หลังไทยเสียแชมป์พลังงานแสงอาทิตย์ ให้ ‘เวียดนาม’ พบ ร่างแผน PDP2024 ไม่เอื้อ ทั้งที่ศักยภาพบนหลังคา ผลิตพลังงานได้ปริมาณสูง แต่สวนทางภาครัฐรับซื้อต่ำ ย้ำ Crowdfunding เป็นทางออกได้ ด้วยแรงจูงใจจากรัฐบาล ต้องมองเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (CFNT) แถลงผลการวิจัย ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ใช้พลังมวลชน : เพิ่มการเข้าถึงเงินทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์ครัวเรือนด้วยโมเดลคราวด์ฟันดิงในไทย” พร้อมด้วยเวทีเสวนา หัวข้อ “ปลดพันธนาการโซลาร์” ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการพลังงาน นักนโยบายสาธารณะ และผู้บริหารแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง เพื่อหารือเส้นทางสู่อนาคตพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย
ไทยเสียแชมป์พลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน
แม้ประเทศมีศักยภาพสูง
CFNT เปิดเผยว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดในโลก โดยมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เฉลี่ย 4.06-5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน (อ้างอิงจาก Global Solar Atlas, 2024) อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยยังคงล่าช้ากว่าเป้าหมาย
ทั้งนี้ในปี 2561 ประเทศไทย เคยเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลิตได้ 3,000 เมกะวัตต์ แต่ตั้งแต่นั้นการพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยกลับชะงัก และถูกแซงโดยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี
การพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย เติบโตอย่างเชื่องช้า โดย ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP2024 ตั้งเป้าหมายการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ไว้สูงถึง 16% ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด หรือ 24,412 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 แต่ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2567 ระบุว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 3,249 เมกะวัตต์ในปี 2566 เป็น 3,299 เมกะวัตต์
เท่ากับว่า ตอนนี้ไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้เพียง 1 ใน 4 ของเป้าหมาย และตอนนี้ไทยเหลือเวลาอีก 12 ปี ที่จะทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง แต่ในร่าง PDP2024 กลับไม่ได้ระบุเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน ทั้งที่การศึกษาชี้ว่า ไทยมีศักยภาพติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคารวมถึง 34,741 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบัน ภาครัฐตั้งเป้ารับซื้อเพียง 350 เมกะวัตต์ และในทางปฏิบัติรับซื้อได้เพียง 45.46 เมกะวัตต์เท่านั้น
พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกลง 90%
และอาจถูกพอ ๆ กับถ่านหินใน ปี 2042
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าคณะวิจัย CFNT เปิดเผยว่า แต่เดิมมักเข้าใจว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีราคาแพง แต่การศึกษาล่าสุดค้นพบว่า ต้นทุนไฟฟ้าปรับระดับ (Levelized Cost of Energy หรือ LCOE) ลดลงกว่า 90% ตั้งแต่ปี 2010 – 2023 และปัจจุบันต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เทียบเท่ากับต้นทุนพลังงานก๊าซธรรมชาติ และคาดการณ์ว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ต้นทุนจะถูก เทียบเท่ากับพลังงานถ่านหินเสียอีก
แม้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ในครัวเรือนถูกลง 3.5 เท่า แต่เดิมในปี 2013 ต้นทุนพลังงานอยู่ที่ 125,000 บาทต่อกิโลวัตต์ แต่ปัจจุบันมีราคาเพียง 35,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ด้วยต้นทุนที่ลดลง ทำให้หลายครัวเรือน และภาคเอกชนเริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น แต่ก็ยังพบว่า การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังไม่แพร่หลายนัก
“ยังมีข้อจำกัดในความเข้าใจของสังคมอยู่ เพราะปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ มีราคาถูกกว่าการซื้อไฟในระบบแล้ว แต่เรื่องนี้ต้องได้รับการผลักดันด้วยนโยบายรัฐด้วยเช่นกัน”
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
หัวหน้าคณะวิจัย CFNT ยอมรับด้วยว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยหรือชุมชน การขอสินเชื่อมักเจอเงื่อนไขเข้มงวดและระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน กลับไม่เป็นไปตามศักยภาพที่ควร เพราะถูกขัดขวางจากกลไกรัฐในหลายด้าน เช่น
- รัฐไม่มีมาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี หรือสนับสนุนเงินลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์
- รัฐเป็นผู้กำหนดปริมาณรับซื้อที่จำกัดในแต่ละปี และบางช่วงไม่มีการเปิดรับซื้อเลย
- การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปต้องติดต่อถึง 3 หน่วยงานรัฐ ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง
- ‘การไฟฟ้า’ ไม่มีระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้และที่ผลิตได้ ทำให้ประชาชนขายคืนไฟฟ้าได้ในราคาต่ำเพียง 2.20 บาท/หน่วย แต่ต้องซื้อไฟฟ้าในราคา 4.18 บาท/หน่วย ซึ่งไม่คุ้มค่า
Crowdfunding : ทางออกใหม่ของการระดมทุนพลังงานแสงอาทิตย์
การระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยในปี 2567 มูลค่าธุรกรรมจากการระดมทุนรูปแบบนี้สูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.27 พันล้านดอลลาร์ในปี 2571 (อ้างอิงจาก Statista, 2024) ในประเทศไทย แม้จะเริ่มมีการใช้ Crowdfunding สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตั้งแต่ปี 2562 แต่การใช้ระดมทุนรูปแบบนี้กับโครงการพลังงานหมุนเวียนยังคงมีอย่างจำกัด
ตัวอย่างความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น แพลตฟอร์ม Trine จากสวีเดน และ Ethex จากสหราชอาณาจักร ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ Crowdfunding ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในระดับฟาร์มและครัวเรือน อย่างไรก็ตาม รพีพัฒน์ ย้ำว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ได้ด้วยแรงจูงใจจากรัฐบาล ที่มองเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ยกระดับราคารับซื้อพลังงานสะอาด หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) ต้องเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ได้ เป็นต้น
รพีพัฒน์ เสนอ 6 โมเดล ระดมทุนจากมวลชนที่มีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- Pay-As-You-Save (ผ่อนจ่ายตามค่าไฟที่ประหยัดได้): ไม่ต้องมีเงินตั้งต้น ก็ติดตั้งได้เลย และหลังติดตั้งแผงโซลาร์แล้ว สามารถประหยัดค่าไฟได้เท่าไหร่ ก็ผ่อนจ่ายเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามโมเดลนี้จะคืนทุนช้ามาก ประมาณการ 7 – 8 ปี
- พอร์ตฟอร์ลิโอแผงโซลาร์: รวมแผงโซลาร์จากหลายหลังคาเรือนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน
- ร่วมมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์: ติดตั้งแผงโซลาร์ในโครงการบ้านจัดสรรโดยระดมเงินทุนผ่านคราวด์ฟันดิง
- On-bill financing: ผ่อนชำระผ่านใบแจ้งค่าสาธารณูปโภค
- Off-grid Pay-As-You-Go: สำหรับชุมชนนอกโครงข่ายไฟฟ้า จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าที่ใช้งาน
- แผงโซลาร์บนหลังคาอาคารรัฐ: ใช้อาคารหน่วยงานรัฐติดตั้งแผงโซลาร์ในรูปแบบไม่แสวงหากำไร
ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง
ภาครัฐต้องผลักดันนโยบายกระจายอำนาจพลังงานสะอาด
การเข้าถึงเงินทุนจำเป็นต้องได้รับการปลดล็อกมากขึ้นจากนโยบายรัฐ ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย รพีพัฒน์ แนะว่า รัฐบาลควรพิจารณามาตรการ เช่น เพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืน (Feed-in Tariff), ออกเครดิตภาษีให้ครัวเรือนที่ติดตั้งแผงโซลาร์ และปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตให้รวดเร็วขึ้น เพื่อทลายการผูกขาดพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย
รพีพัฒน์ เสนอให้ ลดความยุ่งยากด้วยการสร้าง One-Stop Service แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการติดตั้งโซลาร์ได้ง่ายขึ้น พร้อมปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และลดข้อจำกัดทางการเงิน อีกทั้งการเปิดระบบการแข่งขันในตลาดไฟฟ้า โดยการยกเลิกการผูกขาดในระบบการรับซื้อไฟฟ้าจะช่วยให้เกิดการแข่งขันในตลาดไฟฟ้าทั้งการผลิตและการจำหน่าย ขณะเดียวกันการใช้ Crowdfunding ก็สามารถช่วยปิดช่องว่างทางการเงินและสนับสนุนให้การติดตั้งโซลาร์ในครัวเรือนเป็นไปได้อย่างยั่งยืน
“ตอนนี้เหมือนเราถูกบังคับให้ซื้อไฟจากการไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่โลกทุกวันนี้เราสามารถผลิตไฟฟ้าจากส่วนเล็ก ๆ อย่างแผงโซลาร์ได้ ดังนั้น ถ้าเรามีการสนับสนุนทางเงินทุน และนโยบายรัฐที่เพียงพอ ประเทศไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมากถึงแสนเมกะวัตต์ได้”
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังมีความกังวลว่าพลังงานโซลาร์ที่มากเกินไปจะทำให้ระบบไฟฟ้าเกิดปัญหา แต่ในหลายประเทศในยุโรปกลับเห็นว่า พลังงานหมุนเวียนสามารถช่วยเพิ่มความเสถียรในระบบได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี ปัจจุบันหลายธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้ากลางวันได้ติดตั้งโซลาร์เพื่อลดค่าใช้จ่ายทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าขยับไปเป็นช่วงเวลาอื่นแทน การหาวิธีให้ภาคประชาชนผลิตไฟฟ้าและบริโภคกันเองได้ จะช่วยเปิดโอกาสในการเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาถูก
“แทนที่จะต่อต้าน เราต้องหาวิธีว่าเราจะอยู่ร่วมกับโซลาร์ยังไง ภาคเอกชนเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าในราคาประหยัดได้ แต่ทำไมถึงไม่เอื้อภาคประชาชนบ้าง”
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์