“ภาคธุรกิจชุมพร” มองโอกาส “แลนด์บริดจ์” กระตุ้น ศก. – ท่องเที่ยว

ชูมือหนุน! เชื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้ เสนอส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร, อาหารฮาลาล ตอบโจทย์คนในพื้นที่ หวังเพิ่มท่าเรือท่องเที่ยว ชูหมุดหมายใหม่การเดินทาง แนะรัฐวางมาตรการเยียวยาชาวบ้านชัดเจน รวดเร็ว ลดข้อกังวลกรณีเวนคืนที่ดิน

วันนี้ (22 ม.ค. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีกำหนดการลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 โดยวันนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีภารกิจติดตามพื้นที่ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝังทะเลอ่าวไทย- อันดามัน (Land Bridge ระนอง – ชุมพร) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ภาครัฐตั้งเป้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และ อันดามัน เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าที่ผ่านมาโครงการแลนด์บริดจ์ ถูกคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชนในพื้นที่ โดยมองว่าการเข้ามาของแลนด์บริดจ์ อาจสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงฐานทรัพยากรที่อาจเปลี่ยนไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดใจ เกษตรกรชุมพร หวั่น บ้าน-ที่ดินทำกิน ถูกเวนคืน สร้างแลนด์บริดจ์

เสียงสะท้อนชาวแหลมริ่ว จ.ชุมพร “เอา-ไม่เอา” แลนด์บริดจ์ กังวลมาตรการเยียวยาไม่ชัดเจน

แต่อีกด้านก็ต้องยอมรับว่า มีมุมมองจากภาคธุรกิจ ที่เห็นว่าแลนด์บริดจ์ อาจช่วยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของพื้นที่ แม้ยังมีข้อกังวลถึงความไม่ชัดเจนต่อมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ที่ส่งผลให้เกิดแรงต้านจากประชาชนในแนวเขตพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนที่ดิน

The Active พูดคุยกับ 3 ตัวแทนภาคธุรกิจใน จ.ชุมพร มองว่า “แลนด์บริดจ์” กำลังจะกลายเป็นโอกาส และความคาดหวังในระยะยาวให้กับพื้นที่

กมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร

“แลนด์บริดจ์” โอกาสไทย เชื่อมการค้าโลก

กมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร ระบุว่า “เห็นด้วย” กับโครงการแลนด์บริดจ์ โดยแบ่งออกเป็น 3 มิติ คือ

  1. โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยส่งเสริมการนำเข้าและขนส่งสินค้าของ 2 ฝั่งมหาสมุทร ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก และ มหาสมุทรอินเดีย ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ คือ ท่าเรือแหลมริ่ว จ.ชุมพร และ ท่าเรืออ่าวอ่าง จ.ระนอง เชื่อมต่อด้วยมอเตอร์เวย์ 6 ช่องทาง และมีรถไฟทางคู่ 2 ประเภท นับเป็นคือโอกาสของไทยที่จะเชื่อมสู่การค้าโลก

  2. ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไทยเป็นฝ่ายบริโภคสินค้าจากต่างประเทศ แต่จะพลิกมาเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก นำเงินเข้าประเทศ หวังให้เป็นจุดเปลี่ยนประเทศ และนอกจากจะมีทางเชื่อม 2 มหาสมุทร พบว่าจากเหนือลงใต้ มีเส้นทางคมนาคมทางบก ที่หากมาจากจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงมาต่อที่ลาว เข้ามาที่ไทยซึ่งมีรถไฟรางคู่ หรืออนาคตจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ลงมาตัดผ่านกับเส้นทางแลนด์บริดจ์ หากการสร้างนิคมอุตสาหกรรม หลังท่าเรือทำไม่สำเร็จ อาจขยับไปสร้างตามแนวรถไฟรางคู่ เชื่อว่า จะเป็นการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศได้ทั้ง 2 ฝั่ง ถือเป็นประตูการค้าโลกของภูมิภาค

  3. หากแลนด์บริดจ์ทำได้สำเร็จ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคใต้ โดยเฉลี่ยปีละ 1.3 แสนล้านบาท 

ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร ระบุอีกว่า อุตสาหกรรมหลักที่ควรจะเกิดขึ้นตามโครงการแลนด์บริดจ์ คือ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร, การผลิตอาหารฮาลาล, อุตสาหกรรมเทคโนโลยี เป็นต้น

ขอรัฐชัดเจนเยียวยาชาวบ้าน เชื่อลดแรงต้าน

แต่สิ่งที่ควรจะทำให้ชัดเจน เป็นรูปธรรมโดยเร็ว คือ มาตรการชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืน หรือการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกด้าน ซึ่งประเด็นนี้น่าเห็นใจชาวบ้าน และหากปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายปกติอาจจะล่าช้าเกินไป เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แนวผลกระทบทุกคนต่างก็มีความกังวล 

