พบสัดส่วนผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 48% ของจำนวนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งหมด 67 พรรค เชื่อหากเพิ่มจำนวน ส.ส.ได้ มีส่วนช่วยผลักดันนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศ ในสภาฯ
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้การรับรอง 67 พรรคการเมือง มีสิทธิส่งชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดย ‘พรรคเสมอภาค’ เสนอผู้สมัครบัญชีรายชื่อ 41 คน จัดวางลำดับที่คำนึงถึงความรู้ความสามารถบวกกับฐานคิดแบบ Gender Quota หรือ การคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้พรรคเสมอภาคมีสัดส่วนของผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศรวมกันมากกว่า 48% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด
โดยหลักการแล้วหากประเทศต้องการสร้างแรงกระเพื่อมต่อกระบวนการนิติบัญญัติได้คือ จะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศสภาพไม่น้อยกว่า 30% แต่ปัจจุบัน iLaw รายงานว่า จำนวน ส.ส.หญิงในประเทศไทยยังมีเพียง 73 คน คิดเป็น 16% และมี ส.ส.ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เปิดเผยตัวตนเพียง 3 คน จากจำนวนของ ส.ส.ทั้งหมด
รฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าวว่า Gender Quota ไม่ใช่แค่วาทกรรมทางการเมือง ปัจจุบันมีประชากรสัดส่วนผู้หญิงกว่า 33,353,812 คน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าประชากรชายถึง 1,479,504 คน และพี่น้องประชาชนที่เป็น LGBTIQAN+ ที่เปิดเผยตัวตนโดยเฉพาะราว 6 ล้านคน ทุกข์เข็ญของของพี่น้องประชาชนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ และการเมืองที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวที่กลุ่มพี่น้องความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเสมอภาคกัน
“ท่านทราบไหม ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงติดอันดับโลก จากสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิงพิการ ปี 2564 โดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสักยภาพสตรีพิการ พบว่า หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพ และสังคม ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ เฉลี่ยมากถึงปีละ 30,000 คน”
ธิติพร ฌานวังศะ เลขาธิการพรรคเสมอภาค ยืนยันว่า การจัดวางลำดับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้นถือเป็นยุทธาสตร์สำคัญที่พรรคเสมอภาควางกลยุทธมาเป็นอย่างดี ทางพรรคไม่ได้เน้นการสร้างกระแสหาเสียงกับกลุ่มผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น โดยจะไม่เห็นหัวคนกลุ่มนี้เป็นแค่เพียง Voter แต่ต้องการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองไทยด้วยการปักธงว่า หากการเมืองระบบผู้แทน ที่คำนึงถึงเสียงของคนทุกคน ได้ผู้แทนฯ ที่สามารถสะท้อนปัญหาของผู้คนที่หลากหลาย ผ่านร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคุ้มครองพวกเขาได้จริง เกมส์การเมืองจะพลิกประวัติศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่ นาดา ไชยจิตต์ และ กฤษ ธรรมสโรช จากบทบาทของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ผู้มีอัตลักษณ์เป็นอินเตอร์เซ็กส์และบุคคลข้ามเพศ ที่เข้ามาร่วมทัพสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขาก็เชื่อว่า นโยบายด้านความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายรับรองเพศ, การผลักดันให้สมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มสัดส่วน ส.ส.ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปในสภาฯ
“ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีกฎหมายเหล่านี้ และยังต้องแก้ไขกฎหมายทั้งองคาพยพ ให้รับรองคุ้มครอง ศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนทุกเพศ พวกเรายืนยันว่า กฎหมายเพื่อความหลากหลายทางเพศ คือเรื่องปากท้อง คือความมั่นคงในชีวิตของพวกเราทุกคน”