“ก้าวไกล” พร้อมผลักดันต่อในสภาฯ ชี้ ทำได้ตามกฎหมาย แต่สถานบริการไม่ครอบคลุม แพทย์ปฏิเสธ ไม่ส่งต่อ เครือข่ายฯ เตรียมจัดประชุมวิชาการใหญ่ปลายเดือน ก.ย. นี้
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.66 ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มทำทาง เครือข่ายภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนประเด็นยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคก้าวไกล เพื่อเรียกร้องการทำแท้งถูกกฎหมาย และแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ที่เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ และแก้เงื่อนไขจาก 12-20 สัปดาห์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ที่กฎหมายผ่านไปในสภาชุดที่แล้ว โดยมี กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รับหนังสือ
ชนฐิตา ไกรศรีกุล ผู้จัดการกลุ่มทำทาง กล่าวว่า ทำทาง เป็นองค์กรภาคประชาชนเพียงไม่กี่เครือข่ายที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิการทำแท้งถูกกฎหมาย แต่ที่ผ่านมายังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องการเข้าถึงการบริการและถูกปฏิเสธการให้บริการ อีกทั้งยังถูกตีตรา และมีการตั้งคำถามว่าคุณจะมาทำไม ในที่นี้ไม่มีสถานบริการ หรืออยู่ในจังหวัดที่ไม่มีที่ให้บริการ จึงทำให้จำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัด เพียงเพื่อรับยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่การทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังได้สนับสนุนงบประมาณให้กับคนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ได้รับบริการฟรีที่หน่วยให้บริการ แต่ก็ยังมีโรงพยาบาลของรัฐอีกหลายแห่งที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้
“ปัจจุบันโรงพยาบาลใน กทม.มีเพียงของเอกชนเท่านั้นที่ให้บริการ ทำให้ผู้หญิงใน กทม.มีเพียงทางเลือกแค่ คุณต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 15 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำรายวัน หรือจะเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อรับบริการในจังหวัดที่ใกล้ที่สุด เราคิดว่าสถานการณ์ควรจะดีกว่านี้ได้ เพราะเรามีกฎหมาย มีงบประมาณสนับสนุน”
ชนฐิตา ไกรศรีกุล
ขณะที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะพยายามทำให้มีการรับยาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แม้ในวันนี้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่คิดว่าสามารถสร้างความร่วมมือกันได้ที่จะผลักดันให้เกิดบริการทำแท้งปลอดภัยให้เกิดขึ้นจริงภายหลังที่มีการทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว โดยมีข้อเสนอให้พรรคก้าวไกลพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรวัยเจริญพันธุ์จำนวนมากในแต่ละปี ดังนี้
1.ต้องมีการสำรวจตัวเลขสถานการณ์การทำแท้งที่เป็นจริง
2.ต้องขยายสถานบริการให้ได้ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อลดภาระจังหวัดที่ให้บริการ และลดภาระการที่ประชาชนต้องเดินทางไปรับบริการต่างจังหวัด
- ในระยะสั้นต้องทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ สั่งการไปยังทุกโรงพยาบาลโดยด่วน
- บังคับใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ ให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนงบประมาณครั้งละ 3,000 บาท อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง นอกจากนี้ รพ.ประจำจังหวัดทุกแห่งซึ่งในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากพอที่จะให้บริการ ควรเปิดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ทันที สำหรับจังหวัดที่ยังไม่มีบริการเลย ต้องจัดสรรงบพิเศษเพื่อเปิดจุดเฉพาะเพิ่มเติม
- สร้างตัวชี้วัด (KPI) ของ รพ. ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เช่น ตัวเลขผู้รับบริการที่สถานพยาบาลปฏิเสธการให้บริการหรือโน้มน้าวให้ตั้งครรภ์ต่อต้องเป็นศูนย์, ต้องไม่มีการร้องเรียนจากผู้รับบริการหรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 50(5) ว่าไม่ได้รับบริการ, จำนวนการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ต่อปี
- สปสช. ต้องสนับสนุนให้หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน สามารถรับเรื่องร้องเรียนจากผู้รับบริการกรณีถูกปฎิเสธ หรือถูกละเมิดสิทธิจากหน่วยบริการ
- สร้างแนวปฎิบัติในการให้บริการของหน่วยบริการ และใช้กลไกการให้บริการหรือส่งต่อเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการให้บริการหรือส่งต่อผู้ป่วยโรคอื่น
- ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนดแนวปฎิบัติเรื่องการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และโดยเฉพาะการให้แนวปฎิบัติว่าแพทย์ที่ให้บริการเรื่องยุติการตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวชเท่านั้น เพื่อเป็นการ
- ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารสุขทุกแผนก รับทราบว่ากฎหมายแก้ไขแล้ว โรงพยาบาลมีหน้าที่ต้องให้บริการ หรือส่งต่อแบบติดตามดูแลจนจบกระบวนการ
3.ลดอคติของบุคลากรทางการแพทย์
