‘สมศักดิ์’ ชี้ ช่วยผู้รอรับบริการ 2 หมื่นคน เข้าถึงยาอย่างปลอดภัย เท่าเทียม ด้าน สปสช.เปิดแสดงความคิดเห็น หลังไฟเขียวให้บริการในสิทธิบัตรทอง
ภายหลังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไฟเขียวให้ บริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง พร้อมอนุมัติงบปี 2568 กว่า 145 ล้านบาท หนุนบริการและจัดหายาจำเป็น 6 รายการ มุ่งสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคทางเพศ โดยมีมติเมื่อวันที่ 7 ก.ค.68
The Active สำรวจความคิดเห็นในกลุ่มคนข้าม พบว่า หลายคนแสดงความชื่นชม พร้อมขอบคุณบอร์ด สปสช.ที่มองเห็นความสำคัญในการเข้าถึงฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ และมีทัศนคติที่มองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชากรไทยทุกคนควรได้รับ เช่น
“รู้สึกดีใจ เพราะรอคอยมานานมาก ๆ สำหรับการสนับสนุนบุคคลข้ามเพศ เพราะสำหรับประชากรไทยเพศชาย เพศหญิงมีการสนับสนุนตั้งแต่ท้องจนถึงการคลอดฟรี แต่สำหรับผู้หญิงข้ามเพศมีนโยบายน้อยมากที่จะเข้ามาสนับสนุน”
จีจี้ มาการีต้า
“ในที่สุดการเข้าถึงฮอร์โมนเพื่อยืนยันเพศ ก็ถูกมองมากกว่าการเป็นเรื่องสวยงาม ซึ่งการบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในสิทธิบัตรทอง สะท้อนระบบวิธีคิดใหม่ของรัฐที่มองว่ามันเป็นความสำคัญ และจำเป็นในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพื่อการยืนยันเพศที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์”
นุ๊ก อาทิตยา
“คิดว่าดีในเรื่องช่วยลดค่าใช้จ่าย เพราะกลุ่มคนข้ามเพศมีทั้งคนชายขอบ คนที่ไม่ได้มีฐานะทางการเงิน และถ้าอยู่ในระบบสาธารณสุขก็จะมีการใส่ใจเรื่องการตรวจสุขภาพ หรือบริการหลังจากรับฮอร์โมนไปแล้ว”
แพทริค พริษฐ์
“เวลาจ่ายต่อครั้งอาจจะดูเหมือนน้อย แต่เราใช้ฮอร์โมนตลอดชีวิตซึ่งค่าใช้จ่ายของแต่ละคน กำลังจ่ายไม่เหมือนกัน เราอาจจะต้องอดข้าวให้ได้มาเพื่อสิ่งนี้ ดังนั้นนี่เป็นตัวเลือก เช่น ถ้าคุณมีเงินอยากได้บริการที่ดีคุณก็ไปเอกชน แต่สำหรับคนที่เข้าไม่ถึงก็ยังมีภาครัฐที่สนับสนุน”
เค้ก อรวรรณ
“ดีใจกับน้อง ๆ คนข้ามเพศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ที่ทาง สปสช.เล็งเห็นถึงความสำคัญแล้วว่า การใช้ฮอร์โมนในการข้ามเพศเป็นสิ่งจำเป็น และควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ”
จูน ธนาภัทท์
ทั้งนี้ยังมีผู้ที่แสดงความกังวล และอยากเห็นภาครัฐเตรียมพร้อมภายหลังอนุมัติชุดสิทธิประโยชน์บริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ เช่น การให้ข้อมูลทางการแพทย์ และสถานที่ให้บริการจากหน่วยงานรัฐเพื่อการเข้าถึงบริการที่ถูกต้อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือด หรือดูแลเฉพาะกลุ่มคนข้าเพศ การสื่อการกับบุคลากรทางแพทย์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการฮอร์โมนเพื่อยืนยันเพศอย่างถูกต้อง การกระจายฮอร์โมนที่ได้ไปสู่ส่วนภูมิภาคอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และการให้บริการที่ไม่ยึดโยงกับระบบ 2 เพศ เพราะในสังคมมีหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ
ผศ.รณภูมิ สามัคคีคมรมย์ รองคณบดีคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในฐานะประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกว่า แต่ละปีมีคนข้ามเพศ ได้รับการศัลยกรรมเปลี่ยนเพศไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่จากข่าว มีถึง 10 เคสต่อปี มีที่ติดเชื้อจากกการผ่าตัด รูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนไป อวัยวะเปลี่ยนรูป ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลให้คู่รักรังเกียจ หรือทอดทิ้ง ยังไม่นับค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่ามหาศาล ในการเปลี่ยน ชายเป็นหญิง มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท และหญิงเป็นชาย มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาท เนื่องจากกระบวนการมีความซับซ้อนมากกว่า
