Bangkok Pride Festival 2025 สู่จุดมุ่งหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ

เผย รัฐบาลเร่งศึกษาร่างฯ ควบคู่ไปกับคุ้มครองพนักงานบริการทางเพศ เล็งยกระดับหลักสูตรการศึกษา ที่โอบรับความหลากหลายในสังคม ย้ำ วันงาน 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. 68 จัดเต็มกิจกรรมเฉลิมฉลอง คาดผู้เข้าร่วมขบวนพาเหรด กว่า 3 แสนคน ตั้งเป้า สู่เจ้าภาพ World Pride 2030

วันนี้ (19 พ.ค. 68) นฤมิตไพรด์ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชน แถลงข่าวการจัดงาน “Bangkok Pride Festival 2025” (บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2025) ภายใต้ธีม “Born This Way” โดยเตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. 68 เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) และมุ่งประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับกรุงเทพมหานคร สู่การเป็น Pride Destination ระดับโลก พร้อมเดินหน้าเป้าหมายสำคัญในการเสนอเป็นเจ้าภาพ World Pride สู่การจัดงาน Bangkok World Pride ในปี 2030

จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า Bangkok Pride 2025 ถือเป็นการจับมือร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมไปถึงการติดตาม ผลักดันกฏหมายสมรสเท่าเทียม ที่เปลี่ยนจากร่างฯ กลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการร่วมกันของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายและความเท่าเทียม โดยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มแต่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา

ในขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังเดินหน้า รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม ศึกษา รับฟังในเรื่องการรับรองการอัตลักษณ์ทางเพศ ที่เอื้อให้ทุกคนใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนให้เข้ากับข้อจำกัด กฎหมายพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) โดยยึดหลักการว่าแรงงานทุกกลุ่มควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัยในร่างกาย การไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และยกระดับแบบเรียนการศึกษาให้สะท้อนความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เปิดกว้าง ส่งเสริมความเข้าใจอย่างแท้จริง

“ขอยืนยันว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และการทำงานร่วมกันอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย”

จิราพร สินธุไพร

Bangkok Pride Festival 2025 มุ่งนำเสนอการเดินทางจากชัยชนะของกฎหมายสมรสเท่าเทียม สู่จุดมุ่งหมายถัดไป คือ การรับรองอัตลักษณ์อย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ตลอด 3 วัน ได้แก่

  • Bangkok Pride Parade 2025 ปีที่ 4 ในวันอาทิตย์ที่ 1 มิ.ย.68 โดยขบวนพาเหรดจะเริ่มตั้งขบวน ณ สนามกีฬาแห่งชาติ เดินบนถนนพระราม 1 มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร ภายใต้แนวคิด “Born This Way” ขบวนแห่งความภาคภูมิใจ ประกอบด้วย 7 ขบวนหลัก 7 นิยามความเป็นตัวเอง


    Born Again  นำขบวนโดย Bangkok Pride เฉลิมฉลองการ “เกิดใหม่” อย่างภาคภูมิของตัวตนที่เคยถูกซ่อนเร้น

    Born to Be Loved  ขบวนสีแดง แสดงพลังของความรักที่ไม่ต้องซ่อนอีกต่อไป และฉลองสิทธิสมรสเท่าเทียม

    Born to Be Me  ขบวนสีม่วง สะท้อนพลังของการรักและเป็นตัวของตัวเองอย่างภาคภูมิ

    Born to Be Part of One  ขบวนสีเขียว เชื่อมโยงตัวตนกับสิ่งแวดล้อม สังคม และโลก

    Born to Create & Inspire ขบวนสีเหลือง ยกย่องพลังแห่งศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน LGBTQIAN+

    Born to Heal Generations ขบวนสีฟ้า มุ่งเน้นการเยียวยาและการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม

    Born to Be Together ขบวนสีชมพู ความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • Bangkok Pride Forum 2025 พื้นที่เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับสุขภาวะ LGBTQIAN+, เศรษฐกิจสีรุ้ง, เทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชน การศึกษา และวัฒนธรรม จากภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการปักหมุดประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศในเอเชีย ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจร่วมกันอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย.68 รวม 4 พื้นที่ใหญ่ใจกลางสยาม

  • Bangkok Pride Awards 2025 เวทีเกียรติยศที่จัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเชิดชูบุคคลและองค์กร ที่มีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมด  11 สาขา 26 รางวัล ในวันที่ 31 พ.ค. 68

  • DRAG BANGKOK Festival 2025 เวทียกระดับศิลปะแดร็กไทยสู่เวทีโลก ภายใต้ธีม “Thaituristic Drag Scene” นำเสนออัตลักษณ์ไทยผ่านการแสดงที่ทรงพลังและสร้างสรรค์ และยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับรองศิลปิน “แดร็ก” ให้เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในวันที่ 30 พ.ค.- 1 มิ.ย.68

อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน Bangkok Pride กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญของชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย เพราะเป็นปีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว และเตรียมผลักดันให้มีการรับรองอัตลักษณ์ในเร็วๆ นี้ รวมถึงในปีนี้คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมขบวนพาเหรดมากกว่า 3 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2024 ที่มีผู้เข้าร่วมขบวนมากถึง 2.5 แสนคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และการยอมรับที่มีเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

“การเดินบนถนนของเรา ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลอง แต่คือการเดินเพื่อเปลี่ยนแปลง เราเดินจนสมรสเท่าเทียมผ่านมาแล้ว ทำไมเราจะเดินเพื่อผลักดันกฎหมายอื่นๆ ให้ผ่านไม่ได้ และหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการเดินครั้งนี้ คือ การผลักดันให้เกิดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่เพียงส่งผลในด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางสังคม และความเชื่อมั่นในเวทีโลก ในการเป็นประเทศที่เคารพศักดิ์ศรีของทุกคนด้วย”

อรรณว์ ชุมาพร

อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด

Bangkok Pride Festival 2025 คาดว่า จะกลายเป็นเทศกาลระดับชาติ ที่หลอมรวมพลังของผู้คนจากทุกมิติ และจะเป็นขบวนไพรด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่ผู้คนจากทั่วโลกอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมมากที่สุด ภาคีเครือข่ายตั้งใจใช้โอกาสครั้งสำคัญครั้งนี้ รวมถึงไพรด์พาเหรดที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ยกระดับมาตรฐานของงานไพรด์ประเทศไทยให้เทียบเท่ากับ WorldPride พร้อมทั้งประกาศความพร้อมของกรุงเทพมหานคร ในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Bangkok World Pride 2030”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active