ขณะที่ ประชาชนส่วนใหญ่มองความสุขเกิดขึ้นได้จากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว แนะรัฐบาลลด ‘ค่าครองชีพ’ หลังพบสูงกว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ เกือบเท่าตัว TDRI แนะ รัฐอย่าเน้นแก้ปัญหาระยะสั้น ให้มองเชิงโครงสร้าง ประเมิน เศรษฐกิจอาจซบเซาลากอาจยาวไปอีก 4 ปี หวั่นหนี้สาธารณะสูงดันเพดาน ถ้ารัฐใช้จ่ายเงินอย่างไม่ระมัดระวัง
วันนี้ (4 พ.ค. 68) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนเรื่อง “ความสุขของคนไทย อะไรที่ทำให้คนไทยมีความสุข” โดยศึกษาจากความเห็นของประชาชนจำนวน 1,109 คน ระหว่างวันที่ 1 – 3 พ.ค. 68 ซึ่งระดับความสุขของประชาชนโดยรวม พบว่า ร้อยละ 61.8 มีความสุขดีในชีวิตประจำวัน รองลงมาร้อยละ 23.1 สุขปานกลาง และร้อยละ 15.1 สุขน้อยถึงไม่สุขเลย
ส่วนการแสวงหาความสุขในภาวะยากลำบากเรื่องเงิน พบว่า ร้อยละ 71.4 ระบุว่าสามารถหาความสุขได้จากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว ขณะที่ร้อยละ 28.6 รู้สึกยากลำบากที่จะหาความสุขได้
สำหรับ 5 อันดับแรกของปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขจากเรื่องใกล้ตัว พบว่า
- ร้อยละ 85.7 ความสุขจากคนในครอบครัว จากเพื่อน หรือคนใกล้ชิด
- ร้อยละ 80.2 ความสุขจากสุขภาพที่ดี
- ร้อยละ 73.5 ความสุขจากรายได้มีกินมีใช้
- ร้อยละ 62.8 ความสุขจากสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
- ร้อยละ 60.9 ความสุขจากการทำบุญปฏิบัติธรรม

ข้อเสนอแนะของประชาชนต่อนโยบายรัฐบาลและนโยบายท้องถิ่น
- ร้อยละ 81.5 ต้องการให้รัฐบาลหามาตรการลดค่าครองชีพ
- ร้อยละ 75.9 ต้องการมีการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมครอบครัวและชุมชนสัมพันธ์
- ร้อยละ 63.4 ต้องการพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย
- ร้อยละ 61.7 เสนอให้มีวันหยุดยาวเพิ่ม
- ร้อยละ 60.3 สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว วัด ชุมชน ธรรมชาติ ตลาดนัด และช้อปปิ้ง
‘ค่าครองชีพ’ สูงกว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ เกือบเท่าตัว
เหตุใดประชาชนถึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขเรื่อง การลดค่าครองชีพ มากที่สุด โดยทีมข่าว The Active ได้สืบค้นข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ได้สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ด้วยวิธีรวบรวมข้อมูลทุกเดือนตลอดทั้งปี 2567 จากตัวอย่าง 57,600 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 22,282 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค มากถึง 19,319 บาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ สูงสุด 8,005 บาท รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 4,736 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและ ยานพาหนะ 3,713 บาท ตามลำดับ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย เป็นต้น มีจำนวน 2,963 บาท

แม้ปัจจุบันปี 2568 รัฐบาลได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางจังหวัดแล้วตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นดังกล่าวก็ยังไม่เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
สะท้อนได้จาก จังหวัดภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง และอำเภอเกาะสมุย สุราษฏร์ธานี ที่ถูกปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าทุกจังหวัดทั่วประเทศที่ 400 บาทต่อวัน เมื่อนำไปคำนวณเป็นเงินเดือน (400 X 30 วัน) จะได้เท่ากับ 12,000 บาทต่อเดือน จะเห็นได้ว่ายังห่างจากใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนจากผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึง 10,282 บาท (22,282 – 12,000)
ท่ามกลางความไม่แน่นอนในอนาคตอันใกล้จากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่อาจทำให้เกิดสงครามการค้าที่รุนแรง เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงทั้งทางตรงและทางอ้อม สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้มีข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น อย่าเน้นระยะสั้น เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต กาสิโน พนันออนไลน์
โดยควรเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มมาตรการระยะยาวมากขึ้น และต้องเตรียมรับมือกับความยากลําบากที่จะเกิดขึ้น ทั้งสงครามการค้าที่คาดว่าจะมาแบบเต็มรูปแบบเมื่อเทียบกับยุคทรัมป์ 1.0 รวมทั้งเรื่องของสงครามยูเครนในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อไทยในฐานประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยวมาก ในขณะที่ประเทศไทยยังมีหนี้ครัวเรือนสูง ความสามารถในการผลิตไม่ได้ดี เพราะฉะนั้นจะมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเข้ามาพร้อมกัน
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ยังประเมินว่า ระยะต่อไปเศรษฐกิจอาจซบเซา และลากอาจยาวไปอีก 4 ปีข้างหน้า หากไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และถ้ารัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างไม่ระมัดระวัง ภาคการคลังจะมีปัญหา อาจทำให้หนี้สาธารณะสูงถึงเพดาน 70% ต่อจีดีพี ภายในไม่กี่ปีนี้ ในขณะที่ภาระการจ่ายหนี้ของรัฐบาลทั้งดอกเบี้ย และเงินต้น ก็มีสิทธิ์เพิ่มสูง 15% ที่กฎหมายกําหนด จะทําให้เรตติ้งของภาครัฐไทยแย่ลงในสายตาของบริษัทประเมินเรตติง ซึ่งเป็นผลเสียระยะยาว ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย