ชี้ เหตุพฤติกรรมคุกคามสื่อ ขณะที่ บก.บห. Thai PBS ย้ำบทบาทสื่อสาธารณะ จำเป็นต้องปกป้อง คุ้มครองนักข่าว การข่มขู่ ทำร้าย เท่ากับลิดรอนสิทธิ์การทำหน้าที่ ขอให้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐานใหม่
วันนี้ (21 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า สุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมด้วย อิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบจริยธรรมข้อ 12 และ 13 ในข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ 2563
ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่คลิป ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในประเด็นการโหวตนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประวิตร กลับแสดงพฤติกรรมไม่พอใจ เกรี้ยวกราด ซึ่งเป็นการกระทำที่มองว่าไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว การกระทำแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่เกรี้ยวกราด และคุกคามสื่อ มองว่าไม่ใช่พฤติกรรมครั้งแรกของนักการเมืองท่านนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการดูหมิ่นดูแคลนเพื่อนร่วมวิชาชีพมาก่อน
“จากการพิจารณาจึงยื่นคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองคนนี้เพราะนี่เป็นเหตุการณ์ เสมือนนิสัย ที่ทำต่อสื่อมวลชนในความผิดจริยธรรมข้อ 12 และ 13 ทั้งนี้การพิจารณาของคณะกรรมการสภาฯ จะเป็นอย่างไรขอไม่ก้าวล่วง แต่ขอทราบผลการพิจารณาทุกขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับ และไม่ใช่เป็นการเร่งรัด แต่เช่นเดียวกันหากสื่อถูกยื่นตรวจสอบจริยธรรมทางสมาคมฯ ก็จะตรวจสอบโดยใช้กรอบเวลา 30 วันและคาดว่าการตรวจสอบของสภาฯ จะใช้เวลาประมาณเดียวกัน”
สุปัน รักเชื้อ
นอกจากทางสมาคมฯ ที่ยื่นต่อสภาฯ ยังมีองค์กรภาคประชาสังคม เตรียมยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบพฤติกรรมของ พล.อ.ประวิตร ด้วย
ส่วนกรณีที่หลายคนมองว่าเจ้าทุกข์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวไม่เอาเรื่องนั้น สุปัน เห็นว่า เป็นการตีความในเรื่องของการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเจ้าทุกข์จะต้องเป็นผู้ร้อง แต่กำลังพูดถึงจริยธรรม และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่การทำหน้าที่ต้องได้รับการปกป้อง และต้องตระหนักในส่วนนี้ แต่ถ้าใครจะเปลี่ยนประเด็นไปที่เรื่องของการถูกกระทำ ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกกระทำ
“นี่คือปรากฏการณ์ครั้งแรก ที่เพื่อนร่วมวิชาชีพลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกันมากกว่าการออกแถลงการณ์ และด้วยการที่เป็นวิชาชีพสื่อสามารถทำได้แค่นั้นและนี่อาจจะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นบรรทัดฐานให้กับนักการเมืองที่จะปฏิบัติต่อสื่อมวลชนให้ตระหนักว่าเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งเราทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าแหล่งข่าวหรือนักการเมืองไม่เต็มใจที่จะตอบ หรือไม่พร้อมที่จะตอบ ก็ขอให้บอกว่าไม่ตอบ อย่างล่าสุดอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยิ้มแล้วเดินออกไป ก็ไม่เห็นจะต้องแสดงกิริยา ที่เกรี้ยวกราด และคุกคามกันขนาดนี้”
สุปัน รักเชื้อ
ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยังบอกด้วยว่า การยื่นร้องครั้งนี้ ยืนยันไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เพียงแค่ต้องการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการทำงานของเพื่อนร่วมอาชีพมากกว่าที่จะถูกโยงไปเป็นประเด็นทางการเมือง และเรื่องนี้องค์กรวิชาชีพได้ปรึกษากันในทุกแง่ทุกมุม และได้มีการส่งคลิปให้กับคณะกรรมการไว้พิจารณาด้วย และการแสดงท่าทีล่าช้าเป็นเพราะต้องดูในทุกแง่ทุกมุม และต้องรอบคอบพอสมควรในกรอบกฎหมายและจริยธรรมที่เรามีอยู่
ขณะที่ นพดล ศรีหะทัย บรรณาธิการบริหาร Thai PBS ยื่นหนังสือขอให้สอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร เช่นเดียวกัน ภายหลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวแล้ว พบว่าไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่ต้องคุ้มครองผู้สื่อข่าว เพราะการทำงานของสื่อหลังจากนี้มีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นการข่มขู่ ทำร้ายเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของการทำงานของสื่อ โดยการยื่นในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐาน เพื่อให้เกิดเป็นแบบอย่างการทำหน้าที่ของสื่อและบรรทัดฐานทางจริยธรรม
ส่วนการดำเนินคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายนั้น บรรณาธิการบริหาร Thai PBS ขอให้เป็นหน้าที่ของสมาคมสื่อทำไปก่อน เนื่องจากมองว่า หากดำเนินการจะมีผลต่อการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่ต้องทำงานร่วมกับแหล่งข่าว ซึ่งสอดคล้องกับเจตจำนงของผู้สื่อข่าวที่อยู่ในคลิปที่ไม่ต้องการดำเนินคดี
“การยื่นสอบในครั้งนี้คงไม่มีผลต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ และคงไม่ใช่เรื่องที่ไม่กล้าเดินหน้านำเสนอสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ ส่วนเรื่องการพูดคุยกันระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว ว่า เป็นการหยอกล้อนั้น เห็นว่า ภาพที่ออกมาไม่ใช่การหยอกล้อ และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสามารถดูออกว่าเป็นการหยอกล้อหรือข่มขู่ทำร้ายร่างกาย”
นพดล ศรีหะทัย