ชี้การคลังไทยน่าเป็นห่วง เสี่ยงถูกลดอันดับเครดิต ไม่แปลกใจรัฐบาลอยากขึ้น VAT เสนอทางออก ปรับภาษีช่วยบรรเทาคนรายได้น้อย วางแผน กางไทม์ไลน์ให้ชัดเจน
จากกรณี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดจะปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ปัจจุบันอยู่ในอัตรา 7% โดยตามกฎหมายจะต้องปรับขึ้นไปที่ 10% แต่รัฐบาลได้มีการยกเว้นมานานหลายปี อีกทั้งอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกที่จัดเก็บ 15-25% ซึ่ง พิชัย มองว่า หากไทยเก็บสูงขึ้นจะมีเงินช่วยเหลือคนที่มีรายได้ต่ำได้ผ่านมาตรการต่าง ๆ ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และถูกตั้งคำถามในวงกว้าง จนทำให้ล่าสุด (6 ธ.ค. 67) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่า ไม่มีการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 15% โดยให้กระทรวงการคลัง ซึ่งกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศไทย ต้องมองทั้งระบบให้ครบทุกมิติและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมย้ำว่า นโยบายหลักของรัฐบาล คือ การลดรายจ่ายของประชาชน เพิ่มรายได้ขยายโอกาส และลดรายจ่ายภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ ควบคู่กันไป กับการหาโอกาสจากการสร้างรายได้ใหม่ ๆให้ประชาชน ทั้งหมดนี้ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนคนไทย
“ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจค่ะว่า การทำงานของรัฐบาล เราดำเนินการด้วยความรัดกุม รับฟังทุกภาคส่วน และยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยของเราทุกคนค่ะ”
แพทองธาร ชินวัตร
สำหรับประเด็นดังกล่าวนั้น รศ.อธิภัทร มุทิตาเจริญ นักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายการคลังและการพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ The Active ระบุว่า การที่รัฐบาลปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในมุมเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะตอนนี้ไทยมีภาระการคลังเพิ่มขึ้นเยอะ เมื่อก่อนไทยมีภาคการคลังเป็นจุดแข็งของประเทศ แต่ช่วงหลังรายได้ภาษีลดลงมาเยอะ ตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 และก็มีค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ตัวเลขสัดส่วนการคลังไทยกลายเป็นจุดอ่อน
ยกตัวอย่างเครื่องชี้วัดของสถาบันจัดอันดับความเสี่ยง เช่น รายจ่ายดอกเบี้ยต่อรายได้สุทธิของไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8% และจะขึ้นเป็น 12% ภายในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่ตัวเลขเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ของตราสารหนี้ที่ระดับสามารถลงทุนได้ (Investment Grade Bonds) อยู่ที่ 10% ดังนั้นถ้ารายจ่ายดอกเบี้ยต่อรายได้สุทธิยังคงเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเสี่ยงทำให้ไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
ดังนั้นการจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาล จึงไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจ และการขึ้นภาษีทีละ 1% จะทำให้รัฐมีรายได้ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญ
รัฐบาลจะขึ้น VAT สำเร็จหรือไม่ ?
แน่นอนว่าภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลกระทบในวงกว้าง หากรัฐบาลอยากจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ประสบความสำเร็จ มี 3 เงื่อนไขที่ต้องตอบสังคมให้ได้
- รัฐบาลต้องพิจารณาภาษีทั้งระบบ ทำยังไงให้สังคมเห็นว่าเป็นธรรมต่อตนเอง อาจจะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้เต็มจำนวน และยังมาถูกเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ก็อาจจะไม่เป็นธรรมสำหรับพวกเขา รัฐบาลก็ต้องมองภาษีทั้งระบบ มองว่าการยกเว้นภาษี สิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดหย่อนทั้งหลายยังมีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์อยู่หรือไม่ และในอนาคตต้องสื่อสารให้แต่ละภาคส่วนเห็นว่า รัฐบาลมีการกระจายภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรม
- ทำให้สังคมเห็นว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บไป รัฐบาลใช้เงินอย่างมีประสิทธิผล รู้คุณค่าของภาษี ถ้าจะต้องแจกเงินก็ต้องทำให้คนเห็นว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปถึงรากหญ้า ส่งผลในระยะยาว
- การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องวางไทม์ไลน์ให้เอกชนเห็นได้ชัดเจน เพื่อให้เอกชนเห็นว่าปรับขึ้นปีไหนบ้าง ถ้าดูต่างประเทศที่ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น ปรับขึ้นจาก 5% เป็น 10% แต่การปรับขึ้นดังกล่าวใช้ระยะเวลานานนาน 5 ปี เริ่มขึ้นครั้งแรกปี 2557 ขึ้นทีละไม่เยอะ และมีมาตรการบรรเทาผลกระทบคนมีรายได้น้อย ดังนั้นถ้าจะขึ้นจริง ๆ ก็ต้องวางไทม์ไลน์ให้เอกชนได้เห็น อย่าลืมว่าภาษีมูลค่าเพิ่มเราอยู่ที่ 7% มานาน 30 ปี ดังนั้นถ้าจะขึ้นก็มีทั้งผลกระทบในด้านการบริโภค และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของเอกชน
ควรขึ้น VAT ปีละเท่าไร ? จึงจะเหมาะสม
รศ.อธิภัทร มองว่า การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% เป็นอัตราค่อนข้างต่ำ ควรปรับขึ้นทีละน้อย เพราะจะกระทบการบริโภคไม่มากนัก ทั้งสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร และสินค้าคงทน เช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ดังนั้นการขึ้นรวดเดียวถึง 10% จะส่งผลค่อนข่างเยอะ ถ้าจะขึ้นก็ขึ้นที่ละน้อย ๆ จาก 7% เป็น 8% ผลกระทบจะไม่เยอะมาก ควรต้องให้เวลาพอสมควรอย่างน้อยควรขึ้นไม่เกินปีละ 1%
นอกจากนั้นการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีความสมดุลกับภาษีด้านอื่นด้วย หรือกระจายภาระภาษีอย่างเป็นธรรม ถ้าขึ้นแล้วทำให้ฐานภาษีเงินได้กว้างขึ้นหรือไม่ จัดการเรื่องสิทธิประโยชน์ เรื่องการยกเว้นกับภาษีเงินได้บางประเภทอย่างไร ก็ต้องมาดูว่าขึ้นตรงนั้น ลดตรงนี้ ขยายตรงนั้น แล้วรายได้ของรัฐเป็นอย่างไร
ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ ?
รศ.อธิภัทร ย้ำว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีถดถอย แปลว่า คนรายได้น้อยจะแบกรับภาระภาษีมากกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับรายได้ ดังนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มถ้าปรับขึ้นจะทำให้คนจนเดือดร้อนมากกว่า แต่การขึ้นก็ต้องมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้คนจนด้วย บางประเทศอาจจะขึ้นแล้ว นำเงินบางส่วนให้คนจนโดยตรง หรือสินค้าบางประเภทที่จำเป็นก็จะยกเว้นไม่ขึ้นภาษี ซึ่งก็เป็นวิธีจัดการให้ส่งผลกระทบกับผู้มีรายได้น้อยไม่ให้แย่มากนัก
รัฐบาลอยากลดแรงกดดันภาระการคลัง ?
การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะช่วยลดแรงกดดันภาระการคลังให้กับรัฐบาล ที่ตอนนี้มีสัดส่วนที่น่าเป็นห่วง เช่น รายจ่ายดอกเบี้ยต่อรายได้สุทธิของไทยจะขึ้นเกิน 10% ถ้าปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ก็จะทำให้มีได้รายมากขึ้น ลดแรงกดดันต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งคิดว่าถ้าอ่านใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็คงห่วงด้านภาระการคลังมากสุด
อย่างไรก็ตามการลดรายจ่ายของรัฐบาลก็ต้องทำควบคู่กันไปด้วย แต่ทำได้ยากกว่า เพราะว่าสัดส่วนของรายจ่ายที่ลดทอนได้ยากของประเทศมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของรายจ่ายทั้งหมด เช่น รายจ่ายเงินเดือนข้าราชการ บำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการ พวกนี้จะลดยาก ทำให้ความยืดหยุ่นรายจ่ายของรัฐบาลมีน้อยมาก
แก้เศรษฐกิจตกต่ำได้ไหม ?
รศ.อธิภัทร เชื่อว่า ไม่ได้แก้ด้วยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรง แต่ต้องแก้ด้วยการทำอย่างไรให้การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน มีผลิตภาพมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ทำอย่างไรให้ธุรกิจเห็นโอกาสการเติบโต คนใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งอยู่ที่ว่าขึ้น ภาษีมูลค่าไปแล้ว จะเอาเงินไปใช้อย่างไร
ควรรอเศรษฐกิจดีขึ้นก่อน ?
รศ.อธิภัทร ย้ำอีกว่า ไม่มีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าจะขึ้นจริง ๆ ควรเป็นแผนระยะยาว ต้องวางแผนให้เอกชนเห็นได้ชัดเจนว่าจะขึ้นเมื่อไร ไม่ใช่บอกจะขึ้นแล้วปีใหม่ก็ขึ้นเลย เพราะเอกชนต้องมีการจัดการเรื่องผลกระทบ ดังนั้นการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นการมองภาคการคลังระยะยาว และการปฏิรูปภาษีระยะยาว ดังนั้น ถ้าจะทำก็ต้องวางแผนเลยว่าจะขึ้นในอีก 2 ปี หรือ 3 ปี คงไม่สามารถทำได้ทันที
รัฐบาลควรลดแจกเงินบรรเทาภาระการคลังหรือไม่ ?
รศ.อธิภัทร มองว่า รัฐบาลต้องระมัดระวังเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำอย่างไรแจกไปแล้วให้มีความคุ้มค่าจริง ๆ สมมติแจกเงินจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินที่ใช้ เป็นการซื้อสินค้าในประเทศเป็นหลัก ถ้าหากซื้อสินค้านำเข้า เงินก็จะไหลออกนอกประเทศทันที และเม็ดเงินจะไหลลงไปรากหญ้าได้ไม่เยอะ หรือถ้าแจกเงินสดโดยตรงก็จะระมัดระวังเรื่องนั้นได้ยาก
หนี้สาธารณะไทยเริ่มเกินกรอบกฎหมาย
สำหรับการส่งสัญญาณปฏิรูปภาษีดังกล่าวมีขึ้น ท่ามกลางเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ เพราะที่ผ่านมาต้องดำเนินนโยบายแบบขาดดุลกลางคลัง เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้ไปฟื้นฟูเศรษฐกิจจากเหตุการณ์โควิด-19
สะท้อนได้จากหนี้สาธารณะที่ใกล้จะถึงกรอบเพดานกฎหมาย 70% ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. 67 สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 63.32% และสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจําปีงบประมาณอนยู่ที่ 35.14% เกินกว่ากรอบเล็กน้อยที่ 35%
สำหรับ หนี้สาธารณะ คือ การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจําเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศกําลังพัฒนาเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนขยายการลงทุนในกิจการต่าง ๆ เมื่อประชาชนมีงานทํา มีรายได้สูงขึ้นเมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นเพื่อชําระหนี้คืน
โดยหนี้สาธารณะมองได้ทั้ง 2 ด้าน คือ เมื่อรัฐบาลยืมเงินเข้ามาก็จัดเป็นรายรับของรัฐบาลทางหนึ่ง และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระรัฐบาลก็ต้องตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อชําระหนี้การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลจึงมีผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