มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล ดันหนี้สาธารณะใกล้กรอบกฎหมาย 70% ทีดีอาร์ไอคาดอีก 3-4 ปีข้างหน้า เสี่ยงกระทบการคลังและเศรษฐกิจ แนะขึ้น VAT หารายได้เพิ่ม ลดนโยบายประชานิยมจำกัดรายจ่าย แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
วันนี้ (10 ธ.ค.2567) ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะมีการแจกเงิน 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุประมาณ 4 ล้านคน ใช้วงเงินไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทเมื่อไหร่ หลังโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลเฟสแรกให้กับกลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคนผ่านไปแล้ว รวม 145,552 ล้านบาท ซึ่งหากรวมวงเงินทั้งเฟสแรก และเฟส 2 ที่เตรียมจะแจกจะอยู่ที่ประมาณ 185,552 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลได้ตั้งงบกลางเพื่อใช้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 147,700 ล้านบาท
ทั้งนี้เงินส่วนใหญ่ได้มาจากการกู้เงินในงบประมาณปี 67 และปี 68 ส่งผลให้ปัจจุบันรัฐบาลมีภาระหนี้มากขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุดของไทย สิ้นเดือน ก.ย. 67 มีมูลค่า 11,627 ล้านบาท คิดเป็น 63.28% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) และจากในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึง 68.9% ต่อจีดีพี ใกล้ชนกรอบเพดาน 70% ตามที่กฎหมายกำหนดใน พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง)
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ระบุว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยมีความน่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการใช้จ่ายจำนวนมากจากนโยบายต่าง ๆ เช่น โครงการแจกเงิน ซึ่งมีการใช้เงินระดับหลายแสนล้านบาท ในขณะที่ความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาลกลับไม่ค่อยดี ซึ่งเป็นแบบนี้มากว่า 10 ปีแล้ว
สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ภาษีต่อรายได้ประชาชาติ เดิมไทยอยู่ที่ 16-18% ตอนนี้เหลือ 13-14% เมื่อรายได้ลดลงและรายจ่ายเพิ่มขึ้น ก็น่าเป็นห่วงว่าจะทำให้รัฐบาลขาดดุลการคลังเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ต้องกู้เงินเพิ่ม ทั้งการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล และกู้หนี้กรณีพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลายเป็นหนี้สาธารณะ
เดิมหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นมาเยอะจากช่วงโควิด-19 เพราะจำเป็นต้องใช้เงินฟื้นฟู แต่ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันก็ทำให้เพิ่มขึ้นไปอีกจากการดำเนินนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ
หากดูตัวเลขงบประมาณปี 67 มีการขาดดุลการคลังค่อนข้างสูง และในอนาคตตามแผนการคลังระยะปานกลาง การขาดดุลจะมากขึ้นต่อเนื่อง สัดส่วนประมาณเกือบ 4% ต่อจีดีพี ถือเป็นการขาดดุลที่สูงมาก หากเป็นเช่นนั้นจริง หนี้สาธารณะไทยอาจขยับขึ้นแตะ 70% อย่างรวดเร็ว
เมื่อหนี้สาธารณะสูงขึ้น รัฐบาลก็จะมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนมากขึ้น ปัจจุบันภาระเงินต้นและดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายหนี้มีค่อนข้างสูง ที่สัดส่วน 11-12% ของงบประมาณ และคาดว่าอีก 3-4 ปีนับจากนี้ จะเพิ่มขึ้นสูงจนชนเพดานที่สัดส่วน 15% ของงบประมาณ หมายความว่ารัฐบาลจะมีเงินไปพัฒนาประเทศน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นค่าเสียโอกาสของรัฐบาล หากไม่มีงบประมาณก็จะส่งผลกระทบในด้านการคลังและเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายลงทุนของรัฐบาล ที่ใน พ.ร.บ.วินัยการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดสัดส่วนไว้ต้องไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ
“อันดับความน่าเชื่อถือ หรือที่เรียกว่า เครดิตเรตติ้ง (Credit Rating) หากไทยถูกปรับลดอันดับ จะทำให้เวลารัฐบาลกู้เงิน เช่น ขายพันธบัตร ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น และจะทำให้ดอกเบี้ยตราสารหนี้ของเอกชนสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง เพราะต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจสูงขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง”
แม้รัฐบาลจะสามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะให้มากกว่า 70% ได้ แต่จะทำให้ความเชื่อมั่นน้อยลงในเรื่องวินัยการเงินการคลังของไทย ส่วนในตัวกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แม้ไม่ได้มีบทลงโทษรัฐบาลหากหนี้สาธารณะเกินกรอบกำหนด แต่คิดว่าอาจจะเข้าข่ายความผิด ม.157 เพราะเป็นเรื่องข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สมชัย แนะนำรัฐบาลว่า ต้องวางแผนระยะยาวไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มรายได้ เช่น เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% ดึงคนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นจากเศรษฐกิจนอกระบบ ตัดลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออก และจำกัดรายจ่ายที่ไม่ควรทำ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ
นอกจากนี้รัฐบาลควรนำเงินไปลงทุนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย และพัฒนาทักษะคนไทย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น เพราะเมื่อมีคนเก่งมากขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขี้น และรัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้น
“ผมว่ามันพิสูจน์แล้ว คือ รัฐบาลจ่ายเงิน ที่แปลงร่างมาจากดิจิทัลวอลเล็ต เข้าใจว่าเกือบ ๆ 200,000 ล้านเนี่ย เห็นได้ว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นอะไรเลย น้อยมาก อันนี้ก็เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่าที่บอกว่าเพราะความเชื่อรัฐบาลที่พยายามมาชวนให้เราเชื่อว่า ถ้าจ่ายเงินไปเนี่ยเศรษฐกิจมันจะโตมันจะขยายตัวมันจะฟู่ฟ่าโน่นนี่ต่าง ๆ เนี่ย ผมว่ามันพิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริง”
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง