UNDP และ Thailand Policy Lab ดึงกลุ่มเกษตรกรและคนเปราะบางในพื้นที่ร่วมคิดร่วมสร้างระบบบริหารจัดการอาหาร ดึงจุดแข็งด้านทรัพยากรอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มาเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน
จังหวัดชายแดนใต้มีสัดส่วนความยากจนสูงที่สุดในประเทศ โดยในปี 2559 มีคนจนสูงสุดถึงร้อยละ 32.8 รายได้เฉลี่ยของประชากรในจังหวัดชายแดนใต้ อยู่ในระดับต่ำสุดที่ 5,725 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้เฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 9,409 บาทต่อเดือนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้ครอบครัวส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ มีอาหารบริโภคลดลงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เด็กบางส่วนมีอาหารรับประทานไม่ครบทุกมื้อ และประสบปัญหาขาดสารอาหาร ภาวะทุพโภชนาการยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็กด้วย ผลสำรวจระดับสติปัญญา ในกลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 พบว่า เด็กในพื้นที่ดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP และ Thailand Policy Lab ห้องปฏิบัติการนโยบายที่ก่อตั้งโดย UNDP และ สภาพัฒน์ฯ จึงจัดกิจกรรมเสวนาและเทรนนิ่งด้านนวัตกรรมเชิงสังคมและนโยบายผ่านกิจกรรม Policy Innovation Journey เส้นทางสานฝันสร้างนโยบายครั้งที่ 2 ในประเด็นระบบการผลิตอาหารให้กับนักวางแผนนโยบาย นักปฏิบัติ ข้าราชการ และนักวิชาการระดับชุมชน และท้องถิ่นในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ ขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ระบุว่ากิจกรรมนี้มีเป้าหมายในการค้นหาปัญหาและทางแก้จากท้องถิ่น โดยร้อยละ 90 พบว่า การแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จต้องแก้จากท้องถิ่น ไม่ใช่จากส่วนกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงจุด UNDP และ สภาพัฒน์ฯ จึงเปิดพื้นที่การสนทนาเพื่อการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงการบริการสาธารณะ โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงท้องถิ่นเข้ากับระดับชาติและระดับโลก
สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า Thailand Policy Lab ได้ใช้กระบวนการนี้ทดลองเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ เพื่อค้นหานวัตกรรมในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายในระดับต่าง ๆ โดยจะทดลองไปในหลายพื้นที่ และหลายโจทย์ เพื่อเรียนรู้กระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วม และถอดบทเรียนเพื่อนำมาออกแบบกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับต่าง ๆ ของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ส่วนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อร่วมคิดหาแนวทางสร้างความมั่นคงทางอาหารจากจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่างมองว่า ที่จริงแล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีทรัพยากรอาหารที่อุดมสมบูรณ์ แต่ขาดการบริหารการจัดการ โครงการนี้จึงจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรและคนเปราะบางในพื้นที่ ได้มีช่องทางการมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมสร้างระบบบริหารจัดการอาหารและสินค้าเกษตรในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงอาหารและสร้างรายได้ให้ดียิ่งขึ้น
ดนยา สะแลแม นายกสมาคมเสริมสร้างสิทธิชุมชน จังหวัดปัตตานี บอกว่าการกำหนดนโยบายจากล่างขึ้นบนในลักษณะนี้ จะสามารถรวบรวมปัญหาที่แท้จริงจากในพื้นที่และรวบรวมทางออกที่เหมาะสมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสะท้อนกลับไปสู่ระดับนโยบาย ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา
ขณะที่ รดา มีบุญ ประธานศูนย์เรียนกสิกรรมไทยบ้านภูลิตา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การร่วมหารือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน เป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนได้ร่วมคิดหาทางออกและทำให้เกิดการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตได้ ให้มีความปลอดภัยและส่งเสริมการตลาดให้ดียิ่งขึ้น
ผลจากการรับฟังนี้ จะนำไปสู่โครงการนำร่องแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอาหารท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ซึ่งจะมีส่วนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป