หลัง “อิงอิง” ผู้เข้าประกวด MUT ประกาศบนเวทีฯ เผยความจริงอีกด้าน กฎหมายรับรอง แต่สังคมไม่เข้าใจ ส่งผลสถานบริการไม่ครอบคลุม ซ้ำเติมอคติ ตีตรา
“ครั้งหนึ่ง อิงคือสตรีที่ผ่านการทำแท้งถูกกฎหมายมาก่อน และอิงเอาตัวเองออกมาเป็น Case study ให้สังคมได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้หญิงทุกคนควรมีตัวเลือกในการใช้ชีวิต”
สิ้นเสียงการตอบคำถามบนเวทีประกวด Miss Universe Thailand 2023 ของ “อิงอิง – วิชญาดา ชาติธีรรัตน์” ตัวแทนนางงามจาก จ.นครปฐม มีทั้งเสียงชื่นชมในความกล้าหาญ ยอมรับว่าตนเองเคยผ่านการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย โดยเจ้าตัวเผยบนเวทีว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ตั้งครรภ์แบบไม่พร้อมและไม่มีทุนทรัพย์มากพอ จึงตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต และอยากให้เรื่องของตนเองเป็นกรณีศึกษากับผู้อื่น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอเริ่มทำโครงการ “แท้งไม่ผิด” และอยากจะเป็นกระบอกเสียงผลักดันทำแท้งถูกกฎหมาย
ขณะเดียวกันมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากกรรมการบางส่วน เนื่องจากมองว่านี่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ตัวเองต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ
The Active คุยกับ ชนฐิตา ไกรศรีกุล ผู้จัดการกลุ่มทำทาง ที่ลุกขึ้นมาให้กำลังใจ “อิงอิง” และผู้หญิงทุกคนที่ผ่านการทำแท้งหรือคิดที่จะทำแท้ง โดยเธอยืนยันว่า “การทำแท้ง” ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ความผิดพลาดอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เป็นทางเลือกที่ผู้ท้องได้ทุกคนควรมีสิทธิเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า ต้นเหตุคือ เพศสัมพันธ์ไม่สามารถป้องกันได้ 100% นอกจากนั้นการทำแท้งไม่ใช่การรับผิดชอบ แต่เป็นความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ที่ผู้หญิงจะตัดสินใจต่อชีวิตของตนเองและครอบครัว
ชนฐิตา ย้ำว่า มีผู้หญิงที่ทำแท้งหลายคนเจอเหมือนสิ่งอิงอิงกำลังเจอ เพียงแต่ประสบการณ์ของพวกเธอเหล่านั้นไม่ได้ถูกถ่ายทอดสดให้ทุกคนเห็น หลายคนเจออคติมากกว่า เช่น การปรึกษากับที่บ้าน เพื่อน แล้วโดนตำหนิ เมื่อจะเข้าสถานพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ กลับถูกแพทย์ปฏิเสธหรือตำหนิโดยเรียกชื่อดัง ๆ ให้อาย ไม่ให้ยาแก้ปวดขณะให้บริการ เพราะบอกว่าเจ็บแล้วจะได้จำ เมื่อทำเสร็จก็อาจจะต้องถูกตีตราจากสังคม วัด นักข่าว บอกว่า คนทำแท้งฆ่าเด็ก ฆ่าลูกตัวเอง เป็นแม่ใจยักษ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรทำต่อกันเลย
“เราเห็นคุณอิงอิงที่ทำแท้งปลอดภัยเสร็จ เขาได้ประกวดนางงาม ได้ทำตามฝัน เป็นตัวเองที่สวยงามและแข็งแรง แต่กับผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกอคติสกัดจนไม่ได้ทำแท้ง พวกเธอต้องถูกบังคับแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก อาจจะไม่ได้เรียนหนังสือแล้วมาทำงานเลี้ยงลูก เราไม่แน่ใจว่าเราภูมิใจกันได้อย่างไรกับการทำให้ผู้หญิงประเทศนี้ไม่ได้ทำแท้งแล้วจบความฝันหรือเสียชีวิตเยอะขนาดนี้”
ชนฐิตา ไกรศรีกุล
กฎหมายอนุญาต ใคร? ไม่อนุญาต
ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดว่า หากหญิงมีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ สามารถขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องชี้แจงความจำเป็น แต่ถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถทำได้แต่จำเป็นต้องผ่านการเข้ารับคำปรึกษาทางเลือกกับผู้ให้คำปรึกษาที่ผ่านการรับรองโดยกรมอนามัย ซึ่งกลุ่มทำทาง นับเป็นหนึ่งในนั้น
แต่ ชนฐิตา กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายเปิดแต่ไม่ได้หมายความว่ามีสถานบริการฯ เพียงพอรองรับ เพราะยังมีอคติจากที่ผู้ให้บริการไม่ยอมทำให้ รวมถึงไม่ส่งต่อจึงทำให้ผู้หญิงซึ่งมีความจำเป็นไม่ทราบว่าต้องหาสถานบริการฯ ผ่านช่องทางไหนบ้างเพื่อจะได้รับบริการอย่างเร็วที่สุด
ซึ่งปัจจุบันสามารถติดต่อผ่านกลุ่มทำทาง, 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม, เครือข่ายอาสา RSA และ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices Network)
ส่วนเรื่องสำคัญที่สังคมควรจะเรียนรู้จากกรณีนี้ คือ การท้องไม่พร้อมไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กวัยรุ่น จากสถิติมีผู้หญิงอายุ 13 – 19 ปี ไม่ถึง 20 % ที่ขอรับคำปรึกษา ดังนั้น การยุติการตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องของผู้หญิงแทบจะทุกวัย โดยเฉพาะในวัยทำงาน แต่ถูกทำให้เสมือนเป็นเรื่องของวัยรุ่น เพื่อให้เป็นการดูถูกว่าคนทำแท้งเป็นคนไม่มีวุฒิภาวะในการคุมกำเนิด แต่จริง ๆ การคุมกำเนิดไม่มีวิธีไหนได้ผล 100 % และการตัดสิน กีดกันไม่ให้เข้าถึงบริการฯ ไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ต่ออย่างมีคุณภาพ
“เราไม่ได้บังคับให้คุณมาเห็นด้วย 100 % ว่าทุกคนมาทำแท้งกันเถอะ เราเห็นด้วย เรื่องสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนเข้าใจว่ามีหลายคนที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ และเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ถ้าเราจะมีการขยาย เช่น สวัสดิการเด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อน เพื่อส่งเสริมให้คนที่เขาต้องการที่จะตั้งครรภ์ต่อได้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ แต่ถ้าเจ้าของร่างกายตัดสินใจว่าเขาไม่ต้องการท้องต่อ ขอให้คุณเก็บทัศนคติไว้ในใจ รับฟังและพาเธอเหล่านั้นให้ไปในที่ปลอดภัย ไม่ผลักใส ตำหนิ ตีตรา”
ชนฐิตา ไกรศรีกุล
7 ปี แนวโน้มความต้องการทำแท้งปลอดภัยพุ่ง สะท้อนสถานบริการฯ ยังไม่ครอบคลุม
สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ 1663 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ในการให้บริการปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม ให้บริการเรื่องเอดส์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 และเพิ่มการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เปิดเผยตัวเลขของผู้มาขอรับคำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม ถ้าดูจากสถิติ พบว่ามีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง
- ปี 2560 จำนวน 19,415 คน
- ปี 2559 จำนวน 13,700 คน
- ปี 2561 จำนวน 26,721 คน
- ปี 2562 จำนวน 31,614 คน
- ปี 2563 จำนวน 34,168 คน
- ปี 2564 จำนวน 41,542 คน
- ปี 2565 จำนวน 43,379 คน
ทั้งนี้ ยังพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เกือบทั้งหมดอยู่ในภาวะสับสน กลัว และการหาทางออกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการ “ตีตรา” ในสังคมยังคงอยู่อย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะเลือกทำแท้งหรือเลือกที่จะท้องต่อท่ามกลางความไม่พร้อม การตีตราจากสังคมในไปสู่การตัดสิน “คุณค่า” และง่ายมากต่อการละเมิดสิทธิของผู้หญิงที่กำลังอยู่ในภาวะทุกข์ยากจากการท้องไม่พร้อม ไม่ว่าจะมีนักเรียนที่ถูกให้ออกจากโรงเรียน ถูกให้ออกจากการทำงาน ฯลฯ
“เราเชื่อว่า การมีทางเลือกย่อมดีกว่าไม่มีทางเลือก สิ่งที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ทำผ่านสายด่วน 1663 คือ การทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่มากขึ้น และมีความพร้อมที่จะเลือกทางอย่างมั่นใจและปลอดภัย ลดการตีตราตนเองลง เพื่อการดำเนินชีวิตต่อไปไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตาม มากกว่า 10% ของผู้ที่มาขอรับคำปรึกษา ต้องการความช่วยเหลือที่มากกว่าการให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียว การประสานส่งต่อเพื่อให้ได้รับบริการหรือความช่วยเหลือที่มากขึ้น การติดตามผลจนปัญหาต่าง ๆ ได้คลี่คลายจนหมดสิ้น จึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของสายด่วน 1663 ที่ต้องทำ”
ปัจจุบันมีสถานบริการสุขภาพทั้งรัฐและเอกชน 110 แห่ง ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่รับยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัย โดยภาคใต้มีสถานบริการครอบคลุมมากที่สุดเกือบครบทุกจังหวัด ซึ่งในจำนวน 110 แห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลรัฐมากที่สุด คือ 68 แห่ง รองลงมา คือ คลินิกเอกชน 32 แห่ง, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 6 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง
แต่หลายแห่งยังเป็นแบบมีเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเอง คือ แต่ละสถานบริการรับข้อบ่งชี้ตามกฎหมายทำแท้งไม่ครบทุกข้อ เช่น รับเฉพาะปัญหาสุขภาพกาย ตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์จากความผิดทางเพศ หรือข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมาจากตัดสินใจของบุคลากรแต่ละแห่งเพื่อลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากทัศนคติของบุคลากรในโรงพยาบาล รวมถึงการงดส่งต่อข้ามเขต กรณีสถานบริการไม่ครอบคลุม และมีเพียง 24 แห่งเท่านั้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ โดยเกือบทั้งหมดเป็นคลินิก และมีโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ไม่สะดวกใจที่จะประชาสัมพันธ์บริการ เนื่องจากไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลทำแท้ง
ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มทำทาง จัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) “การถูกเลือกปฏิบัติจากการเข้ารับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ตามสิทธิบัตรทอง” ตามกลไก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ระบุให้มีทีมงานภาคประชาชนที่เข้ามารับร้องเรียนเวลาเกิดปัญหาจากการไปรับบริการหรือรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการในระบบบัตรทอง
หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ แห่งนี้ ทำหน้าที่รับฟังปัญหากรณีการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ถูกแพทย์ปฏิเสธ ไม่ส่งต่อไปยังสถานบริการที่มีความพร้อม หรือให้บริการที่ไม่เป็นมิตร สามารถแจ้งปัญหาและปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ แห่งนี้ได้ทางแอปพลิเคชันไลน์ @TAMTANG เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริง และช่วยเหลือจัดการข้อร้องเรียนดังกล่าวของผู้ร้อง ปรับระบบบริการป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