เปิดแผนปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี คงคุณค่าประวัติศาสตร์ รองรับกิจกรรมคนยุคใหม่

กรุงเทพมหานครเตรียมเปลี่ยน ‘สวนลุมพินี’ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ ทั้งแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม ​ควบคู่กับเป็นเวทีสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และนวัตกรรม หลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมกำลังจะเปลี่ยนไป ​

วานนี้ ​(10 มี.ค. 65 ) กรุงเทพมหานคร เปิดโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ณ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สวนลุมพินี เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2468 จากสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 สู่วนะสาธารณ์ อันหมายถึงพื้นที่ป่าของสาธารณชน สวนลุมพินี จึงกลายเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย

ในปี 2568 จะเป็นโอกาสสำคัญที่สวนลุมพินีจะมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาได้ผ่านการสั่งสมความทรงจำของผู้คน ความทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน

กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแห่งนี้ จึงมีนโยบายให้สำนักสิ่งแวดล้อมจัดทำโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่มีความร่มรื่น สวยงาม ทันสมัย สามารถตอบสนองกับวิถีชีวิตของประชาชนยุคใหม่ และสอดคล้องกับการพัฒนาของเมือง ในทศวรรษที่ 21

ภายใต้แนวคิดหลักในการออกแบบ 5 ด้าน อันได้แก่ 1. การคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 2. ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ 3. ผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม 4. เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมนันทนาการยุคใหม่ และ 5. มีการออกแบบเพื่อคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ

“การปรับปรุงในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะให้สวนลุมพินีเป็นต้นแบบของสวนสาธารณะที่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ โดยนอกจากจะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองแล้ว ยังเปิดกว้างต้อนรับผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ได้ใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เป็นเวทีสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และนวัตกรรม หลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม”

สำหรับการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกเริ่มต้นโครงการที่บริเวณถนนแกนกลางสวนฯ ประกอบด้วย งานปรับปรุงภูมิทัศน์ถนน และงานก่อสร้างถังเก็บน้ำใต้ดิน(water bank) ความจุ 8,000 ลบ.ม. จำนวน 5 ถัง รวมความจุ 40,000 ลบ.ม. เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง และงานก่อสร้างอาคารสวนลุมพินี 100 ปี ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ สำหรับจัดกิจกรรม จำนวน 1 หลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาตัวผู้รับจ้างหลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2565 โดยจะใช้เวลาปรับปรุง 240 วัน

ส่วนเฟสที่ 2 ได้แก่ การปรับปรุงพื้นที่ส่วนที่เหลือของสวนลุมพินีทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่การใช้งานสวนลุมพินีออกเป็นส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. สวนน้ำช่วยเมือง (Resilient Park) 2. สวนป่าและกิจกรรมยุคใหม่ (Forest Park and Modern Recreation) 3. จุดเชื่อมต่อสะพานเขียว (Green Bridge) 4. ลานรอบอาคารบันเทิง (Amphitheater Lawn)  5. สวนจีน (Chinese Garden) 6. โรงอาหารและสวนผักในเมือง (Canteen and Urban Farming) 7. สวนเพื่อการเรียนรู้ (Learning Park) และ 8. ชมรมและกิจกรรมนันทนาการ (Sport Club)

นอกจากนี้ ในภาพรวมยังดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ และพื้นที่กายภาพต่าง ๆ รวมทั้งก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางจักรยาน งานก่อสร้างอาคาร งานปรับปรุงอาคาร และสิ่งก่อสร้างเดิมภายในสวนลุมพินี ปรับปรุงสะพานข้ามคูน้ำภายในสวน 10 แห่ง งานปรับปรุงรั้วและประตู ก่อสร้างป้อมยาม  งานปรับปรุงระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดินและปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง งานปรับปรุงระบบประปา และจัดระเบียบมิเตอร์น้ำประปา ปรับปรุงภูมิทัศน์ สนามหญ้า และการฟื้นฟูสภาพต้นไม้ใหญ่

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวาระที่สวนลุมพินีจะมีอายุครบรอบหนึ่งศตวรรษเป็นโอกาสพิเศษที่สวนลุมพินีจะสะท้อนภาพความสัมพันธ์ ความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งสถานเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ในประเทศไทย ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม

โอกาสนี้ผู้สนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ระหว่างวันที่ 10-20 มีนาคม 2565 เวลา 18.00-19.00 น. ณ บริเวณสวนปาล์ม ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้