หลัง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ลงนามรายงานผลศึกษา ยกร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ก่อนลาออกจาก รมว.ยุติธรรม หวังช่วยเหลือเหยื่อจากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ 48,000 ราย ขณะเดียวกัน พีมูฟ เตรียมประชุม จัดทำข้อเสนอต่อการเลือกตั้ง หวังทุกพรรค ผลักดันกฎหมายค้างคา ช่วยชาวบ้านจริงจัง
จากกรณี สมศักดิ์ เทพสุทิน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนลาออกได้ลงนามในหนังสือ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “รายงานผลการศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ…” เสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
โดยระบุว่า กระทรวงยุติธรรม ขอเรียนว่า คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ ได้ดำเนินการศึกษาและยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ…เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอส่งรายงานผลการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป
จากกรณีดังกล่าว The Active พูดคุยกับ สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานกฎหมาย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ บอกว่า ถือว่าการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ แก่ราษฎรซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ที่พีมูฟศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ดิน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จากคำสั่งที่ 64,66 / 2557 ซึ่งตัวเลขจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร พบผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 48,000 กว่าราย ยังไม่รวมตัวเลขของกรมป่าไม้ ซึ่งส่วนนี้ถ้าดูจากรูปการของคดีส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มผู้ยากไร้ ไม่ใด้เป็นไปตามเป้าหมายของการออกคำสั่ง เพื่อจัดการนายทุนที่บุกรุก แต่ในข้อเท็จจริงที่พบ ส่วนใหญ่จะเป็นคนยากไร้ แม้รัฐบาลจะมีคำสั่งที่ 66 เพื่อมาคุ้มครอง แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ชาวบ้านเข้าไม่ถึงการคุ้มครองตรงนี้ ซึ่งควรได้รับการนิรโทษกรรม
เป็นที่มาที่คณะทำงานชุดดังกล่าว ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประวิตร หลังจากที่กลุ่มพีมูฟ ไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อต้นปี 2565 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ และได้มติ ครม. 1 ก.พ.2565 แต่งตั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น มาเป็นประธานคณะทำงานยกร่างกฎหมายฉบับนี้กระทั่งมีการลงนามดังกล่าว
ทั้งนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ มีเนื้อหาประมาณ 9 มาตรา สาระสำคัญคือนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายด้านป่าไม่ที่ดิน และนโยบายทวงคืนผืนป่า ครอบคลุมเหตุการณ์ตั้งแต่คำสั่ง 64,66 /2557 จนมาถึงยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ปี 2562 และผู้ที่มีอำนาจในการรักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม
โดยกระบวนการขั้นตอนจากนี้ กลุ่มพีมูฟจะไปยื่นหนังสือฉบับนี้ต่อ พล.อ.ประวิตร ในช่วงรัฐบาลรักษาการ เพื่อให้เร่งรัดเท่าที่จะดำเนินการได้ เพราะว่า หนังสือลงนาม ของ รมว.กระทรวงยุติธรรม ได้เขียนว่า นำเสนอต่อประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ คือพล.อ.ประวิตร เพื่อดำเนินการต่อไปตามเห็นสมควร
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วน เรื่องอิสรภาพ ความเสียหายจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่กระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นคนยากไร้ทั่วประเทศ พบหลายร้อยคดีในส่วนของพีมูฟ และอีก 48,000 คดี ที่เป็นผลการศึกษา กมธ.ที่ดิน ดังนั้นท่านจะออกเป็นพระราชกำหนด หรือจะผลักดันให้เป็นกฎหมาย เราจะไปขอคำมั่นสัญญาต่อ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วย ว่าเรื่องนี้ท่านจะดำเนินการอย่างไร ก็คือทั้งในบทบาทของรัฐบาลรักษาการ และบทบาทพรรคการเมืองด้วย”
สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานกฎหมายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
ทั้งนี้ในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ จะประชุม คณะกรรมการนโยบายของพีมูฟ เพื่อเตรียมประเด็นต่อการเลือกตั้งโดยจะวางแผนขับเคลื่อน เรื่องที่ค้างคา เช่น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์, โฉนดชุมชน, การจัดการภัยพิบัติ, การจัดการทรัพยากร
โดยพีมูฟจะทำนโยบายต่อพรรคการเมือง คือ 1. เรื่องโครงสร้าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการจัดการทรัพยากร โดยจะเสนอในเชิงตัวอย่างรูปธรรมให้ฝ่ายการเมืองเข้าใจด้วยว่า ประเด็นที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากร มีต้นแบบหรือวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง ซึ่งคาดหวังว่าพรรคการเมืองที่ลงสนามเสนอตัวมาเป็นรัฐบาล จะให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องเหล่านี้ที่เป็นปัญหาของประชาชน สู่การแก้ไขที่เป็นจริง