การข้ามเพศ การเปลี่ยนเพศ ที่ผ่านมามีมายาคติว่าอยากสวยอยากงามเท่านั้น แต่จริง ๆ การเปลี่ยนเพศ ด้วยสารเคมี ฮอร์โมน หรือใช้เครื่องมือแพทย์ทำอะไรกับเนื้อตัวร่างกาย คือ การยืนยัน การใช้ชีวิต และต้องการความปลอดภัย จึงต้องอยู่ในมือแพทย์ เพราะมิเช่นนั้นคนเหล่านี้จะก้าวเข้าสู่บริการทางแพทย์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน หมอกระเป๋า การซื้อฮอร์โมนกินเอง เสี่ยงได้รับอันตราย
สปสช.เปิดให้ประชาชนเสนอความเห็น ก่อนบริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ เว็บไซต์ สปสช. เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอ คำแนะนำ ต่อร่างประกาศ สปสช. การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 21 ก.ค. 68

ขณะที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. บอกว่า การอนุมัติสิทธิประโยชน์นี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และทำให้ทุกคนในสังคมไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและมีศักดิ์ศรี โดยเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิที่พึงมี นอกจากนี้ยังเป็นไปตามมติบอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2566 ที่เห็นชอบให้บริการสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง โดยใช้งบประมาณบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ปีงบประมาณ 2568 ดำเนินการ
ทั้งนี้ การตัดสินใจของบอร์ด สปสช. ในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงบริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของแพทยสภา พ.ศ. 2567 และลดความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมนอย่างผิดวิธี
“มติของบอร์ด สปสช. ในครั้งนี้ เป็นผลสำเร็จจากการผลักดันของหลายภาคส่วน และเป็นการตอบสนองต่อนโยบายระดับประเทศที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการครอบคลุมการดูแลสุขภาพที่จำเป็นให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากมติดังกล่าว ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้มีมติสำคัญ ดังนี้
- เห็นชอบ ให้บริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ เป็นสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยทุกคนทุกสิทธิที่เป็นบุคคลข้ามเพศหรือและผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จำเป็นต้องได้รับบริการ จำนวน 20,000 คน
- เห็นชอบ การเพิ่มรายการยาฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง 6 รายการ ในแผนการจัดหายาฯ ตามโครงการพิเศษ ภายใต้วงเงินงบประมาณปี 2568 ไม่เกิน 145.625 ล้านบาท ประกอบด้วย ยาฉีดลิวโพรเรลลิน (leuprorelin) หรือ ยาฉีดทริปโทเรลลิน (triptorelin), ยาเม็ดเอสตร้าดิออล (17 beta-estradiol), ยาทาเอสตร้าดิออล (0.06% estradiol transdermal), ยาฉีดเทสโทสเตอโรน (testosterone enanthate), ยาเม็ดไซโปรเทอโรนแอสิเตรต (cyproterone acetate) และยาเม็ดสไปโรโนแลคโตน (spironolactone)
- มอบให้ สปสช. ดำเนินการให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ” สามารถขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสำหรับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งเตรียมระบบรองรับและจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
- มอบ สปสช. ส่งรายการยาที่ใช้เพื่อบริการกลุ่มประชากรข้ามเพศ ที่อยู่ในแนวเวชปฏิบัติ (CPG) ของสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลาย (Thai-PATH) แต่ยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (anti-androgens), Estradiol hemihydrate tablet, ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone undecanoate ชนิดฉีด) ให้คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อพิจารณานำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
สำหรับขั้นตอนการรับบริการ จะครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาและประเมินสุขภาพ การตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน การสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ ไปจนถึงการนัดหมายติดตามผล ซึ่งสามารถให้บริการผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้รับบริการจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย