จี้ ‘ลดอคติ – ขยายบริการ’ ให้การยุติตั้งครรภ์ เป็นทางเลือกสุขภาพ ที่ทำได้จริง

‘กลุ่มทำทาง’ พร้อมองค์กรภาคี สะท้อนอคติ ข้อจำกัดทำกฎหมาย สวนทางกับการปฏิบัติจริง เผย 1 ใน 5 ของคนทำแท้งจากทั้งประเทศ อยู่ใน กทม. หลายฝ่ายระดมข้อเสนอ แนะการศึกษาต้องสอนให้เด็ก เข้าใจเรื่องวางแผนครอบครัว หากผิดพลาด ต้องมีทางออก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มทำทาง และองค์กรภาคีจัดนิทรรศการภายใต้ชื่อ “Bangkok Abortion 2024: ขอบคุณ… ที่ยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย” เพื่อเป็นการขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ และเครือข่าย ที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือหญิงผู้ท้องไม่พร้อมและเห็นความสำคัญของการบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ทั้งยังอัปเดตสถานการณ์การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์หลังจากแก้ไขกฎหมายไปในปี 2564

ต้องกระตุ้น กทม. เพราะ 1 ใน 5 ของคนทำแท้งจากทั้งประเทศอยู่ที่นี่ !

สุไลพร ชลวิไล จากกลุ่มทำทาง ในฐานะที่ปรึกษาในการให้ทางเลือกและส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย บอกว่า ต้องการขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานคร มีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเอื้อให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าบริการเมื่อท้องไม่พร้อม เพราะสถานที่ทำแท้งใน กทม. ตอนนี้คือคลินิกเอกชนเป็นหลัก ซึ่งหากจะเข้ารับบริการจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อเสียค่าใช้จ่ายที่ถูกลง

“เมื่อกฎหมายแก้แล้ว จึงไม่ใช่เวลาที่แก้กฎหมายซ้ำ เพราะเพิ่งแก้ไป สิ่งที่จะทำคือการเพิ่มจำนวนคลินิก หรือทำยังไงให้ผู้หญิงนั้นเข้าถึงการบริการอย่างปลอดภัย ซึ่งงานในครั้งนี้เป็นปีที่ 3 เราพยายามกดดันกับ กทม. ว่า เปิดสถานที่บริการเถอะ ถ้าไม่เปิด คนกรุงเทพฯ ก็ต้องไปไปสิงห์บุรี ซึ่งเป็นที่ที่ใกล้ที่สุด และถ้าไม่มีตัง ก็จะต้องเสียค่ารถเพื่อเดินทางไป”

สุไลพร ชลวิไล

ประกอบกับข้อมูลของ ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร พบว่า ในปี 2566 มีการทำแท้งไปเพียง 19 ราย ในโรงพยาบาล 2 แห่งของ กทม. ซึ่ง ส.ก.ภัทราภรณ์ มองว่า สวนทางกับโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดของ กทม. ถึง 11 แห่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลสถิติสถานการณ์ของหญิงท้องไม่พร้อมย้ำอีกว่า ทำไม กทม. ต้องมีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น โดย พรรณิการ์ วานิช จากคณะก้าวหน้า เปิดเผยว่า ข้อมูลของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม (1663) มีสถิติดังนี้

  • ร้อยละ 21 ของคนที่ทำแท้งอยู่ในพื้นที่ กทม.

  • ร้อยละ 6 ของคนที่ทำแท้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

  • ร้อยละ 73 ของคนที่ทำแท้งกระจายอยู่ทั่วประเทศอีก 75 จังหวัด

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า

  • ร้อยละ 80 ของคนทำแท้งมีอายุเกิน 20 ปี

  • ร้อยละ 56 เป็นคนที่มีลูกหรือเคยตั้งครรภ์มาแล้ว

  • ร้อยละ 60 คุมกำเนิดแต่ยังตั้งครรภ์

  • ร้อยละ 75 มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 ต่อเดือน

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า คนที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์คือหญิงวัยทำงานในเมืองใหญ่ที่มีรายได้น้อย ดังนั้น เมื่อกฎหมายเอื้อให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมสามารถใช้สิทธิ์ในการยุติการตั้งครรภ์ได้แล้ว สิ่งต่อมาในฐานะรัฐบาลท้องถิ่นของ กทม. ควรจะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการให้ผู้หญิงเหล่านั้นเข้าถึงสิทธิ์ที่ควรจะได้รับอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีสิทธิ์เพียงในกระดาษแต่ทำจริงไม่ได้ และยังปล่อยให้เป็นภาระของภาคประชาสังคมเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้

