ลดก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าได้ ในอีก 26 ปีข้างหน้า ไทยจะบรรลุเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน

เปิด 3 ปัจจัยหลัก  หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ค.ศ.2050 ชี้สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าต้องลดลง ห่วงแผน (PDP 2024) ไม่ยืดหยุ่น 

18 มิถุนายน 2567 ได้มีการจัดสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ “GasLens: บทบาทของก๊าซธรรมชาติต่อการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย” ระบุ จะถึงเป้าหมายได้ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 20 ในปี2050

ศศิธร เจษฎาฐิติกุล ผอ.กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)


น.ส.ศศิธร เจษฎาฐิติกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบกับทุกคนอย่างชัดเจน ทั้งอากาศที่ร้อนขึ้น เกิดภัยแล้ง ฝนตก น้ำท่วม ที่ไม่ตรงตามฤดูกาล ผลกระทบเหล่านี้ประเทศไทยตระหนักเป็นอย่างดี จึงมีการประกาศเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทยในค.ศ.2050 และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ.2065 ในการประชุม COP26 ซึ่งสนพ.เอง ได้จัดทำแผนพลังงานชาติโดยตระหนักดีว่าภาคพลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงที่สุด ดังนั้นนอกจากการที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงและความสามารถในการแข่งของประเทศแล้ว ยังมีเรื่องของความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่กำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ มีทิศทางว่าจะมีการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติลดลง ขณะเดียวกันได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน มากขึ้น ซึ่งทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานนั้นมีความสอดคล้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยในระยะ10-15 ปีนี้จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน จากนั้นรัฐจะมุ่งสู่ระยะการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า รวมถึงการเป็น LNG Hub (ศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว)ในระยะต่อไป
เปิดผลศึกษา ชี้ 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ตามเป้า

สิริภา จุลกาญจน์ จาก สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI)

ศุภวรรณ แซ่ลิ้ม Agora Energiewende


ดร.สิริภา จุลกาญจน์ จาก สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และ ดร.ศุภวรรณ แซ่ลิ้ม จาก Agora Energiewende นำเสนอผลการศึกษาโดยระบุว่า การลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยในปี พ.ศ. 2565 การใช้ก๊าซธรรมชาติปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 74 ล้านตันคาร์บอน โดยประมาณร้อยละ 68 มาจากการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ การลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้าหรือการมีสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าสะอาดเพิ่มมากขึ้น ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซคาร์บอนในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้น้ำมันและถ่านหิน (Electrification) เช่น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) โดยผลการศึกษาแบบจำลองฉากทัศน์ (Scenario) ภาคพลังงานหลายชิ้นพบว่า การที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะต้องลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 20 ในค.ศ. 2050 หรือพ.ศ 2593


คณะผู้วิจัยระบุว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย

1.การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่ผลิตภายในประเทศน้อยลง ทำให้มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติและราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนตามปัจจัยโลกมากขึ้น การมีแผนรองรับความเสี่ยง เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ และกลยุทธ์การนำเข้า LNG แบบกระจายความเสี่ยง (Diversified portfolios) จึงมีบทบาทสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยง (Risk mitigation strategies)


2. การลงทุนเพิ่มในโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้ก๊าซธรรมชาติและการนำเข้า LNG อาจจะส่งผลกระทบให้ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงในการติดกับดักคาร์บอน (Carbon lock-in) ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทำให้ประเทศไทยมีความยืดหยุ่นน้อยในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่ต้นทุนถูกกว่าในอนาคต และมีความเสี่ยงที่การลงทุนนี้จะกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า (Stranded Assets) หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนเพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคต ประกอบกับความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS) ที่อาจจะทำให้ต้นทุนในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนเพิ่มขึ้น หากยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูง


3.ก๊าซธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับโครงข่ายไฟฟ้าในการรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้ระบบไฟฟ้า (Flexible generation) ในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้สูง (Peak demand) ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไม่สามารถผลิตได้ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างกฎระเบียบและกลไกตลาดรูปแบบใหม่ (New regulatory and market mechanisms) รวมถึงการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถของห่วงโซ่อุปทานก๊าซธรรมชาติและการสร้างแรงจูงใจทางการเงินในการลงทุนแนวโน้มของโลกที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนและการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจประเทศ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกและงานบริการจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ดังนั้นหากประเทศไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในไทย ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน

คณะผู้วิจัยระบุชี้แผนพลังงานยังไม่ยืดหยุ่น เสี่ยงทำไทยไม่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