- ต้องกำหนดงบประมาณอย่างจริงจังในการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริงเรื่องความปลอดภัย ความจำเป็น เรื่องการทำแท้งปลอดภัย
- จริงจังต่อการเพิ่มหลักสูตรเรื่องการทำแท้งปลอดภัยในหลักสูตรนักศึกษาแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นจริง และทัศนคติเชิงบวกต่อการยุติการตั้งครรภ์
- จัดประชุมวิชาการเพื่ออัพเดทข้อมูลสำหรับบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ
4.สร้างความเข้าใจในสังคมทั่วไป ว่า
- การทำแท้งเป็นบริการสุขภาพที่จำเป็นที่รัฐต้องจัดให้มีบริการ เข้าถึงได้ง่าย ปลอดภัย และเป็นเรื่องสิทธิของผู้รับบริการ
- ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานบริการที่มีอยู่ รวมถึงสิทธิในการเข้ารับบริการ
- องค์การอนามัยโลกรับรองว่า การทำแท้งมีความปลอดภัยสูงเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ยาเองที่บ้านได้ภายใต้ความดูแลโดยแพทย์ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขไทยควรรับรองและผลักดันนโยบาย Telemedecine เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการในพื้นที่ห่างไกลหรือไม่สามารถเดินทางไปรับบริการที่สถานพยาบาล สามารถเข้าถึงบริการส่งยาทางไปรษณีย์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่มาก
5.สนับสนุน และส่งเสริมบริการยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล หรือโทรเวชกรรม (telemedicine) เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือคลินิกซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ
6.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่ยังคงมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ เพราะสิทธิในการทำแท้งปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชน และบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่ทุกรัฐจะต้องจัดให้มีบริการ
ด้านธัญวัจน์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการยุติการตั้งครรภ์วันนี้ที่ยังไม่ปลอดภัย เพราะประเทศไทยนั้นยังไม่ก้าวเข้าสู่คำว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง 1. การปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย และไม่ส่งต่อสถานพยาบาล 2. กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อผู้หญิงที่เข้ารับการบริการ 3. การขาดระบบกำกับดูแลควบคุมมาตรฐานเรื่องการส่งต่อผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย 4. สถานบริการที่ยังไม่ครอบคลุม และมีเพียงแค่ 47 จังหวัด
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารว่า วันนี้เรามีผู้หญิงที่ต้องการความปลอดภัย แต่การสื่อสารของเรายังไม่มีความปลอดภัย เรายังมีการสื่อสารที่กีดกันผู้หญิงบางกลุ่มให้ไปสู่การทำแท้งที่อันตราย เราอยากจะผลักดันเรื่องนี้ และร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง ว่านี่คือสิทธิของผู้หญิงที่จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ และถือเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนสมควรได้รับ”
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ขณะที่ กัลยพัชร สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ดูแลด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ประเด็นนี้เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญแล้ว ตนเองจะรับเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมาธิการสามัญสาธารณสุข โดยปัญหาในปัจจุบันหลังจากการทำแท้งถูกกฎหมายได้ผ่านกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริง เนื่องจากแพทย์หลายคนยังไม่สบายใจที่จะทำแท้งให้ เนื่องจากเหตุผล ทั้งทางด้านศีลธรรมและอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นสิทธิของแพทย์เช่นกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการให้ผู้ประสงค์จะทำแท้งถูกกฎหมายกับแพทย์ที่สมัครใจจะทำแท้งได้พบเจอกัน จะดีกว่าการปฏิเสธการทำแท้งให้ แล้วผู้หญิงเหล่านั้น ต้องไปพึ่งบริการทำแท้งเถื่อน ซึ่งมีความเสี่ยงมากมาย ทั้งการติดเชื้อ หรือมดลูกทะลุ โดยหากแพทย์ไม่สมัครใจที่จะทำด้วยตนเอง ก็ควรสามารถส่งต่อหรือส่งต่อคนไข้ต่อได้
ทั้งนี้ทุกวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี นานาชาติกำหนดให้เป็นวันยุติการตั้งครรภ์สากล (International Safe Abortion Day) คำขวัญในปีนี้คือ Diverse Actions, Different Places, One Demand: Access to Safe & Legal Abortion NOW ! (ร่วมรณรงค์ที่หลากหลาย ในประเทศที่ต่างกัน ภายใต้เป้าประสงค์เดียว: เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ทันที!) โดยในปี 66 ประเทศไทยจัดเป็นครั้งที่ 10 ในหัวข้อ Road map to safe and legal abortion หรือ “เส้นทางสู่การทำแท้งที่ปลอดภัย ไร้กังวล และไม่ตีตรา” ในวันศุกร์ที่ 22 ก.ย.66
และนิทรรศการเรื่องทำแท้ง #BangkokAbortion2023 “ทำแท้งในแสงสว่าง” นำเสนอเรื่องราวทำแท้งทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การให้บริการ และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ เทคโนโลยีทางการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ความเชื่อเกี่ยวกับการทำแท้เพื่อยืนยันว่าเรื่องทำแท้งเป็นสิทธิสุขภาพที่พูดได้ไม่ต้องอาย ในวันที่ 30 ก.ย.66