ผศ.สุกัญญา ศรีโพธิ์ เลขาธิการสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย คลินิกเวชกรรม สวท. เห็นตรงกันว่า การเริ่มจัดนิทรรศการพร้อมการพูดคุยกันในเรื่องยุติการตั้งครรภ์ ณ กทม. เป็นเรื่องที่ทำได้ถูกทาง เพราะ กทม. มีความเป็นเมืองเอกนคร (Primate City) เมื่ออ้างอิงจากข้างมูลข้างต้น ทำให้เห็นถึงผู้คนที่ต่างอพยพเข้ามา กทม. เพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า

“เหมือนที่นักวิชาการบางคนบอกว่า จริง ๆ แล้ว ชนบทเหมือนมดลูกที่ผลิตเด็กให้คนกรุงเทพใช้ มีหน้าที่ผลิตเด็กแล้วก็ส่งมาให้คนกรุงเทพใช้ พอคนกรุงเทพใช้ ปลดระวางแล้วปล่อยไปต่างจังหวัดใหม่ เด็กที่โตรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดก็กลับมาอีก วนเวียนไปเรื่อย ๆ”

ผศ.สุกัญญา ศรีโพธิ์

การที่กลุ่มทำทางได้ประสานกับทาง กทม. จึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด สำหรับคนที่เข้ามาหาโอกาส แล้วเกิดอุบัติเหตุทางชีวิต ซึ่งถ้าแก้ในส่วนนี้ได้ตั้งแต่ต้นทาง พร้อมทางออกที่เหมาะสม ประเทศไทยจะไม่มีครอบครัวที่แหว่งกลาง จากการส่งเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อมกลับต่างจังหวัด เพราะการที่มีครอบครัวแหว่งกลาง (มีแค่เด็กและคนแก่ แต่ขาดวัยหนุ่มสาว) จะส่งผลต่อปัญหาเชิงพฤติกรรมของเด็ก

“ดังนั้น การที่แก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทางคือ การมีลูกเมื่อพร้อม ถ้าเกิดตั้งครรภ์แล้วไม่พร้อม ก็จะต้องหาทางออกที่เหมาะสม และที่สำคัญคือต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะการมีครอบครัวที่ดี จะต้องมีการวางแผนที่ดี ไม่ใช่บอกว่า นึกจะมีก็มีเลย คงไม่ใช่แบบนี้”

ผศ.สุกัญญา ศรีโพธิ์

ทำแท้งคือทางเลือกสุขภาพ
มีกฎหมายแล้วต้องไม่ให้สิทธิ์ถูกปิดด้วยทัศนคติ

ข้อมูลจากกลุ่มทำทาง ระบุว่า แม้กฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการมีอำนาจตัดสินใจรับบริการภายใต้เงื่อนไขที่น้อยที่สุด เช่น ไม่ต้องมีสามียืนยัน หรือเงื่อนไขทางการแพทย์ ก็สามารถเข้ารับบริการได้ แต่ในความเป็นจริงสถานพยาบาลยังมีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการรับบริการขึ้นเอง เช่น ให้บริการเฉพาะตามกม.อาญา 305(1-3) กรณีมีปัญหาสุขภาพกาย รุนแรง ตัวอ่อนพิการ หรือถูกข่มขึ้นเท่านั้น และให้บริการเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้นหรือต้องผ่านการพิจารณาเป็นราย ๆ แม้ ณ อายุครรภ์ น้อยกว่า 12 สัปดาห์

มากไปกว่านั้น จากข้อมูลสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยในปี 2567 ของกลุ่มทำทาง ยังพบว่า มีสถานบริการหลายแห่ง รวมถึง กทม. เอง ไม่เปิดเผยสถานบริการออกสู่สาธารณะ แม้จะมีการเปิดสถานบริการเพิ่มขึ้นจาก 110 แห่ง จาก 39 จังหวัด ในปี 2565 มาเป็น 133 แห่ง จาก 51 จังหวัดในปี 2567 ก็ตาม

สำหรับ สุไลพร มองว่า การไม่เปิดเผยข้อมูลสถานที่บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยให้สาธารณชนรู้ ถือว่ายังเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้คนท้องไม่พร้อมไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย และอาจเจอความเสี่ยงหลายด้าน เช่น อายุครรภ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินกว่ากฎหมานกำหนด หรือ การซื้อยาเถื่อนจากออนไลน์ที่อาจทำอันจรายต่อตัวผู้ใช้ เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาของการใช้สิทธิ์ยุติการตั้งครรภ์จากประสบการณ์การทำงานของ ภัทราภรณ์ ที่ได้ศึกษาเรื่องยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลของ กทม. เพื่อหาสาเหตุและอุปสรรคในการนำไปเป็นข้อเสนอให้กับฝ่ายบริหาร พบว่า ปัญหาหลักที่ทำให้หญิงท้องไม่พร้อมไม่สามารถใช้สิทธิ์ของตนได้มาจากทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ และคนในสังคมทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและหัวก้าวหน้า

