นัดรวมตัวรัฐสภาพรุ่งนี้ จับตาสว.ตั้งกมธ. พิจารณาร่างแก้ไขพรก.การประมงฯหวังทบทวนม.69 

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน-ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ ความหวังสุดท้ายความยั่งยืนทะเลไทย   หลัง สส.โหวตอนุญาตใช้อวนล้อมจับตาถี่ในเวลากลางคืนจะนำความเสียหายครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศทางทะเล   พร้อมเรียกร้อง เปิดพื้นที่ให้ประมงพื้นบ้าน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในชั้น กมธ. 

วันนี้ ( 12 ม.ค.68 ) นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ ( 13 ม.ค.68 ) เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ร่วมกับ องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม นัดรวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อจับตาการประชุมวุฒิสภา ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….

โดยเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมาธิการ ที่เปิดให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอก ทั้งประมงพื้นบ้าน นักวิชาการเฉพาะด้านและตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม  และเรียกร้องให้ สว.ได้พิจารณา ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 69  หลัง สส.โหวตอนุญาตใช้อวนล้อมจับตาถี่ในเวลากลางคืนที่จะนำความเสียหายครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศทางทะเล 

“ หลังจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องไปก่อนหน้านี้ ได้พบกับสว.บางส่วนแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มั่นใจว่าจะมีการตั้งกมธ.และพิจารณาทบทวนมาตราสำคัญ อย่างมาตรา69 ตามที่เรียกร้องหรือไม่ ทั้งนี้ทราบข้อมูลมาว่าจะตั้งกมธ.ทั้งหมด  21 คน  โอกาสที่พี่น้องประมงพื้นบ้าน นักวิชาการ ภาคประชาชนยังเป็นศูนย์  ดังนั้นจึงต้องจับตา  และย้ำว่าการออกมาต่อสู้เรียกร้องครั้งนี้  ไม่ใช่เพื่อตนเอง เพื่อชาวประมงพื้นบ้าน หรือประมงพานิชย์ที่ปฏิบัติตามหลักกติกาและจับปลาโดยมองถึงความยั่งยืน แต่สู้ด้วยความมีเหตุมีผลเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทะเลไทย ”

โดยในวันพรุ่งนี้ จะมีกลุ่มนักตกปลา นักถ่ายภาพใต้น้ำ ผู้บริโภค ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมมาเคลื่อนไหวจับตาและยื่นหนังสือด้วย และจะมีการเดินสายไปพบปะพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เข้าใจและทบทวนเรื่องนี้ 

วิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า หลังมีกระแสการคัดค้านจากสังคมมีความพยายามผลักดัน ให้ออกกฎหมายลูกมาควบคุมแทน โดย สส.พรรคประชาชน เพื่อลดความกังวล แต่ยืนยันว่าเครือข่ายภาคประชาชนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่ทางออก จึงต้องทบทวนยกเลิกมาตรานี้เท่านั้น และไม่ใช่เรื่องที่กรมประมง หรือกรมทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ต้องออกมาชี้แจง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องพรรคการเมือง เรื่องของสส.ต้องมาชี้แจง เพราะเป็นผู้โหวตผ่านร่างแก้ไขกฎหมาย และเรื่องของการร่างกฎหมายเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติ ทั้ง สส.สว.ต้องรับผิดชอบ 

พร้อมทั้งย้ำว่า การอ้างเหตุผลของการอนุญาตใช้อวนล้อมจับตาถี่ในเวลากลางคืน เพื่อการจับปลากระตักให้ได้มากขึ้น หลังล่าสุดจับได้น้อยลงนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะหากดูกราฟปริมาณการจับปลากระตักในแต่ละปี ตั้งแต่ปี2515 จำนวนก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนจากหลักหมื่นตัน เป็นหลักแสนตันในปี 2535 และหลังจากนั้นก็จับได้หลักแสนกว่าตันมาต่อเนื่อง  กระทั่งปลายปี 2566 ที่ตัวเลขแปลกเหลือ 80,000 กว่าตัน  ฮวบลงอย่าน่าสงสัย ที่สำคัญคือ ข้อมูลที่จะมาอ้างถึงตลอดทั้งปี 2566 เพราะเสนอแก้กม.ต้นปี 2567  ไม่ใช่แค่ยอดปลายปีที่นำมาอ้างจึงชัดว่าแก้เพื่อใคร 

“ เรือที่จับปลากระตัก ทั้งหมด 653 ลำ แบ่งเป็น เรืออวนครอบปลากระตัก 446 ลำ , อวนช้อนยกปลากระตัก 32 ลำ  , อวนล้อมจับปลากระตัก 175 ลำ , ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเรือขนาดใหญ่ 60 ตันกลอสขึ้นไป เป็นเรือที่มีประสิทธิภาพสูงเฉพาะในเวลากลางวันจับได้เยอะอยู่แล้ว การอนุญาตจับได้ในกลางคืนโดยใช้ไฟล่อ ทีนี้ก็จับเป็น 2 เท่า และที่น่าห่วงไม่ได้จับแค่ปลากระตัก เพราะปริมาณการจับแต่ละครั้ง อีก 30% ที่อวนนี้จับได้ คือลูกปลาวัยอ่อน อย่างลูกปลาทู ปลาอื่นๆที่ไม่ทันโต แล้วทะเลจะเหลืออะไร เราจะแก้เพื่อประโยชน์ให้กับเรือแค่ 175 ลำ จริงๆหรือ  เรืออื่น คนอาชีพอื่นในทะเล ร้านอาหาร คนตกปลา คนดำน้ำ ผู้บริโภคหล่ะ ลูกหลานเราอีก จะไม่นึกถึงความยั่งยืนเลยหรือ ”

ทั้งนี้ ในช่วงเย็น วันที่ 13 ม.ค. 17.00 น. เป็นต้นไป จะมีการจัดกิจกรรมหยุดอวนมุ้งยักษ์ และร่วมลงชื่อปกป้องลูกปลาที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active