เงินหมื่นเฟส 2 แจกสูงวัย แต่ “เบี้ยยังชีพ” 13 ปี ยังไม่เคยเพิ่ม

‘กมธ.สวัสดิการฯ’ ตั้งข้อสังเกต “งบฯ 4 หมื่นล้าน” ใกล้เคียงทำ “บำนาญประชาชน” ต่างที่ แจกรอบเดียว ไม่จบ วงเสนอนโยบายฯ ถก “เพิ่มเบี้ยยังชีพ” ไทยทำได้หรือไม่ ?

จากรายงานข่าว คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมนัดแรก เห็นชอบการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท เป็นเงินสดให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีการลงทะเบียนในระบบทางรัฐ และยืนยันตัวตนผ่านแล้ว ประเมินว่าทั้งหมดไม่เกิน 4 ล้านคน วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท โดยเฟส 2 ยังเป็นการแจกเงินสด ที่รัฐบาลพิจารณาแล้วว่า กลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องได้รับเงินก่อน และผู้ที่ได้รับเงินจะได้รับก่อนวันตรุษจีน ปี 2568 หรือ วันที่ 29 ม.ค. 2568 ส่วนเฟส 3 จะจ่ายให้ในช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. 2568

วันนี้ (23 พ.ย. 2567) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกต ว่า ดิจิทัลวอลเล็ต 40,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงบฯ สวัสดิการ “บำนาญประชาชน” ที่ต้องใช้เงิน 48,000 ล้านบาท ต่างกันตรงที่งบฯ สวัสดิการบำนาญจะต้องจ่ายทุกปี ไม่เหมือนดิจิทัลวอลเล็ตที่จ่ายแบบครั้งเดียวจบ สะท้อนถึงความสำคัญของเจตจำนงทางการเมือง ว่าสะท้อนสิ่งที่ประชาชนต้องการได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากมองไปที่นโยบาย “บำนาญถ้วนหน้า” เป็นนโยบายที่สำคัญ จุดแรก คือ ประชากร เกือบ 20% เป็นคนสูงวัย และมีรายรับอันดับ 1 มาจากการทำงาน อันดับ 2 คือ เบี้ยยังชีพ นั่นหมายความว่า 20% ของคนสูงวัย กำลังพึ่งพาเงินก้อนนี้ แต่คำถาม คือ รัฐจะพยุง สนับสนุนชีวิตคนกลุ่มนี้ให้ดีขึ้นได้จริงหรือไม่ ?

“เบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท วันนี้ไม่สามารถยังชีพได้จริง ต้องไม่ลืมว่าประชากร 20% สูงวัยไทยพึ่งพา เบี้ยยังชีพ ของรัฐเป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่อีกด้าน เงินบำนาญต้องใช้งบประมาณสูง 48,000 ล้านบาท หากนโยบายนี้เป็นความต้องการของประชาชน แต่ต้องจ่ายทุกปี ไม่เหมือนกับดิจิทัลวอลเล็ตที่จ่ายทีเดียวจบ จะทำอย่างไร ยังเป็นคำถามสำคัญ”

ขณะที่ ทพญ. ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุ นโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เป็นนโยบายสำคัญที่เพื่อไทย หรือแม้แต่ไทยรักไทย พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง และเบี้ยยังชีพ ยังมีการปรับเบี้ยแบบขั้นบันได ในปี 2554 สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังคงให้มาอย่างต่อเนื่อง “600-1,000 บาท” แต่การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ เป็น บำนาญฯ จะมีความแตกต่างกัน เพราะปัจจุบันงบประมาณที่ใช้พัฒนาคุณภาพประชาชนอยู่ที่ 30% ของงบประมาณ ซึ่งยอมรับว่า เป็นงบฯจำนวนมากอยู่แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน การคลัง

ย้อนดูพัฒนาการ เบี้ยยังชีพสูงวัย

ถ้าเทียบจำนวนเงิน 10,000 บาท ที่คนอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังจะได้ เท่ากับ เบี้ยสูงอายุในอัตราที่สูงสุด คือ 1,000 บาทต่อคน ที่ผู้มีอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับในเวลานี้ จำนวน 10 เดือน รวมกัน ขณะที่ ไทยอยู่ในสังคมสูงวัย 1,000 บาทต่อเดือน ก็ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลยังพบด้วยว่าประเทศไทยไม่เคยปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพมานานกกว่า 10 ปี

ย้อนดูจุดเริ่มต้น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 ในรูปแบบสวัสดิการสงเคราะห์เฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน คนละ 200 บาทต่อเดือน ต่อมาปี 2540 มีการปรับขึ้นเบี้ยยังชีพเป็น 300 บาทต่อเดือน และเพิ่มเงื่อนไข คือ ต้องมีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ถูกทอดทิ้ง ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู

หลังปี 2549 ครม. เพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 500 บาท จนกระทั่งในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับเบี้ยยังชีพจากอัตราคงที่เป็นแบบขั้นบันไดเริ่มที่ 600-1,000 บาท ตามช่วงอายุ และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือ ผู้ได้รับสิทธิต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป

  • ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้เบี้ยยังชีพ 600 บาทต่อเดือน
  • อายุ 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน
  • อายุ 80-89 ปี ได้ 800 บาทต่อเดือน
  • อายุ 90 ปี ขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่ ผลการศึกษาของกระทรวงการคลัง ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า รายได้หลังเกษียณของผู้สูงอายุไม่ควรน้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ จึงจะพอกับค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตให้ใกล้เคียงกับวัยทำงาน แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ ผลวิจัยก็พบว่า ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของผู้สูงอายุทั่วประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ยังสูงกว่าขั้นสูงสุดของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเวลานี้