การพัฒนาแผนพลังงานของไทยยังขาดความยืดหยุ่นและไม่คล่องตัว ซึ่งอาจไม่เท่าทันต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านเทคโนโลยีและราคา เนื่องจากกระบวนการทำแผนพัฒนาในด้านพลังงานยังใช้ข้อมูลและสมมติฐานในอดีตที่อาจจะไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและต้องผ่านการเห็นชอบโดยคณะทำงาน นอกจากนี้ หากแผนที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน มีการปรับเปลี่ยนก็จะส่งผลให้ต้องมาปรับแผนพลังงานใหม่ได้ จากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนพลังงานแห่งชาติเป็นแนวทางถึงค.ศ.2037 ซึ่งมีแนวโน้มว่าแผนดังกล่าวอาจจะยังมีความเสี่ยงและความท้าทายที่ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในค.ศ.2050


ทั้งนี้ ร่างแผน PDP2024 ที่ยังคงใช้ก๊าซในปริมาณที่สูงนั้น หากต้องการบรรลุเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยี CCS ซึ่งปัจจุบันยังมีต้นทุนสูง หากจะต้องการให้ CCS มีความคุ้มค่า ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) หรือชดเชยเพื่อให้การพัฒนาโครงการดังกล่าวดำเนินไปได้ ส่วนการใช้พลังงานใหม่อย่างไฮโดรเจน ในภาคการผลิตไฟฟ้านั้นอาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพทั้งเชิงผลกระทบทางเทคนิคและต้นทุนในระยะสั้นและระยะกลาง และควรพิจารณาการนำไปใช้ในภาคอื่น ๆ ที่ทางเลือกในการลดก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าและมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่าหาตลาดใหม่ สำหรับ LNG หลังไทยมุ่งลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ

เรืองศักดิ์ ฐิติรัตน์สกุล ที่ปรึกษาสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย


นายเรืองศักดิ์ ฐิติรัตน์สกุล ที่ปรึกษาสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากในการเป็น Regional LNG Hub ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันมีความสามารถในการรองรับการนำเข้า LNG ได้ 19 ล้านตันต่อปีและตามแผนจะขยายได้ถึง 30 ล้านตันต่อปีในปีค.ศ. 2028 สำหรับในระยะยาวหากความต้องการ LNG ลดลง โครงสร้างพื้นฐานเดิมของ LNG จะทำอย่างไรนั้น มองว่าในสถานการณ์จริงจะมีเวลาให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ปรับตัว โดยค่อยๆ ทยอยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ลง ไม่ได้ลดการใช้ทั้งหมดในทันที และยังคงมีอีกหลายแนวทาง เช่น การให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออก LNG ไปยังตลาดเล็ก เช่นกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, and Vietnam)


อย่างในประเทศในอาเซียน ที่แต่ละประเทศมีเป้าการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในกรอบเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติของประเทศอื่นๆ ยังมีอยู่ในระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปี ส่วนความเป็นไปได้ในการนำโครงสร้างพื้นฐานของ LNG ไปรองรับพลังงานไฮโดรเจนในอนาคตนั้น เห็นว่าสามารถปรับเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำเข้า LNG มาผลิตไฮโดรเจนผ่านกระบวนการ methane pyrolysis อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งแนวคิดคือการใช้ประโยชน์จากก๊าซชื้น หรือ Wet LNG ซึ่งทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ในการบริหารการจัดหา Wet LNG ผ่านการลงทุนในแหล่งผลิตในต่างประเทศ (equity investment)

ปราโมทย์ ผึ้งจินดา ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการพลังงาน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

นายปราโมทย์ ผึ้งจินดา ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการพลังงาน International Hydrogen Ramp-up Programme จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนเชิงกลยุทธ์ โดยพิจารณาจากระดับความต้องการที่คาดการณ์ไว้ หากความต้องการใช้ไฮโดรเจนในระยะแรกอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องบูรณาการการใช้ไฮโดรเจนในหลายภาคส่วนร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ให้อยู่ในระดับที่คุ้มค่าสำหรับการสร้างธุรกิจไฮโดรเจน อย่างไรก็ตาม หากมีความต้องการใช้ไฮโดรเจนในระดับสูงตั้งแต่เริ่มต้น ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการใน 3 ด้านหลักควบคู่กันไป ได้แก่ ระบุและจัดหาแหล่งผลิตไฮโดรเจน เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านไฮโดรเจน โดยเฉพาะระบบขนส่งและโลจิสติกส์ จัดทำแผนแม่บทระดับประเทศสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนของไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active