง) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ ฟอริด้า สหรัฐฯ, สถาบันการเมืองวิถีใหม่, และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่เข้ามาช่วยเรื่องการเปลี่ยนกรอบความคิด เพิ่มศักยภาพให้ชุมชนสามารถผลิต และพึ่งพาตัวเองได้ โดยเน้นให้คนในชุมชน มีเครื่องมือไว้เลี้ยงชีพ
โดยโครงการที่กำลัง คือ การสร้างฐานราก OVOS (One Village One Shop) หรือ 1 หมู่บ้าน 1 ร้านค้า เน้นการปรับวิธีคิดเรื่องการเงิน และการสร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร หรือทุนทางทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตัวเอง ปัจจุบันสามารถขยายผลไปได้ 29 จังหวัด 193 หมู่บ้าน จาก 75,076 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2567 จะขยายผลเพิ่มให้ได้ 50% ของทั้งหมด หรือประมาณกว่า 30,000 หมู่บ้าน
ทั้งนี้คาดว่า ครม.สัญจร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4-5 ธ.ค.66 จะได้นำข้อมูลโมเดลการแก้หนี้ระดับชุมชนนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐสนับสนุนการขยายผลองค์ความรู้การแก้หนี้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดย ประธานเครือข่ายหนองบัวลำภูวิถีใหม่ ย้ำว่า สิ่งสำคัญมากกว่าเงิน คือ การปรับวิธีคิด และเครื่องมือปลดหนี้ จะช่วยทำให้ ประชาชน ปลดหนี้ได้โดยเริ่มจากตัวเอง