ข้อเสนอบำนาญ เบี้ยยังชีพประชาชน

สมชาย กระจ่างแสง เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุ คนไทยสูงวัยส่วนใหญ่ไร้เงินเก็บ และพึ่งพาเบี้ยยังชีพจากรัฐเป็นรายได้หลัก จึงมีข้อเสนอให้รัฐร่วมสร้างตาข่ายรองรับสังคมสูงวัยด้วย “บำนาญประชาชนถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน” ที่ต้องใช้วงเงินงบประมาณมากกว่า 48,000 ล้านบาท/ปี เพราะแม้ปัจจุบัน ไทยจะมีระบบรองรับเกษียณสูงวัย ทั้ง ระบบบำนาญข้าราชการ, ประกันสังคม และเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท (เฉลี่ย 20 บาทต่อวัน) แต่เบี้ยยังชีพก็ยังไม่เพียงพอ สวนทางกับค่าครองชีพ และยังต่ำกว่าเส้นความยากจน 3,034 บาท ต่อเดือน

“30% ของสูงวัยไม่มีเงินเก็บ ในรายที่มีเงินเก็บ 60% มีไม่เกิน 2 แสนบาท ถ้าเข้าสู่สูงวัยจะมีชีวิตที่ดี สภาพัฒน์ ทำข้อมูลไว้ต้องมี 3.1 ล้านบาท (เป็นอย่างน้อย) ขณะที่ “เบี้ยยังชีพ” เป็นแหล่งรายได้หลัก 3 อันดับแรก ของ ผู้สูงอายุ

สมชาย กระจ่างแสง เครือข่าย ปชช. เพื่อรัฐสวัสดิการ

หลักการสำคัญของข้อเสนอของเครือข่ายฯ คือ เสนอให้บำนาญ เป็นสิทธิ์ ของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จ่ายเป็นรายเดือน และจ่ายตามเส้นความยากจน 3,034 บาท เสนอตาข่ายรองรับสูงวัยด้วยบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน สอดคล้องกับสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม ซึ่งก็ศึกษาเรื่องการพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน 1 ในข้อเสนอ คือ ปรับการจ่ายเบี้ยบำนาญพื้นฐานประชาชน โดยจะเริ่มในปีงบประมาณ 68-70%

  • ปีงบประมาณ 2568 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 1,200 บาท เป้าหมายประมาณ 12.2 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.76 แสนล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2569 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 2,000 บาท เป้าหมาย 12.7 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 3.05 แสนล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2570 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท เป้าหมาย 13.1 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 4.74 แสนล้านบาท

แจกดิจิทัลวอลเล็ต แค่ระยะสั้น – อย่าลืมปรับเชิงโครงสร้างระยะยาว

ด้าน ผศ.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์  ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ชัดเจนว่า การแจกเงินหมื่นไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ไม่ได้มีพายุหมุนทางเศรษฐกิจอย่างที่หาเสียงไว้ เพราะเห็นการกระจุกตัวของการจับจ่ายใช้สอยที่ยังคงอยู่กับกลุ่มทุน ไม่ได้ไปที่รายย่อย ขณะที่ การแจกเงินเฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ อาจจะช่วยต่อชีวิตของคนจำนวนมาก แต่เป็นเพียงแค่ระยะสั้น จึงควรนำเงินตรงนี้ไปลงทุนกับการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับอนาคตของประเทศ เช่น การลงทุนกับการพัฒนาทักษะ และงานวิจัย (R&D) โดยมีข้อเสนอในการลงทุนระยะยาวของภาครัฐ ในวงเงิน 40,000 ล้านบาท เช่น การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะ AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยได้มากกว่าหลักล้านคน, การยกระดับความสามารถของ SMEs หรือ ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวรับโลกรวน พร้อมระบุอีกว่า ด้วยวงจำนวนนี้ น่าจะสามารถช่วยสนับสนุนได้เป็นล้านราย เช่น โครงการมิยาซาวาแพลน สอนให้ประชาชนทำโปรแกรมในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึง การแก้ปัญหาระดับโครงสร้างในยุคที่สังคมสูงวัยไทยอยู่ในขั้นสุด และมีวิกฤตเรื่องเงินออม พร้อมมีข้อสังเกตว่า ประเด็นการมีบำนาญประชาชน อาจทำได้ยาก เพราะแรงต้านจากกลุ่มที่เสียประโยชน์ แต่ระยะยาว หากยังต้องผลักดันเรื่อง “บำนาญถ้วนหน้า” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยืนยัน ว่า แหล่งเงินที่จะนำมาทำบำนาญ ต้องปฏิรูปภาษีและงบประมาณ และการออมที่กวาดทุกคนเข้าระบบ แต่เป็นเรื่องยากในทางการเมือง เพราะเป็นการแตะเชิงโครงสร้างเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ที่ผลประโยชน์ และทรัพยากรทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่ตระกูลบนยอดพีระมิด

สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ถูกนำเสนอระหว่างการบันทึกเทป รายการนโยบาย by ประชาชน ซึ่งมีกำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องดิจิทัลหมายเลข 3 เร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ จะถูกรวบรวมและนำเสนอบนเว็บไซต์ Policy Watch ของไทยพีบีเอส เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น และโหวตให้กับนโยบายที่ชื่นชอบหรือพร้อมจะให้การสนับสนุนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active