สส.เชียงใหม่ สวนรัฐบาลแพทองธาร อ้างตัวเลขลดพื้นที่เผา 50% แต่ที่จริงพื้นที่เผาเพิ่ม 8 ล้านไร่

ค่าฝุ่นในภาคกลางพุ่งสูงขึ้น 20% ในช่วงต้นปี รัฐบาลขาดมาตรการจับรถควันดำอย่างจริงจัง ไม่ควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรจากการเผา และตัดงบประมาณไฟป่ากว่า 2,400 ล้านบาท มีรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกฯ สะท้อนการขาดภาวะผู้นำอย่างชัดเจน​​​​​​​​​​​​​​​​

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2568   ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์  สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ว่าล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้น จากที่ รัฐบาลอ้างว่าสามารถลดพื้นที่เผาไหม้ทางการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ลง 50% แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม พื้นที่เผาไหม้ทั่วประเทศจาก 4 ล้านไร่ เป็น 8 ล้านไร่จากปีก่อน ค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคกลางก็พุ่งสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงต้นปี

“นี่คือการโกหกประชาชน …เอาตัวเลขที่ดูดีมาเคลมผลงาน ทั้งที่สถานการณ์จริงเลวร้ายลง” ภัทรพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ สส.เชียงใหม่ ยังชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดของรัฐบาลในการรับมือปัญหา PM 2.5 โดยเฉพาะการขาดมาตรการป้องกันล่วงหน้า ไม่ออกมาตรฐานควบคุมสินค้าเกษตรที่เผา ไม่สนับสนุนเกษตรกรให้ลดการเผา และล้มเหลวในการจัดการเชื้อเพลิงป้องกันไฟป่า

“รัฐบาลนี้ไม่ได้จริงใจแก้ปัญหาเลย สนแต่ว่าจะเอาตัวรอด สั่งการลวก ๆ ไปวัน ๆ ไม่ได้ดูว่าปัญหามันลึกแค่ไหน”

ภัทรพงษ์ กล่าวว่า นายกฯ ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่สามารถควบคุมรัฐมนตรีในรัฐบาลตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น การที่ ครม. มีมติให้จัดการมลพิษทางอากาศ แต่รองนายกฯ อนุทิน กลับใช้อำนาจสั่งห้ามเผาทุกกรณี ทำให้แผนบริหารเชื้อเพลิงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพังหมด

“แค่เรื่อง PM 2.5 ยังบริหารไม่ได้ นายกฯ ยังปล่อยให้รัฐมนตรีทำงานขัดแย้งกันเอง แล้วจะบริหารประเทศได้ยังไง”

ภัทรพงษ์ ระบุต่อว่า รัฐบาลยังคงล้มเหลวในการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม แม้จะมีอำนาจเต็มที่ในการออกมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การจับรถควันดำ 100% แต่กลับไม่มีการดำเนินการที่จริงจัง ปัญหาฝุ่นไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ลามไปทั่วทั้งภาคกลางและปริมณฑล ขณะที่รัฐบาลกลับโยนภาระให้ กทม. รับผิดชอบเพียงลำพัง

แม้จะมีคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากการเผา แต่เมื่อมีการประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลอดภาษี กลับไม่มีเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมหรือมาตรการตรวจสอบแหล่งที่มา แสดงให้เห็นถึงการขาดความจริงจังของรัฐบาล แม้แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ที่มาจากพรรคเดียวกับนายกฯ ยังเพิกเฉยต่อคำสั่งการของนายกฯ เอง

เมื่อเกิดไฟป่าและฝุ่นพิษรุนแรง รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการเตรียมรับมือที่ชัดเจน นายกฯ สั่งการซ้ำไปซ้ำมาแต่ไร้การติดตามผล การตัดงบประมาณไฟป่ากว่า 2,400 ล้านบาท ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เจ้าหน้าที่ไม่มีเครื่องมือเพียงพอ ขณะที่เทคโนโลยีสำคัญถูกตัดออกจากงบประมาณ

นอกจากนี้ มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากการเผายังไม่มีการบังคับใช้จริง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมายังถูกนำเข้าโดยไม่มีการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายควบคุมได้ทันที แต่กลับไม่มีการดำเนินการ

สุดท้าย ปัญหานี้สะท้อนถึงการขาดภาวะผู้นำของนายกฯ อย่างชัดเจน ข้อสั่งการที่ออกมาเป็นเพียงคำสั่งลอย ๆ ไร้ประสิทธิภาพ ข้าราชการและรัฐมนตรีไม่สนใจปฏิบัติตาม เพราะพวกเขารู้ดีว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับมลพิษที่ทำลายสุขภาพทุกวัน

ด้าน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า เป็นคนพูดคนแรกให้เป็นวาระแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านต้องประสานงานในทุกระดับ ขอความร่วมมือช่วยเหลือให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่เผาพื้นที่เกษตร

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นได้ลดลงจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลทำรวมถึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย

  • กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปทั้ง 76 จังหวัด บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ประกาศห้ามเผา ส่งผลให้การเผาลดลง ในช่วง 3 เดือนดำเนินคดีผู้ที่จงใจเผา มี 133 คดี
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณงบกลาง เพื่อเฝ้าระวังเรื่องไฟป่า และมีชุดลาดตระเวนชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า ระดมสรรพกำลังทุกฝ่ายมากกว่า 18,000 คน ทำให้จุดความร้อนลดลงร้อยละ 30
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีมาตรการป้องกันการเผาในพื้นที่การเกษตร ในวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 31 พ.ค.ปีนี้ หากมีการเผาก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการ คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท ให้กรมฝนหลวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง บรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active