เด็กไทย 1 ใน 10 คน เคยถูกล่วงละเมิด แสวงประโยชน์ทางเพศในออนไลน์

ผุด #สงสัยไว้ก่อน รณรงค์คิดซักนิดก่อนโพสต์ เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หวังภาครัฐผลักดันเชิงนโยบายออกกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น ยกประเด็นการคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย เปิดตัว แคมเพนรณรงค์ #สงสัยไว้ก่อน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จัก “คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน” ก่อนจะโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวบนพื้นที่ออนไลน์ โดยแคมเพนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ หลังจากที่รายงานการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เด็กในประเทศไทยจำนวนมากกำลังตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

จากรายงาน หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand Report)  ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่าในปี 2564 มีเด็กไทยอายุ 12-17 ปี กว่า 400,000 คน  หรือเกือบ 1 ใน 10 คน เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และรูปแบบการล่วงละเมิดที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ การที่ภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเด็กถูกนำไปเผยแพร่ส่งต่อโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม และมีการแบล็กเมล หรือข่มขู่ให้เด็กมีสัมพันธ์ทางเพศ 

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า แคมเพนนี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาการขู่กรรโชกทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งทุกคนมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน พม. มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันยังมีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการด้านการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการตอบสนองต่อรายงานการล่วงละเมิดและละเลยเด็ก เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนจะสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทันท่วงที

แคมเพน #สงสัยไว้ก่อน เปิดตัวด้วยคลิปวิดีโอความยาว 1 นาที ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้มิตรภาพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะน่าตื่นเต้น แต่ก็อาจมาพร้อมความเสี่ยงและอันตรายได้เช่นกัน 

“อาชญากรรมแบบต่าง ๆ ที่เรายกมาพูดถึงในแคมเพนนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกวันในประเทศไทย ทั้งกับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่ปัญหานี้มักไม่ถูกรายงาน เนื่องจากเด็ก ๆ มักกลัวเกินกว่าที่จะเล่าปัญหานี้ให้ใครฟัง” 

คยองซอน คิม

คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนต้องทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากประสบการณ์เลวร้ายนี้ หน่วยงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เริ่มต้นได้จากการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจถึงความเสี่ยงและมีความระแวดระวังในการส่งต่อข้อมูลหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ รวมถึงมีทักษะในการหลบเลี่ยงหรือตอบสนองเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงหรือตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ต่าง ๆ 

นอกจากคลิปวิดีโอเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องภัยออนไลน์แล้ว แคมเพนนี้ยังให้ความรู้และเคล็ดลับต่าง ๆ แก่เด็กและผู้ปกครอง เพื่อที่จะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ แคมเพนนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ และสนับสนุนให้เด็ก ๆ ขอความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงหรือเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

รายงาน หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย พบว่า เด็กที่เป็นผู้เสียหายเหตุการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์จำนวนมากไม่ทราบว่าจะต้องแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน โดยมีเด็กผู้ประสบเหตุเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่ไปแจ้งตำรวจ เด็กหลายคนโทษตัวเองและคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง รายงานฉบับนี้ยังพบอีกว่าในหลายกรณี ผู้ก่อเหตุมักเป็นคนที่เด็กรู้จักอยู่แล้ว   

รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย กล่าวเสริมว่า หากส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Literacy) และทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence) ให้แก่เด็กและเยาวชนจะสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ และเข้าใจถึงผลกระทบจากพฤติกรรมออนไลน์ของพวกเขาได้ เครือข่ายฯ หวังว่าแคมเปญนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันเชิงนโยบายให้มีการออกกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือปัญหาภัยออนไลน์ที่กำลังขยายวงกว้างขึ้น

นวลพรรณ ล่ำซำ ทูตองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้แสดงการสนับสนุนแคมเพนนี้อย่างเต็มที่ และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ร่วมมือกันเพื่อคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ 

“ภัยออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา เราต้องคิดไว้เสมอว่าเด็ก ๆ กำลังเผชิญหน้ากับอาชญากรมืออาชีพ ซึ่งมีประสบการณ์สูงในการล่อลวงเด็ก ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาทักษะและความรู้ของทุกฝ่าย รวมทั้งตัวเด็กเองด้วย เพื่อคุ้มครองพวกเขาจากภัยต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง และยกให้ประเด็นการคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของทุกคน” 

นวลพรรณ ล่ำซำ

ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยเป็นโครงสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและรับมือกับความเสี่ยงและภัยออนไลน์ต่าง ๆ เครือข่ายฯ นี้นำโดยกระทรวง พม. มีสมาชิกจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตัวแทนเด็กและเยาวชน องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงยูนิเซฟ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย รัฐบาลไทยยังได้กำหนดให้วันอังคารที่สองของเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ซึ่งตรงกับวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากลด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active