สร้างความเข้มแข็งให้บุคคลเพศหลากหลาย ได้สิทธิเท่าคู่สมรสชาย-หญิง ด้าน ภาค ปชช. จัดเวทีเข้าสู่โค้งสุดท้ายเย็นนี้
วันนี้ (19 ธ.ค.66) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ และผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลยุติธรรม หลังจากนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมายเพื่อความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำให้บุคคลเพศเดียวกันหมั้น สมรส มีสิทธิหน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ คาดว่ากฎหมายนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 ธ.ค. 66
“มั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะทำให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือ LGBTQ+ สามารถสมรสกันได้ และมีสถานะเท่าเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิง สร้างความเข้มแข็งในความหลากหลายทางเพศ จึงขอแสดงความยินดีกับทุกฝ่ายด้วย”
ขณะที่ก่อนการประชุม ครม. ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย อรรณว์ ชุมาพร ผู้ยื่นเสนอร่างฯ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ…หรือ สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน เข้าพบ นายกรัฐมนตรี เพื่อติดเข็มกลัดสีรุ้งและประชาสัมพันธ์งานเสวนา “สานฝันสมรสเท่าเทียม: รวมพลังสู่การเปลี่ยนแปลงในสภา” แสดงวิสัยทัศน์และให้ความเห็นเกี่ยวกับการผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค. 66 เวลา 16.00 – 19.00 น. ณ ลานกิจกรรมด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (แยกปทุมวัน)
ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาจจะมีการเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.66) ซึ่งในการพิจารณาที่จะเกิดขึ้น มี 3 ร่างหลัก คือร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของภาคประชาชนกว่าหมื่นรายชื่อ และร่างของพรรคก้าวไกล ทั้งสามร่างมีหลักการเดียวกันคือการสมรสที่มีความเท่าเทียม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เปลี่ยนจากการสมรสระหว่างชาย-หญิง เป็นการสมรสระหว่างบุคคล 2 คน อาจจะมีส่วนแตกต่างกันบ้าง เช่น เรื่องอายุสมรส เรื่องการเว้นระยะเวลาของผู้หญิงในกรณีหย่าจากคู่สมรสที่เป็นหญิงด้วยกัน เรื่องบุพการี และขอบเขตความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถหาความเห็นร่วมกันในขั้นคณะกรรมาธิการได้