สำหรับ ภัทราภรณ์ จึงมองว่า ในเรื่องทัศนคติที่มีต่อการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องสร้างความเข้าใจและเปิดเวทีในการพูดคุยกับบุคลากรทางแพทย์ว่า การยุติการตั้งครรภ์คือทางเลือกสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องจริยธรรมหรือการฆ่าเด็ก

ส่วนในระยะสั้น เห็นถึงความคืบหน้าที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เช่น สำนักอนามัยเริ่มมีการอบรมเรื่องกฎหมายในการทำแท้ง มาตรา 301 และ 305 แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงมีโรงพยาบาลที่เปิดบริการยุติการตั้งครรภ์เพิ่ม 1 แห่ง ในพื้นที่ กทม.

เช่นเดียวกับ ปอขวัญ นาคะผิว ผู้จัดการคลินิกรักษ์ลาซาล ในฐานะผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ มองว่า การทำแท้งคือการรักษา เหมือนการดูแลสุขภาพทั่วไปที่แพทย์จะต้องเป็นคนดำเนินการ และต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งจากการให้บริการตั้งแต่ปี 2566 ทางคลินิกรักษ์ลาซาลพยายามให้ความสะดวกกับผู้ใช้บริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการสบายใจ และได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด

“คลินิกได้ให้ความสะดวกโดยจัดให้มีการรับผู้ใช้บริการในช่วงบ่าย และพยายามทำให้เกิดการยอมรับในคลินิก โดยเริ่มขึ้นป้ายว่ารับทำแท้งและปรึกษา เพื่อการทำแท้งเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสิ่งเล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ทำให้คนที่เข้ามารับบริการทำแท้งสบายใจ นอกจากนี้ ก่อนการให้บริการก็จะต้องมีการให้ข้อมูลและทำแบบทดสอบ รวมถึงตอบคำถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับการทำแท้ง เพื่อให้การดูแลดีที่สุด ทั้งเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจด้วย”

ปอขวัญ นาคะผิว

สำหรับการดูแลสุขภาพจิตของผู้ที่ผ่านการทำแท้งก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ ซึ่ง พรรณิการ์ ย้ำว่า เพราะเรื่องท้องไม่พร้อม ยังส่งผลไปถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีการฟื้นฟูและดูแลสุขภาพจิตจากภาวะรู้สึกผิดหรือไม่สบายใจหลังการทำแท้ง จะเป็นสิ่งที่ทำให้ทรัพยากรวัยทำงานมีคุณค่าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวมอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อมองไปในอนาคต นอกจากจะต้องเพิ่มจำนวนสถานบริการการยุติการตั้งครรภ์ให้กระจายทั่วประเทศและดูแลเรื่องสภาวะจิตใจ จะต้องมองไปถึงทัศนคติภายในใจของหญิงที่ทำแท้งด้วย เพราะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องความเชื่อของตัวเอง จึงต้องหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยทั้งกายและใจของคนเหล่านั้น

ลดอคติ – ขยายบริการ เพื่อสิทธิ์ของผู้หญิงที่ควรได้รับ

การเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัย ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้ง รวมถึงตัวอ่อนและทารกถูกทิ้ง โดยไม่ได้รับคำปรึกษาอย่างถูกต้อง กลุ่มทำทาง จึงมีข้อเสนอเพื่อสร้างสังคมเกิดความเข้าใจผู้ท้องไม่พร้อมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนี้

ลดอคติ

  • จัดประชุมวิชาการเพื่ออัปเดตความรู้ให้บุคลากรการแพทย์

  • หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น ราชวิทยาลัยสูติฯ ต้องสร้างความเข้าใจกับแพทย์

  • เพิ่มหลักสูตรสอนทำแท้งปลอดภัยในโรงเรียนแพทย์ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่

  • หมอและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ต้องทบทวนอคติที่ตนเองมี พยายามรับฟังให้ข้อมูลและส่งต่อผู้รับบริการได้โดยปราศจากอคติ

ขยายบริการ

  • ในระยะสั้น หมอที่ไม่พร้อม/ไม่ต้องการให้บริการ ต้องส่งต่อผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไปยังสถานพยาบาลปลายทางให้เร็วที่สุด โดยไม่ตีตราหรือโน้มน้าวให้ท้องต่อ

  • ส่งเสริมระบบจ่ายยาทางไกลผ่านไปรษณีย์ (Telemed) เพื่อเพิ่มจำนวนผู้รับบริการ

  • กรมอนามัยต้องซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยบริการว่าทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว บุคลากรการแพทย์มีหน้าที่ต้องให้บริการ หรือส่งต่อแบบติดตามดูแลจนจบกระบวนการ

  • รพ. ทั่วไปควรเปิดให้บริการทันที ส่วนจังหวัดที่ไม่มีหมอให้บริการเลยต้องไม่นิ่งเฉยและรับผิดชอบด้วยการจัดสรรงบพิเศษเพื่อเปิดจุดบริการเฉพาะเพิ่มเติม

  • สร้างตัวชี้วัด (KPI) ของ รพ. ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้มีแนวปฏิบัติและกลโกการบริการหรือส่งต่อที่มีมาตรฐาน เช่นเดียวกับการรักษาอื่นๆ

  • ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ต้องกำหนดแนวปฏิบัติเรื่องการทำแท้งอย่างปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมแพทย์ด้านอื่นๆ ให้บริการทำแท้งปลอดภัย

  • สปสช. ต้องสนับสนุน ให้หน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 50(5) เช่น กลุ่มทำทาง รับเรื่องร้องเรียนการถูกปฏิเสธ/ละเมิดบริการทำแท้งในสถานบริการเครือข่าย สปสช.

  • ประชาชนต้องมีข้อมูล ดังนั้น รัฐต้องมีเว็บไซต์ให้ความรู้ด้านกฎหมาย สถานบริการ สิทธิรับบริการ และข้อเท็จจริงอื่นๆ เกี่ยวกับการทำแท้ง

  • ยกเลิกกฎหมายอาญา ม.301 การทำแท้งต้องไม่ผิดกฎหมายทุกกรณี

ในส่วนของ พัชรีวรรณ เจนสาริกรณ์​​ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า มีความพยายามผลักดันและขับเคลื่อนในหลายมาตรการเช่นกัน ซึ่งหลังจากมีกฎหมายออกมาแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งจัดทำแนวทางการปฏิบัติในเรื่องการทำแท้งตามกฎหมายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องทั้งทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ  ผ่านช่องทางออนไลน์ ในแอปพลิเคชัน Teen Club อีกด้วย

นอกจากนี้ มีความพยายามให้ปรับแก้ยายุติการตั้งครรภ์จากบัญชียา จ2 เป็น บัญชี ก ซึ่งในปีนี้ก็ผลักดันได้สำเร็จ แต่กำลังอยู่ในส่วนที่หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการมาช่วยหาแนวทางการปฏิบัติภายใต้บัญชียา ก

ขณะที่ มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนฯ คลินิกเวชกรรมชุมชน PDA ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ระบบการศึกษาต้องสอนให้เด็กเกิดความเข้าใจเรื่องการวางแผนครอบครัว ขณะเดียวกัน ถ้าเกิดผิดพลาดก็ต้องมีทางออก ซึ่งการจัดอบรมความรู้ให้กับเด็ก ๆ นับเป็นหนึ่งในกระบวนการของการยุติการตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน และต้องทำต่อไป

พรรณิการ์ ยังย้ำด้วยว่า กฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แม้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญต้องมีไว้เพื่อการันตีสิทธิ์ว่าประชาชนจะมีสิทธิ์ในการกระทำต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติได้จริง ในกรณีของการทำแท้ง เรื่องกฎหมายได้ให้ไว้พอสมควรแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องต่อสู้ต่อไปคือเรื่องของการให้การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม พร้อมผลักดันให้ มาตรา 301 แก้ไขต่อไป

“ความกล้าหาญทางการเมืองได้ผลักดันให้เกิดเรื่องสำคัญในประเทศนี้ ล้วนแต่ได้มาด้วยการต่อสู้ เริ่มจากประชาชน และถูกขานรับด้วยนักการเมือง ในเมื่อมีความกล้าหาญทางการเมืองมาครึ่งทางแล้ว นั่นคือ การการันตีกฎหมายแล้ว อยากให้ใช้ความกล้าหาญทางการเมืองอีกครึ่งนึง ทำให้สิทธิ์นั้นได้ถูกใช้โดยบรรลุเป้าหมาย แล้วทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่ต้องการทำแท้งได้ใช้สิทธิ์นั้นจริง ๆ เสียที ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน”

พรรณิการ์ วานิช

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active