เครือข่ายประชาชนแม่ฮ่องสอน ยื่น 5 ข้อเรียกร้อง ถึง รองนายกฯ ให้ ยุติโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม เนื่องจากพบความไม่โปร่งใส ใช้งบฯ สูงอาจไม่คุ้มค่าการลงทุน
วันนี้ (13 มิ.ย. 2565 ) เครือข่ายประชาชนแม่ฮ่องสอนในนาม “เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน” ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ณ ศูนย์ดำรงธรรม จ.แม่ฮ่องสอน ให้ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) หรือ โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม โดยระบุว่าจะกระทบชุมชนจำนวนอย่างน้อย 46 หมู่บ้าน ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.อมก๋อยจ.เชียงใหม่ รวมถึงยังพบความไม่โปร่งใสและไม่น่าเชื่อถือในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA
การเคลื่อนไหวยื่นหนังสือนี้ เกิดขึ้นในระหว่าง พลเอก ประวิตร ลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อมอบนโยบาย หลังรับฟังการนำเสนอสถานการณ์น้ำและการจัดการน้ำ ในจ.แม่ฮ่องสอน การดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และการจัดการไฟป่า และ PM 2.5 โดยมี ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ. ประวิตร เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน
หนังสือดังกล่าวระบุถึงความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำ EIA ว่า นับตั้งแต่มีการเสนอโครงการ ระหว่างการจัดทำรายงาน EIA โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการส่งหนังสือร้องเรียนหลายฉบับอย่างต่อเนื่องถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน คณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของโครงการ และข้อบกพร่องหลายประการของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่มีล่ามแปลภาษาราชการให้เป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจ และสามารถแลกเปลี่ยนหรือแสดงความคิดเห็นได้ ในรายงานมีการถ่ายภาพกับชาวบ้าน และระบุว่ามีการสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งที่ไม่มีการสัมภาษณ์แต่อย่างใด
“กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ เพื่อทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผลการศึกษาเบื้องต้นที่มีการจัดเวที ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยล่าสุดระบุว่า มูลค่าการลงทุนของโครงการนี้สูงมากถึง 172,220 ล้านบาท”
หนังสือระบุ
เครือข่ายฯ ได้แสดงจุดยืนและเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1. ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพื้นที่ที่มีภูมิลำเนาในป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรจากป่าเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร โดยชุมชนได้ช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มาตลอดหลายชั่วอายุคน แต่โครงการนี้อาจทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสีย ทั้งที่ดิน บ้านเรือน ที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ลำห้วย และแม่น้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน ซึ่งหากเกิดผลกระทบจากโครงการนี้ ระบบนิเวศเปราะบางและทรัพยากรธรรมชาติจะไม่อาจฟื้นฟูกลับมาให้เป็นดังเดิมได้
ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ตลอดแนวพื้นที่โครงการ ทั้งเขื่อน สถานีสูบน้ำ แนวอุโมงค์ส่งน้ำ ปากอุโมงค์ส่งน้ำ จุดทิ้งกองดิน และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจำนวนอย่างน้อย 46 หมู่บ้าน ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่งในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอแสดงจุดยืนว่า พวกเราไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการเดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล-แนวผันน้ำยวม ขอให้โปรดพิจารณาความคิดเห็นและข้อกังวลใจของพวกเราต่อโครงการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเป็นการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
2. โครงการนี้ไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้าง ทั้งนี้ข้ออ้างที่ว่าต้องการผันน้ำจากลุ่มน้ำยวม สาละวิน ไปแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำที่ภาคกลาง (ลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา) ก็ไม่เป็นความจริง เพราะภาคกลางมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่อยู่แล้ว หากแต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี และควรใช้ทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำนั้นๆ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ บทเรียนการสร้างเขื่อนในประเทศไทย พบว่าโครงการของรัฐ ได้ไปทำลายทรัพยากรหรือความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนในพื้นที่หนึ่ง เพื่อแก้ความขาดแคลนอีกพื้นที่หนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาทั้งต้นทางและปลายทาง
3. โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก และอาจจะต้องใช้งบประมาณของรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งอาจไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรและชลประทาน ที่จะได้รับอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์สาธารณะ และจะเป็นการสร้างภาระหนี้ระยะยาวให้กับประเทศ
4.เครือข่ายฯเห็นว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้จัดทำรายงาน EIA และบริษัทปัญญา คอนซัลแทนต์ จำกัด ที่กรมชลประทานว่าจ้างให้ศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ เป็นการดำเนินการที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่ไม่ให้การยอมรับ และมีแนวโน้มว่า การทำรายงานดังกล่าว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กรมชลประทานในการก่อสร้างโครงการฯ มากกว่ารับฟังความต้องการและความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง และน่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หลายมาตรา
5.เครือข่ายฯ ได้ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ หรือ ขปส.) ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อคัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ลงวันที่ 12 กันยายน 2562 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 269/2563 เรื่อง แก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ลงวันที่14 กันยายน 2562 นั้น ซึ่งการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม2565 กรณีโครงการผันน้ำยวมนั้น ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบจากโครงการผันน้ำแม่ยวม เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบของโครงการผันน้ำแม่ยวม และกรณีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล(ตามแนวผันน้ำยวม) ในพื้นที่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ เสนอแนะแนวทางทั้งความเหมาะสมและการแก้ไขปัญหาผลกระทบของโครงการผันน้ำแม่ยวม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน และรายงานผลการศึกษา ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ตามที่อ้างถึง
ด้าน ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร ได้รับข้อร้องเรียนไว้ พร้อมกล่าวกับเครือข่ายว่า ตนขอรับข้อเสนอไว้ โดยให้ทางเลขานุการส่งต่อเรื่องให้กรมชลประทานในการลงพื้นที่แก้ปัญหาต่อไป
เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มดังกล่าว ยังได้เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผ่านอำเภออีก 2 แห่งได้แก่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยได้มีผู้แทนของอำเภอ รับเรื่องร้องเรียนไว้ และเปิดการเจรจากับเครือข่ายประชาชน