“อยากจะให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้กรุณาให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ เช่น การออกกฎหมายพิเศษ เพื่อให้ความชัดเจนเรื่องราคาการประเมิน เงินเยียวยา หรือทางเลือกอื่น ๆ ที่ประชาชนเขายอมรับได้ และสามารถคุยกันได้แบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เราพยายามให้เกิดสถานการณ์ win-win ก็จะทำให้ชาวบ้านพอใจ สิ่งที่เขาต้องเสียไป ขณะเดียวกันเมื่อมีที่ดินในโครงการแล้ว โครงการจะตอบโจทย์สภาพเศรษฐกิจของเขาในอนาคตอย่างไร และเมื่อโครงการนี้สำเร็จ เราไม่ควรละเลยคนพื้นที่ตรงนั้น”

กมล เรืองตระกูล
สุรินทร์ เหล่าพัทรเกษม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร

สอดคล้องกับ สุรินทร์ เหล่าพัทรเกษม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร ยอมรับว่า ข้อกังวลที่คนไม่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ คือ “การเวนคืนที่ดินทำกิน” ที่ยังขาดความชัดเจน มองว่า รัฐบาลเดินหน้าเร็วเกินไป จนลืมประชาชน ทำให้โครงการมีแรงต้านสูง รวมทั้งความคุ้มค่าของโครงการที่ไม่เพียงการนำเสนอการสร้างเส้นทาง เพราะคนอาจมองว่าไม่คุ้มค่า ควรสนับสนุนอุตสาหกรรมการทำสินค้าแปรรูปทางการเกษตร ทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางด้วย

หวังพื้นที่อุตสาหกรรมดึงคน ถีบท่องเที่ยวเติบโตขึ้น

จากการหารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลายคนเห็นว่า แม้มีผลกระทบอยู่บ้างแต่เชื่อว่า จะเกิดผลดีมากกว่า เช่น จะมีการย้ายเข้า จ.ชุมพร มากขึ้น คาดว่าการท่องเที่ยวจะเติบโตได้ถึง 50% จากตัวอย่างของ “นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี” ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่แต่ไม่กระทบกับนักท่องเที่ยว และทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พบว่าไม่ได้ตัดผ่านโดยตรง เพียงแค่เฉียดเท่านั้น พร้อมเสนอ ให้สร้างท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวไปพร้อมกับท่าเรือน้ำลึก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

“เรือสำราญที่ผ่าน จ.ชุมพร ไปเกาะสมุย ไปพะงัน ไปภูเก็ต ก็พยายามจะแวะที่ชุมพร ก็ปรากฎว่าเราไม่มีท่าเรือ ที่จะรับนักท่องเที่ยวหลักหมื่น ไม่สามารถรับได้ คิดว่าถ้าแลนด์บริดจ์มา คิดว่าอย่างน้อยเราก็ได้เพราะสามารถแวะ และทำให้นักท่องเที่ยวของเราเพิ่มขึ้น”

สุรินทร์ เหล่าพัทรเกษ
อนัน รามพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร

ขณะที่ อนัน รามพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร บอกว่า ปัจจุบัน จ.ชุมพร มีผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยวราว 200 ราย และได้พูดคุยกับผู้ประกอบการแล้วว่าพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ เป็น 2 อำเภอตอนใต้ของจังหวัด วิเคราะห์ผลระยะสั้น ระยะยาว แล้วคาดว่าในระยะสั้น ระหว่างที่ขนย้ายเครื่องจักร ขนย้ายผู้คนในพื้นที่การก่อสร้าง จะเกิดการกินการใช้ในพื้นที่ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว สถานบันเทิง ส่วนระยะยาว การเดินทางนักท่องเที่ยวง่ายขึ้น คือ นอกจากเครื่องบิน สามารถมาทางเรือได้ เชื่อว่า ยอดของการท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้น ในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มองว่าโครงการใหญ่ขนาดนี้น่าจะมีการศึกษามาอย่างดีแล้ว

“ที่คุยกับนักท่องเที่ยว มันอยู่แค่ 2 อำเภอ เราพูดว่าแค่ 2 อำเภอไม่ได้ เราต้องพูดว่าส่วนหนึ่งของจังหวัดชุมพร และชุมพรก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ผลกระทบอย่างไรเราก็ต้องมองกันอยู่แล้ว แต่คิดว่าโครงการใหญ่ มองว่าการทำวิจัย หรืออะไรบางอย่าง มันก็ต้องควบคุมมาทุกอย่างเรามองในภาพนี้กัน แล้วก็ถามว่ากังวลไหม โดน 2 อำเภอ ก็มีกังวลบ้างแต่เป็นส่วนเล็กน้อย เรามองในภาพใหญ่ คือเศรษฐกิจของภาคใต้ 14 จังหวัด มันก็เหลืออยู่แค่นี้ จึงเป็นความหวังของคนชุมพร เราอยากได้”

อนัน รามพันธ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active